ต่างประเทศ : TikTok เครื่องมือจารกรรมข้อมูล หรือเหยื่อความขัดแย้ง

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงคุกรุ่น เราเคยได้เห็นบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน อย่าง “หัวเว่ย” ตกอยู่ใจกลางสนามรบแห่งความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย

ทั้งการถูกสหรัฐแบนสินค้าโทรคมนาคมของหัวเว่ย โดยเฉพาะอุปกรณ์สำหรับเครือข่าย 5 จี ระบบสื่อสารยุคใหม่ที่หัวเว่ยเป็นผู้นำในตลาด ด้วยข้อกล่าวหาว่าหัวเว่ยร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการจารกรรมข้อมูลของสหรัฐอเมริกา

ลุกลามไปจนถึงการที่สหรัฐล็อบบี้ให้ชาติพันธมิตรแบนสินค้าสำหรับโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย 5 จี ของหัวเว่ยไปด้วย

ขณะที่นางเมิ่ง หวั่น โจว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของหัวเว่ย ลูกสาวแท้ๆ ของผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย ถูกทางการแคนาดาจับกุมตามคำร้องขอของสหรัฐ

ไม่ว่าทั้งสองกรณีจะมีมูลข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สหรัฐจะถูกมองว่าใช้หัวเว่ยเป็นตัวประกันในความขัดแย้งระหว่างสองขั้วอำนาจของโลกในเวลานี้

ล่าสุดแอพพลิเคชั่นที่กำลังเติบโตและโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ อย่าง TikTok แอพพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์แบบวิดีโอสั้นๆ ที่มีเจ้าของเป็นบริษัทสตาร์ตอัพจากประเทศจีน ก็ถูกมองเช่นกันว่าอาจกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันในฐานะเหยื่อท่ามกลางความขัดแย้งหรือไม่

 

แอพพลิเคชั่น TikTok เป็นแอพพลิเคชั่นที่มีทั้งในระบบปฏิบัติการไอโอเอสของแอปเปิลและแอนดรอยด์ ของกูเกิล เป็นแอพพลิเคชั่น “สตรีมมิ่งวิดีโอ” แบบสั้น ที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างมิวสิกวิดีโอ ใส่เอฟเฟ็กต์ต่างๆ ผ่านแอพพ์ให้ดูน่าสนใจและสนุกสนานด้วยคำขวัญ “Make every second count” หรือ “ทำให้ทุกวินาทีมีคุณค่า”

TikTok แอพพลิเคชั่นที่ปล่อยให้ดาวน์โหลดนอกจีน ขณะที่ชาวจีนจะสามารถดาวน์โหลดแอพพ์กันในประเทศในชื่อ “โต่วยิน” นั้นเป็นของบริษัท ByteDance บริษัทสตาร์ตอัพชื่อดังของประเทศจีน

ในปี 2017 ByteDance ซื้อกิจการของแอพพลิเคชั่นลิปซิงต์ชื่อดังที่มีชื่อว่า Musical.ly ด้วยมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะนำฟังก์ชั่นของโต่วยินมารวมกับ Musical.ly กำเนิดเป็น TikTok ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกในเวลานี้

TikTok เคยทำสถิติเป็นแอพพ์ที่มียอดดาวน์โหลดสูงที่สุดในสหรัฐ และเป็นอันดับที่ 4 ของโลก เมื่อปี 2018 ก่อนที่จะได้รับความนิยมไปทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

TikTok มียอดดาวน์โหลดในช่วงเวลานั้นถึง 315 ล้านครั้ง นับเป็นยอดดาวน์โหลดในไตรมาสเดียวที่สูงที่สุดเหนือทุกแอพพลิเคชั่นเท่าที่เคยมีมา

ล่าสุด TikTok มียอดดาวน์โหลดรวมสูงกว่า 2 พันล้านครั้งแล้ว สูงกว่ายอดดาวน์โหลดในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ราว 700 ล้านครั้ง กว่า 2 เท่าเลยทีเดียว

 

TikTok ที่ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของเฟซบุ๊ก ด้วยการเติบโตแบบก้าวกระโดด ก็เริ่มถูกโจมตีในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ซึ่งปัญหาหลายๆ อย่าง TikTok ก็ได้ชี้แจงและแก้ไขมาโดยตลอด

แต่เรื่องที่ถูกโจมตีมากที่สุดและทำให้ TikTok ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างคู่ขัดแย้งของรัฐบาลจีน นั่นก็คือ การเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีเจ้าของเป็นบริษัทในประเทศจีนนั่นเอง

ล่าสุด ไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาที่จะแบนสื่อสังคมออนไลน์จากจีนหลายแอพพ์ด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือแอพพ์ TikTok

นอกจากนี้ ปอมเปโอยังขู่ว่า ใครต้องการจะให้ข้อมูลส่วนตัวของตนเองตกไปอยู่ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้วละก็ ควรดาวน์โหลดแอพพ์ TikTok มาซะ

กระแสข่าวดังกล่าวทำให้โฆษกของ TikTok ประจำสหรัฐอเมริกาออกมาชี้แจงอย่างรวดเร็วโดยระบุว่า TikTok นั้นมีซีอีโอเป็นชาวอเมริกัน มีพนักงานหลายร้อยคนในสหรัฐอเมริกา ในจำนวนนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปลอดภัย ความมั่นคง ผลิตภัณฑ์ และนโยบายสาธารณะ

“เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นมากไปกว่าการสนับสนุนประสบการณ์ที่มั่นคงและปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน เราไม่เคยส่งมอบข้อมูลผู้ใช้งานให้กับรัฐบาลจีน และเราจะไม่ทำแม้จะถูกร้องขอมาก็ตาม”

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ TikTok เคยออกมาชี้แจงด้วยว่า TikTok บริหารงานแยกส่วนจาก ByteDance ขณะที่ข้อมูลของผู้ใช้งานนั้นก็ถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ที่สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ พร้อมกับระบุว่า ข้อกล่าวหาเรื่องความมั่นคงนั้นเป็นการกล่าวหาที่ “ไร้หลักฐาน”

นอกจากในสหรัฐแล้ว TikTok ยังต้องเผชิญข้อกล่าวหาเดียวกันนี้ในประเทศออสเตรเลีย รวมไปถึงประเทศอินเดียด้วย

จากการเปิดเผยของสมาชิกรัฐสภาออสเตรเลีย ระบุว่า TikTok นั้นเป็น “อสุรกายตัวเดิมที่แต่งองค์ทรงเครื่องมาใหม่” และกล่าวหาว่า TikTok เป็นเครื่องมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการเก็บข้อมูลของชาวออสเตรเลีย และมีการส่งข้อมูลสู่เซิร์ฟเวอร์ในประเทศจีนด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้มีการเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภาเรื่อง “การแทรกแซงจากต่างชาติผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย”

แน่นอนว่าผู้จัดการทั่วไปของ TikTok ออสเตรเลีย ก็ออกมาชี้แจงเช่นเดิมว่า TikTok ไม่ได้ส่งข้อมูลให้รัฐบาลต่างชาติใดๆ และยืนยันว่า TikTok พร้อมที่จะพบกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐเพื่อชี้แจงขั้นตอนและมาตรการรักษาความปลอดภัยของแอพพ์อย่างเต็มที่

 

ในอินเดีย TikTok ก็ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเช่นกัน เมื่อรัฐบาลอินเดียที่มีข้อพิพาทบริเวณชายแดนกับจีน จนเกิดปะทะกันจนทหารเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย ก็ประกาศจะแบนแอพพลิเคชั่น TikTok รวมไปถึงแอพพลิเคชั่นอื่นๆ จากประเทศจีนด้วย โดยให้เหตุผลว่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ

สถานการณ์ของ TikTok เวลานี้ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งมากกว่าการเป็นเครื่องมือจารกรรมข้อมูลของรัฐบาลจีน

เมื่อเหตุผลสนับสนุนข้อกล่าวหาของทั้งรัฐบาลสหรัฐ ออสเตรเลีย รวมถึงอินเดียนั้น มีเพียงแค่การเป็น “แอพพลิเคชั่นจากประเทศจีน” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาดูต่อไปว่าจะมีเหตุผลที่หนักแน่นที่ทำให้เชื่อว่า TikTok อาจกำลังเก็บข้อมูลในแต่ละประเทศอย่างลับๆ เพื่อส่งให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนจริงๆ หรือไม่