จินตนาการสังคมไทยที่อยากจะเห็น ทางออกควรจะเป็นอย่างไร ? | เสวนา 80 ปี “นิธิ”

สภาวะ-สภาพสังคมที่เราเจอในสถานการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ดูเหมือนว่าเราจะไม่มีความหวังใดๆต่อไปจากนี้ การจัดงานเสวนาที่เชิญกูรูทั้ง3ท่านนี้มามองสังคม ในมิติต่างๆผ่านประสบการณ์และสายตาของผู้ที่เฝ้ามองสังคมและมีความคิดเห็นที่น่าสนใจหลายต่อหลายครั้ง จึงจำเป็นอย่างยิ่ง่ที่ทีมผู้จัดงาน ต้องการบรรจุ “คำถาม” ที่เป็นเสมือน “ภาพจินตนาการ” และ “ทางออก” ที่ควรจะเป็นของสังคมนี้ จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านกวาดสายตา มองข้อเสนอเหล่านี้แล้วจินตนาการสังคมไปพร้อมๆกัน

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ไม่ได้จินตนาการสังคมอะไรที่เป็นพระศรีอาริย์ เลิศเลอ แค่เรามีประชาธิปไตยแบบตะวันตกในแง่ที่มีกฎเกณฑ์กติกาและองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่รักษากฎกติกาเหล่านี้ ทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่บิดเบือน ไม่ตีความกฎหมายเข้าข้างพวกตัวเองหรือทำลายฝ่ายตรงข้าม แล้วละเมิดหลักการของกฎหมายทุกอย่างที่กำหนดเอาไว้

เราควรเป็นสังคมที่หน่วยงานต่างๆ สามารถที่จะคัดง้าง ถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกันได้

ควรเป็นสังคมที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฆ่าคนแล้วต้องถูกดำเนินคดี ผู้มีอำนาจใช้อำนาจแล้วก็ต้องถูกดำเนินการภายใต้กฎ

ไม่ใช่ว่าเมื่อคุณฆ่าคนแล้วคุณจะสามารถลอยนวลพ้นผิดได้ เพราะคุณเชื่อว่ากลไกของอำนาจรัฐทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่ มันจะช่วยปกป้องและเข้าข้างคุณ

ที่สำคัญไม่ต้องใช้ความสามารถพิเศษในความยิ่งใหญ่ใน “ความเป็นไทย” ในการเคลียร์อะไรแบบนี้ ความเป็นไทยอย่างที่เราเคยชินมา ให้ความสำคัญกับระบบพวกพ้องเครือข่ายและระบบการยกเว้น สภาวะยกเว้นที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นภาวะปกติ

ดิฉันอยากเห็นระบบที่มันไม่จำเป็นจะต้องเพอร์เฟ็กต์ ไม่ได้ฝันถึงขนาดนั้นว่าต้องปลอดคอร์รัปชั่น แต่มันควรจะต้องมีระบบจัดการได้อย่างเด็ดขาดและเป็นบทเรียนที่จะทำให้คนอื่นๆ นั้นไม่กล้าที่จะทำแบบเดิม แต่สังคมไทยในขณะนี้มันไม่ใช่ทุกอย่าง มันกลายเป็นว่าเปลือยเปล่า มันโกงกันด้านๆ มันโกหกกันหน้าด้านๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าพวกฉันคุมอำนาจไว้ทุกอย่างได้

อยากให้เป็นสังคมที่ระบบมันเดินไปได้ ซึ่งทุกวันนี้โลกของเรามันซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่สังคมไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราพูดกันในเรื่องที่มันโคตรจะพื้นฐาน เช่น คนควรเท่ากันหรือเปล่า มีเลือกตั้งดีหรือไม่มี มันเป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าควรข้ามพ้นไปได้แล้ว

สภาวะแบบนี้ทำให้เราไม่สามารถพูดถึงอะไรที่มันซับซ้อน ว่าเราจะจัดการยังไงกับภาวะ อัตลักษณ์ พูดเรื่องคนซึมเศร้า เรื่อง lgbt รู้สึกว่าสังคมไทยมันไปไม่ได้ มันอยู่กับที่ แถมมันยังถอยหลังอีก

ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะก้าวหน้า

“รัฐธรรมนูญ” คือเรื่องที่สำคัญที่สุด ฉันทามติครั้งสุดท้ายที่มีร่วมกันของประเทศไทย คือรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เกิดการตกลงกันว่าจะไม่เอาแล้วกับการที่ให้ทหาร-กองทัพเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ต้องการให้มีรัฐบาลมีเสถียรภาพ ไม่ใช่เข้ามาแล้วลาออกหรือยุบสภาหรือเปลี่ยนรัฐบาล แล้วส่งมอบนโยบายอะไรไม่ได้

แต่ปรากฏว่าพอใช้ไปสักระยะหนึ่ง มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง มีความรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้มีการไปครอบงำวุฒิสภา ครอบงำองค์กรอิสระจนทำให้การเมืองเสียดุลยภาพ แล้วก็เลือกใช้วิธีที่ผิดคือการตัดสินใจสนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อ Reflection การเมืองก่อนหน้านั้น โดยออกแบบฉบับปี 2550 เพื่อมาจัดกลุ่มการเมืองที่ชนะเลือกตั้งตลอดเวลา

แต่พอทำแล้วปรากฏว่าไม่สำเร็จ จึงมีรัฐประหารซ่อมในปี 2557 แล้วออกแบบให้เป็นแบบฉบับปี 2560 โดยสรุปก็คือ รัฐธรรมนูญไทย 4 ฉบับหลัง 2549, 2550, 2557, 2560 ผมขอใช้คำว่าเป็นฉบับแก้แค้นเอาคืน

เป็นรัฐธรรมนูญที่กินรวบทั้งกระดาน พูดง่ายๆ ใครชนะใครเป็นเจ้าของอำนาจจะออกแบบกติกาให้ตัวเองได้เปรียบตลอดเวลาและจะอยู่ในอำนาจตลอด โดยไม่คิดถึงว่าวันหนึ่งตัวเองจะเป็นผู้แพ้แล้วจะอยู่อย่างไร คุมทุกอย่างไว้หมด

โดยเฉพาะฉบับ 2560 ที่แย่กว่านั้นก็คือออกแบบมาแล้วไม่ให้คนอื่นแก้ด้วย

ดังนั้น ในช่วงเวลานี้สำคัญคือว่าจะต้องกลับมาหา “ฉันทามติแบบใหม่” ให้ได้ ผมคิดว่าพื้นฐานที่สำคัญก็คือ ต้องยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนซึ่งเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

ประการต่อมา คือต้องมีการประกันสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงออกเพราะมันแสดงถึงว่าเวลาเราแสดงออกบางอย่างไปแล้วตัดสินใจอะไรบางอย่างไป มีคนเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่ชนะ ก็สามารถแสดงออกต่อไปเพื่อจะเปลี่ยนใจคนให้คนมาฝ่ายตัวเองขึ้นเป็นเสียงข้างมากบ้างในอนาคต

ฉะนั้น การประกันเสรีภาพในการแสดงออกนั่นคือการประกันว่าทุกๆ การตัดสินใจของประชาชนมีผิดพลาดแต่มีโอกาสเปลี่ยนแปลง ให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกคนได้รับการประกันในการแสดงออก แล้วแต่ละฝ่ายก็จะอดทนอดกลั้น

อย่าทำให้สถานการณ์เข้าสู่เดดล็อก เป็นระเบิดเวลาที่รอระเบิดอย่างเดียว

ศ.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

ทางออกคือต้องปฏิรูปจากเบื้องล่าง เพิ่มอำนาจต่อรอง ช่วงชิงอำนาจนำ รอรัฐล้มเหลว คือการปฏิรูปมันเหมือนปรบมือข้างเดียวมันไม่ดัง คุณปฏิรูปไม่ได้หรอก ถ้าชนชั้นนำไม่ร่วมมือกับคุณ และผมคิดว่าเท่าที่เราเห็นมา อีลีตชุดนี้ไม่ปฏิรูป ตัวเลือกมันเลยเหลือน้อย

เมื่อเขาไม่ยอมปฏิรูปและตัวเลือกเหลือน้อย ผมคิดว่าต้องปฏิรูปจากเบื้องล่าง ก่อนจะไปถึงจุดนั้นผมคิดถึงสิ่งที่อาจารย์พวงทองพูดว่าไม่คาดหวังมาก อยากจะมีรัฐทันสมัย ผมว่าอันนี้แหละที่เขากลัว

อยากให้จินตนาการอย่างนี้นะว่า หากอยากได้รัฐทันสมัยที่เรียกว่ารัฐเสรีนิยมประชาธิปไตย คุณต้องลดทุกอย่างในแผ่นดินนี้ให้เหลือรัฐกับปัจเจก ลดทุกอย่างจนคุณไม่เหลืออะไรเลย คุณไม่เหลือความเหลื่อมล้ำ คุณไม่เหลือพรรคพวก คุณไม่เหลือชุมชน คุณไม่เหลือสิ่งที่ควรจะไปเกาะ จะเป็นนายพลนายพันคุณจะไม่เหลือเลย ทุกคนเป็นปัจเจกบุคคลเหมือนกันหมด

นี่คือการสร้างเสรีประชาธิปไตยแบบปกติที่ตะวันตกทำ มันผ่านกระบวนการที่ทรมานและเจ็บปวด

คือทำให้ทุกคนยอมรับว่าไม่เหลืออะไร เป็นแค่ปัจเจกบุคคลคนเดียวแล้วสัมพันธ์กับรัฐ หลังจากนั้นจึงจะสามารถบังคับใช้อำนาจกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันได้ จึงโคตรน่ากลัวสำหรับพวกเขาว่าถ้าคุณมีอะไรจะต้องเสีย

ดังนั้น อะไรที่เรารู้สึกว่าเขาทำกันทั้งโลก ทำไมมึงไม่ยอมรับ ถ้าจะคิดมุมเขาก็คือรับไม่ได้ ที่จะลงไปเป็นปัจเจกบุคคลเท่ากับนายป๊อก นางพวงทอง นายเกษียร

ในแง่หนึ่งก็น่าเห็นใจนะครับ เพราะเหมือนกับทั้งโลกให้เขามุ่งไปสู่จุดนั้น ต้องทำยังไงได้ ให้หน้าฉากเป็นรัฐสมัยใหม่ดูเหมือนเป็นรัฐตามกฎหมาย ดูเหมือนเป็นรัฐที่ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเป็นปัจเจก

แต่มันไม่ใช่เลย เพราะว่าโคตรจะเป็นพรรคพวก เป็นรัฐที่ถูกชักใยโดยรัฐพันลึกอะไรก็แล้ว แต่นี่แหละคือทุกข์ของเขา ซึ่งผมไปนั่งคิดสักพักดู กูก็เห็นใจมึงเหมือนกัน แต่จะทำยังไงได้ ผมคิดว่าเราคาดหวังการปฏิรูปจากพวกเขาไม่ได้ เพราะเขารู้สึกว่าเขามีของต้องสูญเสียเยอะเกินไปและเขาคิดหมากที่ดีกว่านี้ไม่ออก ที่จะผสมผสานความทันสมัยอย่างอื่นนอกจากยึดติดกับโบราณที่ทำมาแล้วไม่ออก

จากเงื่อนไขแบบนี้ผมเลยคิดว่าปฏิรูปจากเบื้องล่างต้องเพิ่มอำนาจต่อรองของผู้ที่อยู่นอกรัฐ และช่วงชิงอำนาจนำ และผมคิดว่ามีเงื่อนไขที่คุณทำได้เพราะตอนนี้ไม่มีอำนาจนำ ก็คือไม่มีอำนาจ ทุกคนยอมทำตามโดยสมัครใจไม่มี ในประเทศนี้ไม่มี อะไรที่คุณจะให้คนทำตามคุณต้องใช้กำลัง ใช้กฎหมายข่มขู่บังคับเขาทั้งนั้น

อันนี้ต่างจากสภาวะสมัยก่อนซึ่งคนทั้งหลายยอมทำตาม

แล้วทำไมต้องทำแบบนี้ เผื่อมันจะปฏิรูปบ้าง? ก็ในเมื่อมันไม่ปกติคุณก็ต้องทำอย่างนี้แหละแล้วรอรัฐล้มเหลว และผมคิดว่ามันจะล้มเหลว ตัวอย่าง covid-19 นี่เกือบไปแล้ว ปฏิกิริยาผู้นำบอกผมใจต่ำลงแย่ลงทุกวัน แต่ว่าก็พอดีมีกองกำลังหมอมาช่วยไว้ หลังจากนั้นก็พูด-ทำตามหมออย่างเดียว

ผมเชื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้ามันจะล้มเหลว แล้วถึงตอนนั้นอย่างน้อย ประชาชนยังมีอะไรในมือบ้าง

รศ.พวงทองปิดท้ายว่า สิ่งที่ อ.เกษียรพูดก็จะเห็นว่า ในทัศนะเรา ไม่ได้เรียกร้องอะไรที่เป็นการขุดรากถอนโคนเลย อ.ปิยบุตรหรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ก็ยืนยันตลอดเวลาว่าไม่ต้องการจะเปลี่ยนระบอบ ทุกอย่างที่เรียกร้องมันคือระบบที่ควรจะต้องเป็น ซึ่งดิฉันก็เรียกร้องด้วย สิ่งที่เห็นก็คือว่า ช่องว่างของการรับรู้ในการมองปัญหา ในขณะที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเรียกร้องมันคือมาตรฐานที่สังคมอื่นปฏิบัติกันมาเป็นร้อยปีแล้ว แล้วมันก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ

แต่ของเราเนี่ย เขากลับมองพวกเราว่าพวกเราเป็นตัวถ่วง เป็นหัวรุนแรงต้องการขุดรากถอนโคน โดยเฉพาะขุดรากถอนโคน ผลประโยชน์ของพวกเขา

หมายเหตุ – เสวนา 80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ สังคมไทยไปต่ออย่างไร ในความ(ไม่)ใหม่ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่เบรนเวค มติชนอคาเดมี สามารถติดตามชมย้อนหลังได้ทาง Youtube – Facebook มติชนสุดสัปดาห์