ต่างประเทศอินโดจีน : ศก.กัมพูชาหลังโควิด

ไม่ว่าจะวัดกันในระดับภูมิภาคอาเซียน หรือในระดับโลก ต้องถือว่ากัมพูชาประสบความสำเร็จในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง

การันตีด้วยจำนวนผู้ป่วยยืนยันเพียง 126 ราย เกือบทั้งหมดยกเว้น 2 รายสามารถฟื้นฟูหายกลับมาเป็นปกติสุขเรียบร้อยแล้ว

หากคำนึงว่าระบบสาธารณสุขของกัมพูชาไม่ได้แข็งแกร่งกระไร ก็ต้องถือเป็นการรับมือกับโรคระบาดร้ายแรงได้ในระดับน่าทึ่งเลยทีเดียว

ความสำเร็จของกัมพูชาเกิดขึ้นจากการตื่นตัวเร็ว ยุทธศาสตร์รับมือแรกเริ่มถูกต้อง ทั้งการตรวจหาเชื้อและการแกะรอยผู้ที่มีโอกาสสัมผัสโรคจากผู้ติดเชื้อ

ภายใต้คำแนะนำใกล้ชิดขององค์การอนามัยโลก กัมพูชาระงับการให้วีซาต่างชาติ, เข้มงวดกับการเดินทางภายในประเทศ, มีการกลั่นกรองอย่างเข้มข้นบริเวณจุดข้ามแดน, กำกับการกักกันโรคทั้งในสถานที่ที่รัฐจัดหาให้และที่บ้านผู้ต้องสงสัยเข้มงวด รวมถึงการงดงานพิธีที่เป็นการรวมตัวของคนหมู่มาก รวมทั้งเทศกาลขึ้นปีใหม่กัมพูชาเมื่อเมษายนที่ผ่านมา

การตรวจหาเชื้อซึ่งในเวลานี้สูงกว่า 21,700 ครั้งเข้าไปแล้ว บวกกับการสั่งปิดสถานศึกษาทุกระดับ บันเทิงสถานทุกชนิดตั้งแต่กาสิโน, โรงภาพยนตร์, บาร์แล้วก็ไนต์คลับ การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ รวมถึงการกวาดล้าง “เฟกนิวส์” ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 กลายเป็นปัจจัยความสำเร็จของกัมพูชาในที่สุด

ที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ กัมพูชารับมือกับการระบาดครั้งนี้ด้วยเงินกู้จากธนาคารโลก 20 ล้านดอลลาร์ อีกกว่าครึ่งคือ 23 ล้านดอลลาร์ได้จากการบริจาคของข้าราชการและประชาชนในประเทศ นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์จากหลายประเทศ

 

แต่ความสำเร็จในการยับยั้งการระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องหนึ่ง การบริหารจัดการหลังการแพร่ระบาดกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยสิ้นเชิง

ประเด็นที่ทุกคนวิตกกันในเวลานี้ก็คือ ในการเผชิญหน้ากับโควิด-19 เครื่องจักรที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทั้ง 3 ตัวคือ การก่อสร้าง, การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

จำนวนนักท่องเที่ยวในกัมพูชาลดวูบลงสู่ระดับต่ำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเครื่องบินเข้ามาหายไป 90 เปอร์เซ็นต์ และรายได้รายเดือนจากการขายบัตรเข้าชมนครวัดลดวูบลง 99.5 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เผชิญวิกฤตต่อเนื่องกัน 2 รูปแบบ เริ่มจากปัญหาวัตถุดิบเมื่อเกิดดิสรัปชั่นอย่างรุนแรงเพราะโควิดในจีน ต่อด้วยคำสั่งซื้อจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาหายไปเกือบหมด

ผลก็คือโรงงานเสื้อผ้าและสิ่งทออย่างน้อย 180 โรงปิดตัวลงชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้แรงงานสิ่งทอกว่า 150,000 คนขาดรายได้

จีดีพีของกัมพูชา ที่เคยขยายตัวสูงถึง 7.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2019 ถูกประเมินว่าดีที่สุดอาจลดลงเหลือเพียงแค่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ แย่ที่สุดจะขยายตัวเป็นลบ อยู่ที่ระหว่าง -1 เปอร์เซ็นต์ ถึง -2.9 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

 

รัฐบาลเตรียมการเอาไว้ส่วนหนึ่ง ว่ากันว่ากันเงินเอาไว้ระหว่าง 800 ล้าน ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์

วิธีของรัฐบาลกัมพูชาตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งไว้สำหรับแจกจ่ายโดยตรงให้กับผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมบริการ ที่เคยมีรายได้จากการต้อนรับนักท่องเที่ยวก่อนหน้านี้ในอัตราเท่ากับ 20 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงขั้นต่ำ กับอีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับช่วยเหลือแรงงานโรงงานสิ่งทอ ตกหัวละ 70 ดอลลาร์ หรือราว 37 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต่ำ

แล้วก็ภาวนาว่าให้วิกฤตโควิดครั้งนี้จบลงอย่างเร็ว เพื่อให้เงินราว 2,000 บาทเศษต่อเดือนจะช่วยคนเหล่านี้ให้อยู่รอดได้ พร้อมๆ กับรัฐบาล

ไม่เช่นนั้นความสำเร็จจากโควิดที่ผ่านมามีหวังอายุสั้นแน่นอน