สุรชาติ บำรุงสุข | จีน สหรัฐ และโควิด : การแข่งขันที่ไม่มีวันจบ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“สงครามเกิดเมื่อฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับสถานะเชิงอำนาจ (ที่เป็นอยู่) และต่างฝ่ายต่างคิดว่า ตนจะเป็นผู้ชนะ (ในสงคราม) ด้วยความหวังว่า การต่อสู้ (ในสนามรบ) จะดีกว่าการต่อรอง (บนโต๊ะเจรจา)”

Jack Snyder

“Better Now Than Later” (2015)

1)การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่เป็นหัวข้อสำคัญทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติในทุกยุคสมัย

คำถามพื้นฐานในปัจจุบันได้แก่

ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนในการเมืองโลกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้หรือไม่?

หรือการก้าวสู่การเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ของจีนจะต้องเดินไปบนเส้นทางสงคราม เช่นที่รัฐมหาอำนาจใหม่อื่นๆ ได้เคยเดินมาแล้วในอดีตหรือไม่?

2) ในความเป็นจริง เราอาจไม่จำเป็นต้องถกเถียงในทางวิชาการแล้วว่า จีนเป็น “รัฐมหาอำนาจใหญ่” (the great power) หรือไม่

เพราะอย่างน้อยจีนมีคุณสมบัติสำคัญของความเป็นมหาอำนาจ 3 ประการ คือ 1) มีขีดความสามารถทางทหารขนาดใหญ่ (คือมี extensive military capabilities) 2) มีอิทธิพลทางการเมืองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเหนือรัฐอื่น และ 3) รัฐนั้นได้รับการยอมรับจากรัฐอื่นในระบบระหว่างประเทศมีบทบาทพิเศษ (ในฐานะรัฐมหาอำนาจ)

3) การขึ้นสู่อำนาจของจีนในการเมืองโลก (หรือ “The Rise of China”) ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 และชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคหลังสงครามเย็น ที่แต่เดิมนั้นสหรัฐมีสถานะเป็น “รัฐมหาอำนาจเดี่ยว” คือเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่แต่เพียงฝ่ายเดียวในเวทีโลก หรือที่เรียกภาวะเช่นนี้ว่า “โลกแบบขั้วเดียว” (Unilateralism) ในระบบระหว่างประเทศ แต่สภาวะเช่นนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วยการเป็นรัฐมหาอำนาจใหม่ของจีน

4) ดังนั้น ความชัดเจนของปรากฏการณ์สำคัญนี้ ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐคือ “รัฐมหาอำนาจเก่า” (ruling power) ที่มีสถานะเป็นผู้ควบคุมระเบียบระหว่างประเทศ และกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เป็นผลจากการก้าวสู่ความเป็น “รัฐมหาอำนาจใหม่” (rising power)

ผลที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระบบระหว่างประเทศก็คือ สภาวะของ “การแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่” ที่อาจจะต้องถือเสมือนเป็นธรรมชาติของการเมืองโลกที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปกับยุคสมัย

5) ภาวะใหม่เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังก้าวสู่ยุคการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจแบบ “สองค่าย” อีกครั้ง ซึ่งก็คือสภาวะของการเมือง “โลกแบบสองขั้ว” (Bipolar World) เช่นที่เราเคยเห็นในยุคสงครามเย็นมาแล้ว หากมองผ่านประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศแล้ว ความเป็นสองขั้วในการเมืองโลกในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความกังวลทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติว่า ภาวะสองขั้วเช่นนี้จะนำไปสู่ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” ในปี 1914 ในปี 1939-41 และหลังปี 1945 หรือไม่

6)หากย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยทางการเมือง ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว จะพบว่าการเมืองโลกของรัฐมหาอำนาจใหญ่ (The Great Power Politics) เป็นดัง “ลิขิต” ที่หลีกหนีไม่พ้นว่า รัฐมหาอำนาจใหญ่จะต้องต่อสู้และแข่งขันกันในเชิงอำนาจ และการแข่งขันเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนด “วาระและระเบียบ” ระหว่างประเทศในแต่ละยุคสมัย

7) การแข่งขันเช่นนี้เป็นโจทย์การเมืองของรัฐมหาอำนาจใหญ่โดยตรง และรัฐอื่นๆ จะถูกกดดันให้ต้อง “เลือกข้าง” ว่าจะเป็นพันธมิตรกับรัฐมหาอำนาจใดในเวทีการต่อสู้นี้

การดำเนินนโยบายทางการทูตของประเทศเล็กที่อยู่ท่ามกลางการแข่งขันของมหาอำนาจใหญ่จึงเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนในการตัดสินใจเป็นอย่างยิ่ง

โจทย์ของระบบพันธมิตรในการต่อสู้เช่นนี้จึงเป็นอีกประเด็นสำคัญ การเมืองของรัฐมหาอำนาจใหญ่เกี่ยวพันกับการสร้างพันธมิตร และสงครามจึงเป็นเรื่องที่พัวพันกับระบบพันธมิตร (alliance politics) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

8) ปรากฏการณ์เช่นนี้ในภาษาเก่าอาจเรียกว่า “The Great Power Competition” เพราะการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์การเมืองโลก และไม่มียุคใดสมัยใดในการเมืองโลกที่จะไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้น

ยกเว้นในช่วงที่ระเบียบระหว่างประเทศมีเงื่อนไขที่มีเพียงรัฐมหาอำนาจใหญ่หนึ่งเดียวดำรงอยู่ และยังไม่ปรากฏรูปการณ์ของการกำเนิดของรัฐมหาอำนาจอีกฝ่าย

แต่เมื่อใดที่รัฐมหาอำนาจใหญ่อีกฝ่ายเกิดขึ้นแล้ว การแข่งขันเช่นนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

9) ในยุคปัจจุบันเราอาจเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “The Geo-political Competition” ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ หรือกล่าวโดยสรุปว่าโลกในศตวรรษที่ 21 กลับสู่การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่อีกครั้ง ซึ่งทำให้นักวิชาการบางคนอาจจะเรียกแบบย้อนอดีตของยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า โลกกำลังก้าวสู่ภาวะของ “สงครามเย็นของศตวรรษที่ 21” (The 21st Century Cold War) และในครั้งนี้คู่สงครามของสหรัฐเปลี่ยนจากสหภาพโซเวียตรัสเซียเป็นจีน แต่ก็ไม่ใช่จีนที่เป็นสังคมนิยมแบบเก่า

โจทย์นี้จึงไม่มีศูนย์กลางอยู่กับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ แต่รวมศูนย์อยู่กับเศรษฐกิจมากกว่า

10) หากมองจากมุมของการแข่งขันที่เกิดขึ้นในเชิงโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศแล้ว รัฐมหาอำนาจฝ่ายหนึ่งเป็น “ผู้ควบคุมระบบเดิม” และอีกฝ่ายเป็น “ผู้ท้าทายระบบเดิม” จะต้องต่อสู้เพื่อสถาปนาอำนาจที่เหนือกว่าของฝ่ายตนให้ได้

การแข่งขันนี้จะเข้มข้นมากขึ้นในมิติต่างๆ จนอาจจะต้องยอมรับอย่างน่าเศร้าใจว่า ส่วนใหญ่ของการแข่งขันนี้มักจะจบลงด้วยสงคราม

สภาวะเช่นนี้เป็นข้อสรุปเบื้องต้นในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเวทีโลกคือ มูลเหตุพื้นฐานที่เป็นจุดกำเนิดของสงคราม และในเงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ “สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

11)สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนี่คือธรรมชาติของระบบระหว่างประเทศ ที่มี “ความตึงเครียดในเชิงโครงสร้าง” อันเป็นผลจากสถานะแห่งอำนาจของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในแต่ละยุคสมัย หรือกล่าวเป็นข้อสรุปในเชิงทฤษฎีว่า สงครามเกิดความขัดแย้งระหว่าง “มหาอำนาจเก่า vs มหาอำนาจใหม่”

ดังนั้น จีนกับสหรัฐจะหลีกหนีจากสภาวะที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ของสงครามในศตวรรษที่ 21 ได้เพียงใด

12) เมื่อสงครามเป็นผลผลิตของการแข่งขันระหว่าง “ผู้ควบคุม vs ผู้ท้าทาย” สภาวะเช่นนี้จึงเป็นดัง “กับดักสงคราม” ที่แม้จะตระหนักรู้เท่าใดก็ตาม… หรือไม่อยากเข้าสงครามเพียงใด

แต่สุดท้ายแล้ว ผู้นำรัฐมหาอำนาจใหญ่มักจะเดินเข้าสู่กับดักนี้ด้วยมนต์ขลังของเทวีแห่งสงคราม ที่ต่างฝ่ายต่างเชื่อไม่แตกต่างกันว่า “เราจะเป็นผู้ชนะ”…

การตัดสินใจสุดท้ายของผู้นำรัฐมหาอำนาจใหญ่ไม่เคยแตกต่างกันในบริบทเช่นนี้ อันทำให้บันทึกสงครามของทูซิดิดิสเป็นหนังสือที่ขายได้จนถึงวันนี้

13) เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าข้อสรุปเช่นนี้เป็นดังสานุศิษย์ของ “ทูซิดิดิส” ผู้รจนามหาสงครามระหว่างนครรัฐกรีก (The Great Peloponnesian War) ที่นำเสนอว่า สงครามในเชิงโครงสร้างระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตาใน 431 ปีก่อนคริสตกาล ย้อนรอยกลายเป็นสงครามระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษและฝรั่งเศสในปี 1914 เช่นกับที่ไม่แตกต่างกับสงครามระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษและฝรั่งเศสในปี 1939 และญี่ปุ่นกับสหรัฐในปี 1941… ประวัติศาสตร์อาจจะไม่ซ้ำรอย แต่บางครั้งประวัติศาสตร์ก็ย้อนรอยให้เราต้องคิดอย่างน่าฉงน!

14) เงื่อนไขเช่นนี้ถูกเรียกว่าเป็น “กับดักของทูซิดิดิส” (Thucydides”s Trap) และเป็นเงื่อนไขที่หลอกหลอนนักสันติภาพในเวทีโลกมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สงครามระหว่างนครรัฐกรีกแล้ว สงครามระหว่างรัฐมหาอำนาจล้วนมีคำอธิบายของมูลเหตุในเชิงโครงสร้างไม่แตกต่างกัน จนกลายเป็นข้อเตือนใจเสมอว่า ลิขิตกรรมของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในสมัยใดจะไม่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งที่นักรบจากเอเธนส์และสปาร์ตาต้องพาชีวิตของพวกเขาเข้าสู่สนามรบ

15) ไม่น่าแปลกใจที่ในวาระครบรอบ 100 ปีของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 2014 จะมีคำทำนายอนาคตว่า “จีนคือเยอรมนีในศตวรรษที่ 21”

ไม่ว่าคำทำนายนี้จะเป็นจริงหรือไม่ แต่เสมือนกับเป็นคำเตือนด้วยความหวังว่า ถ้าเราตระหนักถึงคำเตือนของทูซิดิดิสแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โลกจะเดินย้อนกลับไปบนถนนสายเก่าแก่ที่เอเธนส์กับสปาร์ตาเคยเดินไปสู่สงครามและความตายมาแล้ว แน่นอนไม่ต่างกับถนนสายเดิมที่เดินไปสู่สงครามในปี 1914 และเดินซ้ำรอยเดิมอีกครั้งในปี 1939 ในยุโรป และปี 1941 ในเอเชีย

แน่นอนว่าบนถนนสายนี้มีชีวิตและความสูญเสียของทหารและผู้คนเป็นจำนวนมากเป็นสติเตือนใจเสมอ สุสานทหารนิรนามเป็นพยานที่ชัดเจนในกรณีนี้

16)ก่อนการระบาดของเชื้อโควิด-19 เราเห็นแล้วว่าการเมืองโลกเดินไปเหมือนกับสิ่งที่ทูซิดิดิสเคยพรรณนาไว้ในบันทึกมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน คือการต่อสู้แข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จนขยายตัวเป็น “สงครามการค้า” ในแบบที่คาดไม่ถึง… มหาอำนาจใหม่เติบโตมากเท่าใด มหาอำนาจเก่าก็หวาดกลัวมากเท่านั้น และในภาวะนี้ต่างฝ่ายต่างมีสงครามเป็นเครื่องมือสุดท้าย

17) ไม่ว่าการระบาดของไวรัสโควิดจะเกิดเป็นประเด็นสำคัญในต้นปี 2020 หรือไม่ แนวโน้มการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐมีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นชัดว่าอย่างน้อยจากปี 2018 ต่อเข้าปี 2019 หนึ่งในคำถามสำคัญของการเมืองโลกคือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐที่ยกระดับมากขึ้นมาเป็นลำดับนั้น จะพาระบบระหว่างประเทศไปสู่จุดใด ถ้าสงครามเกิดขึ้นจริง โลกจะก้าวสู่สงครามโลกอีกครั้งหรือไม่

18) อาจไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า ในช่วงต้นของการระบาด โควิดอาจเป็นเหมือน “ระฆังหมดยก” ที่จะช่วยหยุดความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจไว้ชั่วคราว

และอาจนำไปสู่แนวโน้มใหม่ แต่ก็ไม่เป็นจริง ท่าทีของผู้นำสหรัฐไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนัก

โควิดกลับเป็น “เชื้อเพลิงใหม่” ที่โหมไฟแห่งความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้ให้มากขึ้น

สภาวะเช่นนี้ไม่อาจทำให้เราฝันไปในอนาคตได้เลยว่า โควิดจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ และรัฐมหาอำนาจจะหยุดการแข่งขันที่เข้มข้นดังกล่าว

เพื่อหันมาสู่การจับมือกันในการพัฒนาวัคซีนและอุปกรณ์สาธารณสุขและการแพทย์ต่างๆ ที่จะช่วยเหลือมนุษยชาติให้พ้นจากภัยคุกคามใหญ่จากโรคระบาด

19) ดังนั้น ถ้าการระบาดสิ้นสุดลงจริง เราอาจจะต้องเผื่อใจที่ระบบระหว่างประเทศอาจจะเผชิญกับการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง อันอาจคาดได้ว่า การแข่งขันของสองมหาอำนาจใหญ่นี้จะเข้มข้นขึ้นในยุคหลังโควิด และโรคระบาดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดพันธมิตรสหรัฐ-จีนในการต่อสู้กับ “สงครามโควิด”

20) ถ้าเราเชื่อง่ายๆ ว่าโรคระบาดจะทำให้ทิศทางการเมืองโลกเปลี่ยนไปจากธรรมชาติที่เป็นจริงในระบบระหว่างประเทศแล้ว เราอาจจะพบว่านั่นเป็นเพียงอาการ “ฝันกลางแดด” เพราะการต่อสู้แข่งขันเช่นนี้ไม่เคยถูกหยุดด้วยการระบาดของเชื้อโรค ความน่ากังวลในด้านกลับก็คือ โควิด-19 อาจกลายเป็นเรื่องผลักดันให้การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนรุนแรงมากขึ้น…

ไม่น้อยลงแน่นอน!