เศรษฐกิจ / ‘เน็ตประชารัฐ’ เละไม่เลิก ลดหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ค้านสายตาเวทีโลก

เศรษฐกิจ

 

‘เน็ตประชารัฐ’ เละไม่เลิก

ลดหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

ค้านสายตาเวทีโลก

 

ว่ากันด้วย ‘โครงการเน็ตประชารัฐ’ ที่มีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายให้ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมายในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังไม่มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ภายใต้วงเงินงบประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 สมัยนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

โดยเป็นหนึ่งใน 5 โครงการที่ได้รับคะแนนโหวตออนไลน์สูงสุด จากทั้ง 18 ประเภท รวม 90 โครงการ กระทั่งได้รับรางวัล The Winner ในงาน World Summit on the Information Society (WSIS) Prizes 2019 ซึ่งจัดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านต่างๆ

ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้กว่า 4 ล้านคน

 

แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า จากการตรวจสอบติดตามและประเมินทรัพย์สินโครงการ การสนับสนุนภารกิจด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการเน็ตประชารัฐ พบว่า

  1. ยังไม่สามารถเปิดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเข้ามาเชื่อมต่อโครงข่ายเพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงกับประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมาย หลังจากวางโครงข่ายแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560

ทั้งนี้ ในการจัดให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิด ซึ่งเป็นการเปิดให้เอกชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐเพื่อการพาณิชย์ ยังไม่มีการประกาศใช้แนวทาง หลักเกณฑ์การให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิดของโครงการเน็ตประชารัฐ

จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ

อาทิ เกิดการใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนจำนวนมากถึง 9,848.56 ล้านบาท

และประชาชนเสียโอกาสในการมีทางเลือกในการใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่เหมาะสมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

รวมทั้งการดำเนินโครงการอาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมาย ในการเข้าถึงโครงการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งผลการดำเนินโครงการอาจไม่สนับสนุนนโยบายและแผนระดับชาติ ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำหนดเป้าหมายให้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงทุกหมู่บ้านทั่วประเทศเป็นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ

และ 2.การตรวจสอบและติดตามการใช้ทรัพย์สินของโครงการยังไม่รัดกุมเพียงพอ ยังไม่สามารถควบคุม ตรวจสอบ และติดตามการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้บริการโครงข่ายแบบเปิด

ส่งผลให้มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมบางราย นำโครงข่ายดังกล่าวไปใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงดีอีเอสในฐานะเจ้าของโครงข่าย ซึ่งเป็นทรัพย์สินของราชการ และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงกำหนด ส่งผลให้รัฐไม่ได้รับสิทธิหรือผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบลักษณะการใช้อินเตอร์เน็ตของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายทั้งจากจุดให้บริการฟรีไวไฟ ของโครงการเน็ตประชารัฐ และจากแหล่งอื่นๆ พบว่ายังไม่สามารถสะท้อนความสำเร็จของการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้

 

ร้อนถึง น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส ที่สวนกลับทันควันว่า มีข้อเท็จจริง 2 ประเด็นหลัก ซึ่งเป็นข้อมูลความคืบหน้าการต่อยอดใช้ประโยชน์โครงข่ายเน็ตประชารัฐ

สำหรับประเด็นแรก ปัจจุบันได้มีการลงนามสัญญาไปแล้ว 4 ราย โดยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 กระทรวงได้พิจารณาเห็นชอบให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวน 6 ราย ที่แสดงความสนใจเข้าเชื่อมต่อโครงข่าย และมีผู้ประกอบการได้ลงนามในสัญญาแล้ว 4 ราย ได้แก่ 1.ทีโอที 2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.ที.แอล เสียง (ไทยแลนด์) 3.บริษัท วารินชำราบ จำกัด และ 4.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ และบางรายเริ่มให้บริการแล้ว

สำหรับความเป็นมาของการเตรียมการให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอื่นเชื่อมต่อไปให้บริการยังบ้านเรือนประชาชนได้นั้น กระทรวงได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์ในการเชื่อมโครงข่ายแบบเปิด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 โดยได้เสนอหลักการให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งประเภทที่มีโครงข่ายและไม่มีโครงข่ายของตนเอง ให้สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐ โดยไม่มีค่าใช้บริการ เพื่อลากสายไปให้บริการยังบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายเล็กในภูมิภาค ทำให้เกิดการแข่งขัน ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง

ต่อมาได้เสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561

หลังจากนั้น กระทรวงได้จัดทำร่างข้อเสนอการใช้โครงข่ายและแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทราบ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ปีเดียวกัน โดยมีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสนใจเข้าเชื่อมต่อโครงข่าย จำนวน 8 ราย แต่ผ่านการพิจารณา 6 ราย และเข้ามาเซ็นสัญญาแล้ว 4 ราย

เนื่องจากโครงข่ายเน็ตประชารัฐเป็นทรัพย์สินของรัฐ การอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างรอบคอบ มีขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดทำสัญญาการอนุญาตให้ใช้โครงข่าย ซึ่งเดิมสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 ว่าการอนุญาตให้เอกชนนำทรัพย์สินของรัฐไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อาจเข้าข่ายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562

กระทรวงจึงต้องดำเนินการเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้เสนอให้ ครม.ให้ความเห็นชอบแนวทางการเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐแบบเปิดให้เอกชนที่สนใจเชื่อมต่อโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562

จากนั้น ได้หารือไปยังคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในประเด็นการอนุญาตให้เอกชนนำทรัพย์สินของรัฐไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ว่า เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ โดยได้รับหนังสือตอบเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ว่า การดำเนินการในรูปแบบที่กระทรวงนำเสนอไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จึงได้จัดส่งสัญญาการใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง และได้รับการตอบกลับมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562

ส่งผลให้การเปิดโครงข่ายแบบเปิดมีความล่าช้าไปประมาณ 1 ปี

 

ส่วนประเด็นที่ 2 ที่ สตง.รายงานว่า ผลการตรวจสอบพบว่า กระทรวงยังไม่สามารถควบคุม ตรวจสอบ และติดตามการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้บริการโครงข่ายแบบเปิด ส่งผลกระทบให้มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมบางราย นำโครงข่ายดังกล่าวไปใช้งานโดยยังไม่ได้รับอนุญาตนั้น ขณะนี้ กระทรวงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว เพื่อตรวจสอบการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิดทั้งหมด และรายงานผลให้ทราบภายใน 60 วัน

“ยืนยันว่าที่ผ่านมาให้ความสำคัญการประสิทธิภาพของระบบควบคุม ตรวจสอบ และติดตามการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐโดยตลอด เนื่องจากอุปกรณ์โครงการเน็ตประชารัฐมีการติดตั้งอยู่ในหมู่บ้านห่างไกลทั่วประเทศ กระทรวงจึงได้พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพย์สิน เพื่อควบคุมกำกับอุปกรณ์ปลายทางและการใช้งาน เพื่อให้บริการไวไฟเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และได้เพิ่มระบบบริหารจัดการโครงข่ายแบบเปิด เมื่อปลายปี 2562 ทำให้สามารถตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ สถานะของการใช้และเชื่อมต่ออุปกรณ์เพื่อรองรับการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิดที่ได้รับการอนุมัติ” น.ส.อัจฉรินทร์ระบุ

    อย่าให้รางวัลการันตีจากเวทีโลกเสียเปล่า เร่งปิดจ๊อบโครงการด้วยคุณภาพ แต่จะเละหรือแก้ปม ต้องติดตาม