เทศมองไทย : ขุมทองตะวันออก ความหวังเศรษฐกิจไทย

ว่ากันว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง รายงานการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บอกว่า เศรษฐกิจของทั้งเอเชียจะติดลบ 1.6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

ในส่วนของประเทศไทย การคาดการณ์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการชี้ให้เห็นสภาวะดิ่งลึกอย่างยิ่ง ระหว่าง -5 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึง -8 เปอร์เซ็นต์ มีบ้างที่เห็นว่า อาจหนักหนาสาหัสเพราะติดลบถึงระดับตัวเลขสองหลัก

นั่นคือการคาดการณ์การทรุดตัว แล้วการฟื้นตัวล่ะ? ก็ไม่มีข่าวดีสำหรับเมืองไทยอีกเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่า การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดของไทยจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่รูดลงหนักแล้วฟื้นพรวดพราดแบบตัว “วี” แน่ แล้วก็ไม่ใช่ตัว “ยู” อย่างที่เคยคาดการณ์กันไว้ แต่จะกลายเป็นรูปตัว “แอล” คือดิ่งลงพรวดแล้วค้างอยู่ตรงจุดต่ำสุดนานไม่น้อย

ปัญหาก็คือ เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวสูงมาก ทั้งสองอย่างนี้ผู้เชี่ยวชาญฟันธงว่าฟื้นตัวได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังคงเกิดการระบาดอย่างต่อเนื่องในระดับสูงอยู่นอกประเทศ

ทำทีทำท่าว่า การที่เราสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีมากประเทศหนึ่งของโลก อาจไม่ก่อประโยชน์โภคผลทางด้านเศรษฐกิจมากมายนัก เช่นนั้นหรือ?

คำตอบคือ ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว อย่างน้อยภาพลักษณ์ที่ดีจากการรับมือกับโควิด-19 ก็กลายเป็นพื้นฐานสำคัญให้เราสามารถวางกลยุทธ์การตลาดในฐานะเป็นดินแดนที่ปลอดภัยและนิ่งในท่ามกลางกระแสการแพร่ระบาดไม่หยุดหย่อนอย่างเช่นในยามนี้

ซึ่งกลายเป็นฐานรากที่มั่นคงสำหรับอุตสาหกรรมบางเซ็กเตอร์ใช้สำหรับดีดพุ่งกลับคืนสู่ภาวะปกติได้รวดเร็วกว่าที่คาดหมายไว้

 

เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (เอสซีเอ็มพี) รายงานเอาไว้เมื่อ 29 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ว่า อสังหาริมทรัพย์ของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกกำลังเป็นที่สนอกสนใจจากบรรดาคนมีสตางค์จากหลายประเทศ ที่ต้องการหาพื้นที่ที่ “ปลอดภัย” และ “ไม่วุ่นวาย” สับสนเหมือนในประเทศตนเอง ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา เรื่อยมาจนถึงฮ่องกงและอินเดีย

สอดคล้องกับรายงานของนิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว เมื่อ 26 มิถุนายน ที่ระบุว่า “ไทยแลนด์ อีลีต การ์ด” ของไทยกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก “ชาวจีน” ที่กำลังมองหา “บ้านหลังที่สอง” ในต่างแดน

ข้อมูลของนิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว ระบุว่า จนถึง 29 กุมภาพันธ์ปีนี้ อีลีต วีซ่า มีสมาชิกแล้ว 9,578 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวจีนเสีย 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวอังกฤษ 6 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่นกับอเมริกาอีกชาติละ 5 เปอร์เซ็นต์

แต่ที่น่าสนใจก็คือ สมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 6,495 คน เป็นเกือบหมื่นคนแล้ว โดยไทยแลนด์ ไพรวิลเลจ การ์ด ตั้งเป้าว่าจะขายให้ได้เพิ่มอีก 2,500 ใบ ทำเงินให้ได้ 1,500 ล้านบาทในปีนี้

สนนราคาของอีลีต การ์ด หรืออีลีต วีซ่านั้น เริ่มต้นที่ 500,000 บาท เรื่อยไปจนถึง 2 ล้านบาท ได้สิทธิอยู่ในประเทศไทยระหว่าง 5-20 ปี พร้อมสิทธิพิเศษอีกบางประการ ได้รับความนิยมมาตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดการระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2003 มาปีนี้ การระบาดครั้งใหญ่ในจีน กับการหวนกลับมาระบาดรอบใหม่ที่ตอนกลางของจีน ยิ่งทำให้การสอบถามเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น

เอเยนซี่รายหนึ่งถึงกับระบุว่า สามารถขายการ์ดได้วันเดียวถึง 7 ใบเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

เอสซีเอ็มพีบอกว่า อสังหาริมทรัพย์ของไทยก็ได้รับความสนใจสูงมากไม่แพ้กัน สกอตต์ แทนเนอร์ ผู้จัดการฝ่ายขายของอีลีต พร็อพเพอร์ตี้ พัทยา บอกว่า ในช่วงสองสามสัปดาห์หลังมานี้ มีการสอบถามเกี่ยวกับโปรโมชั่นลดราคาคอนโดมิเนียมเข้ามามากมายเหลือเชื่อ

นักลงทุนชาวอินเดียรายหนึ่งถึงกับสอบถามมาเพื่อที่จะหาซื้อสนามกอล์ฟขนาด 160 เฮกตาร์กันเลยทีเดียว

ไมก์ บาร์นส์ ที่ปรึกษาไอที อายุแค่ 32 ปี ชาวแอฟริกัน-อเมริกันจากลอสแองเจลิส ตัดสินใจลงทุน 100,000 ดอลลาร์ ซื้อคอนโดมิเนียมบริเวณชายหาดไว้ห้องหนึ่ง กับเรือออกทะเลอีกลำ บอกเหตุผลกับเอสซีเอ็มพีว่า ไม่อยากอยู่ในเมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ไม่อยากปั่นป่วนวุ่นวายไปกับสถานการณ์ที่กำลังโหมกลืนสังคมอเมริกันอยู่ในเวลานี้

“ผมอยากได้แค่พื้นที่ของตัวเอง สามารถออกไปไหนมาไหนได้ถ้าจำเป็น ถือเป็นที่ฝังตัว ผมซื้อที่เก็บตัวของผมในประเทศไทย”

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์บอกว่า อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ตะวันออกบูมขึ้นมาท่ามกลางการระบาดของไวรัสไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

เพราะพัทยาถือว่าอยู่ในใจกลางของ “แอร์พอร์ต ซิตี้” เมืองใหญ่ ทันสมัย มูลค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านดอลลาร์ ที่กำลังก่อรูปขึ้นพร้อมๆ กับสนามบินนานาชาติ อู่ตะเภา

ทั้งหมดนี้คือความหวังทางเศรษฐกิจของไทยในยามคับขันนี้ครับ