อภิญญา ตะวันออก : มนตราอาคม ความต่างที่พบพานในยันต์เขมร-ไทย

อภิญญา ตะวันออก

ย้อนไปตอนที่วงการหนัง-ละครไทยพาเหรดผลิตผลงานแนวย้อนยุค แลบางเรื่องก็เน้นขายมนตรา-อาคมนั่น

พลันฉันก็นึกได้ว่าเพื่อนนักทำหนังคนหนึ่งเคยมีอีเมลพร้อมภาพยันต์ตัวอย่างมาถามและขอให้ช่วยแกะความหมายให้ด้วย

ผ่าเถอะ! เมื่อลองถอดรหัสนัยดูแล้วก็พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นอักขระขอมและคำย่อของบทสวดบาลี ซึ่งฉันก็ไม่รู้ว่าอยู่ในอรรถกถาใดบ้าง?

แต่ถึงเรื่องความรู้อาจจะน้อย แต่เรื่องแกะรอยนั้นฉันก็ไม่เคยทิ้ง เพียงแต่อาจจะยากที่หลักฐานฝั่งเขมรดูจะขาดที่มาที่ไป

กระทั่งวันหนึ่งก็ให้บังเอิญพบตำรับที่น่าสนใจฉบับหนึ่ง

กลับไปเรื่องถอดรหัสยันต์ของคนทำหนัง ที่จะไปสู่แผนกศิลปกรรมกองถ่ายหนัง-ละครตอนนั้น อย่าว่าแต่ยันต์เลย สังเกตให้ดี ไม่นานจากนั้น บนเนื้อตัวหนุ่ม-สาวไทยโดยมากก็ถูกเส้นสายลายยันต์อักขระขอมครอบครองเต็มไปหมด

ปกติ อะไรที่อยู่ในศาสตร์พวกนี้ก็โอเวอร์กว่าปกติอยู่แล้ว ยิ่งแนวมนตราอาคมด้วยแล้ว ความพิสดารของศาสตร์ยันต์นานาก็ยิ่งถูกแต่งเติมและเพิ่มอัตลักษณ์เข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นลายบนเรือนร่างของนักแสดงหรือส่วนประกอบฉากอื่นๆ เช่น ผืนผ้า แผ่นไม้ ใบหญ้า

เรียกว่าเล่นกันทั้งแบบลายอักขระขอม อักษรล้านนา เปรอะบ้าง ทับลายบ้าง ก็เป็นวิสัยที่แผนกศิลปกรรมกองถ่ายหนังเขาจะสร้างมูลค่าแก่ตัวละครและฉากประกอบมากกว่าความสมจริง ซึ่งก็พบว่า หลังๆ เรื่อยมา ละครหนังย่านอุษาคเนย์จะไม่ขาดแล้วในเรื่องยันต์ แม้แต่หนังละครเขมรที่ไม่เคยพบว่ามีมาก่อน ก็ไม่น้อยหน้าใคร

โดยไม่รู้หรอกว่า อันยันต์อาคมขอมเขมรที่ว่า ถือกำเนิดแต่ใดมา? และในกัมพูชาเอง สาบานว่า ฉันก็ไม่เคยเห็นมาก่อน

 

แต่กว่า 20 ปีแล้ว ที่ฉันได้เห็นการสักยันต์ในกลุ่มขฺมร์เลอ-เขมรชาวเขาซึ่งชาวตุมปวน ชาวจรายในจังหวัดรัตนคีรี

ฝีมือยันต์ของชนกลุ่มน้อยเขมรนี้ ใช่อยู่ที่ความลึกลับหรือพิสดาร หากเทียบกับการสักยันต์ยุคนี้ที่อาศัยวิทยาการสมัยใหม่

พวกเขามักจะสักยันต์เพียงเล็กน้อยบนร่างกายทั้งหญิง-ชาย แต่ก็เป็นจำนวนน้อยกว่าการเจาะหูให้กรูกลวง หรือน้อยกว่าการสูบยาเส้นที่เป็นชีวิตประจำวันทั้งหมดนั้น

ยันต์แขมร์เลอ หามีความพิสดารอย่างใดไม่ กระนั้น ก็ยังอุตส่าห์มีชาวเขมรพื้นล่างดั้นด้นไปหาของดีจากเขมรป่าดงเพื่อประดับเรือนร่าง

ว่าไปแล้ว นอกจากจะเสี่ยงกับการติดเชื้อแล้ว ความที่ชาวตุมปวนอยู่ในโลกชุมชนของตน ยันต์เหล่านั้น นอกจากลายสัตว์พื้นบ้านที่อาจขาดแหว่งไปและแม้จะต้องเดาในรูปร่าง

ความใฝ่ในอัตลักษณ์ด้านอักขระในความเป็นชนชาติของชนกลุ่มน้อยเขมรซึ่งไม่มีอักษรเขียนเป็นของตนเองนั้น จึงไม่ต้องหวังว่า เฒ่าตุมปวนผู้นั้น ก่อนจะลงฝีเข็ม แกจะสวดมนตราหรือคาถาสักบท เพราะนอกจากอัตลักษณ์ที่อยู่ในทุกอณูของแกแล้ว ตุมปวนเฒ่าก็ไม่ทำอะไรที่พิสดารเหนือธรรมชาตินอกจากความเรียบง่าย

ซึ่งเอาเข้าจริง ชาวเขมรทั่วไปก็ไม่สนใจใดๆ ในชาวแขมร์เลอแม้แต่น้อย

เว้นแต่พวกเขมรโพ้นทะเลที่วันดีคืนดีก็พกพาความคลั่งไคล้ในศาสตร์ยันต์มนตราแลเขมรป่าดง

 

แต่นั่นเมื่อย้อนดูหลักฐานร่วมสมัยด้านยันต์อาคม ก็พบว่า ยุคที่กัมพูชาเพิ่งเปิดประเทศ ราวปี ค.ศ.1999 (เขมรนับปีแบบพุทธคือ 2543) นั้น “ประชุมเวทมนตร์และยันต์ศักดิ์สิทธิ์” รวบรวมโดยสุย สิทธี คือสิ่งพิมพ์ฉบับแรกๆ ที่พอจะเป็นหลักฐานว่ามีการรวบรวมบันทึกไว้

ขณะนั้นอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เขมรจะเพิ่งถือกำเนิดใหม่แต่กลับล้าหลังเต็มที แถมไม่นานยังถูกบดขยี้จากสื่อออนไลน์

แต่ “ประชุมเวทมนตร์และยันต์ศักดิ์สิทธิ์” นี่แหละที่พบว่ามีทั้งส่วนมนตราอาคมและยันต์ ที่เพิ่มเติมก็คือ ความเชื่อเกี่ยวกับทศบารมี 10 ประการที่แตกต่างจากพุทธเถรวาทของฝ่ายไทย โดยไม่พบว่าเป็นเรื่องการบำเพ็ญทศบารมี 10 ในอดีตกาลก่อนของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด

แต่เป็นเรื่องของเทวรูปในองค์พระโพธิสัตว์ยุคต่างๆ ซึ่งประดิษฐานในแอ่งอารยธรรมเขมรที่กระจัดกระจายไปทั่วภูมิภาคทั้ง 10 แห่งของกัมพูชา ดังต่อไปนี้ :

1. บารมีพระองค์ดงแก กรุงพนมเปญ

2. พระองค์โพธิพัน กรุงบาพนม จังหวัดไปรเวง

3. พระองค์วิหาร์สรวง (วิหารสวรรค์) จังหวัดกันดาล

4. พระองค์กระปมชูก จังหวัดกระแจะ

5. พระองค์วัดสวายจรุม จังหวัดสวายเรียง

6. พระนางองค์เจก-พระนางองค์จอม จังหวัดเสียมเรียม (โด่งดังและเป็นที่นับถือมาก)

7. บารมีโลกตาเฆลียงเมือง จังหวัดโพธิสัตว์

8. บารมีวัดเอกรำสี จังหวัดพระตะบอง

9. ทศบารมีวัดกันโถง จังหวัดกำโปด

และ 10. ทศบารมีพระองค์พนมสันฑก (แห่งบารายพนมสันฑก) จังหวัดกำปงทม

 

อุปมาว่า จารึกเก่าแก่ตามแหล่งโบราณสถานเขมรต่างๆ นั้น ไม่ต่างจากมนตราอาคมที่ชาวเขมรยุคหลังนำมาพัฒนาเป็นอักขระจารึกบนร่างกาย

ณ ที่นี้ขอกล่าวเฉพาะแต่อักขระ ยันต์ไทยในคราบอักขระขอมนั้น เจิดด้วยงานศิลป์และรหัสนัยที่ต้องถอดความทั้งแบบเดินหน้าและถอยหลังไปหาความหมายในคำบาลี แลวิสัชนาว่าคืออรรถกถาของบทสวดที่รับความนิยม

แต่ยังไม่ขอถอยไปสู่ปุจฉาในยันต์เขมรและมนตราอาคมอื่นๆ เว้นแต่ฉันจะไปอ่านและถอดความรหัสนัยนั่นเสียก่อน

รวมทั้งในส่วนทศบารมี 10 ฉบับเขมรว่า เหตุใดจึงยกไว้แก่องค์บารมีโพธิสัตว์ร่วมสมัย และมีอะไรให้ถอยหลังไปจากพุทธเถรวาทเสียเช่นนั้น แลเป็นขนบใหม่ในความเชื่อยุคหลัง

ราวกับต้องมนตรา เหมือนคนยุคนี้ที่ใช้เรือนร่างสักจาร ราวกับแทนหินผาคูหาถ้ำ

เพียงแต่บางครั้งก็ไม่เข้าใจในที่มา ทั้งอักษรและลายศิลป์

 

และอีกครั้งหนึ่ง ที่ความเป็นอาณาจักรโบราณนครวัด-นครธมยังคงครอบคลุมสรรพศาสตร์นานาของกัมพูชา ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยา และแน่นอนว่าด้วยมนตราอาคม

กล่าวโดยทั่วไป เอกสารเล่มนี้รวมไว้ซึ่งยันต์และเวทมนตร์คาถา แม้แต่ละคาถาจะไม่ระบุความเป็นมาของคาถาว่าเกี่ยวโยงกับสถาน/สิ่งศักดิ์สิทธิ์และทศบารมี 10 แห่งของกัมพูชา

เป็นความเชื่อใหม่ในยุคหลังที่เกิดจากชุมชนท้องถิ่นในทั่วทุกภูมิภาคของแอ่งอารยธรรมเก่า

อนึ่ง ความเป็นศูนย์กลางแห่งจารึกต่างๆ ของราชอาณาจักรโบราณกัมโพช ตั้งแต่ไม่กี่อักษรไปจนถึง 53 บรรทัด 152 ข้อความ ตามขนบจารึกตั้งแต่เสาหินไปจนถึงผนังปราสาทที่มีความยาวถึง 3 เมตร แลยังเทวรูปปั้นพระโพธิสัตว์ตามเทวสถานปรักพัง

ไม่แปลกเลยที่ปรากฏการณ์รูปปั้น เนียะตา/โลกตา, องค์พระโพธิสัตว์ตลอดจนอารามศาลที่สร้างขึ้นใหม่ในกลุ่มปราสาทต่างๆ จะสอดแทรกเข้ามาเป็นศาสตร์ยันต์และมนตรา อันเกิดจากลัทธิพราหมณ์ที่ผสมผสานกับพุทธมหายานแต่อดีตกาล จนกลายเป็นความเชื่อใหม่ในชุมชนท้องถิ่น

นอกจากความเชื่อทศบารมีที่ต่างกันระหว่างไทย-เขมร และขนบความเชื่อของพุทธพราหมณ์ ไทย-เขมรที่อิงจากลัทธิพราหมณ์สมัยเมืองพระนครที่อักขระขอมในยันต์เขมรนั้น ไม่ขึ้นกับอรรถกถาของบทสวดบาลีดังที่พบในยันต์ไทย

ยันต์เขมรจึงน่าจะต่างยันต์ไทยที่ตรงนี้

ดังที่ปรากฏการณ์ยันต์มนตราและความหมายที่แบ่งย่อยตามความเชื่อและเพศลักษณ์ อาทิ เป็นยันต์ (ผ้า) ที่เขียนขึ้นเพื่อป้องกันโรคทารกบุตร-หลาน ยันต์สำหรับบุรุษและยันต์สำหรับเพศสตรีที่แตกปลีกย่อยกันไป

แต่เรื่องพิสดารในมนตรายันต์ไทยยุคหลัง ก็ใช่ว่าจะขาดแคลนแนวปาฏิหาริย์กับเขาไม่?

ฤๅกันหนักหนาว่าเบื้องหลังที่สโมสรจิ้งจอกสยามได้แชมป์พรีเมียร์ลีก! นั่น!

มาจากยันต์ล้วนๆ!

————————————————————————-
เครดิตภาพ : tatoueurs, tatou?s