E-DUANG : สถานะ ดำรงอยู่ นิว นอร์แมล ​​​ความเป็นจริง ทางการปฏิบัติ

การปรากฏขึ้นของคำว่า นิว นอร์มัล ทรงความหมายอย่างสูงในทาง ความคิด

ชำแรกแทรกซึมไปในทุกพื้นที่ของการเคลื่อนไหว

ไม่ว่าในทาง “เศรษฐกิจ” ไม่ว่าในทาง “การเมือง” ไม่ว่าในทาง “วัฒนธรรม”

ดำรงอยู่เหมือนกับคำว่า “ไทยแลนด์ 4.0”

กลายเป็นวลีติดปากตั้งแต่คนกวาดถนน คนขับรถเมล์ กระทั่งนายกรัฐมนตรี

ถามว่าแล้วความเป็นจริงทางการปฏิบัติเป็นอย่างไร

ตัวอย่างสดๆร้อนๆอันปรากฏผ่านร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้

เด่นชัดว่าเป็นงบประมาณในแบบ”นิว นอร์มัล” หรือว่ายังคงรักษาภาพแห่ง”โอลด์ นอร์มัล”เอาไว้ครบถ้วน

สังคมควรให้ความสนใจต่อการอภิปรายของใคร พรรคใด

 

บทสรุปร่วมไม่ว่าจะจากพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่งจากบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนให้เห็นกระบวนการในการจัดทำงบประมาณ

นั่นก็คือ แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

อย่าลืมเป็นอันขาดว่าการเกิดขึ้นของพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จัดทำและผ่านความเห็นชอบก่อนเกิดสถานการณ์ไวรัส โควิด-19

ขณะที่การจัดทำร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประ มาณ พ.ศ.2564 อยุ่ในบรรยากาศก่อนและหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19

ท่ามกลางการเอ่ยอ้างถึงสถานการณ์ “นิว นอร์มัล” ท่ามกลางการคาดหวังว่าจะเป็นการจัดทำงบประมาณเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ของโลกและของประเทศ

แต่แล้วร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ก็ยังเป็นเหมือนเดิม

 

พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง นักการเมืองคนหนึ่ง รัฐบาลรัฐบาลหนึ่งเราจะตัดสินชี้ขาดความเป็นพรรค ความเป็นนักการเมืองความเป็นรัฐ บาลจากปัจจัยอะไร

คำตอบคือจากปัจจัยที่เขาลงมือทำ

ปฏิบัติอย่างแรกก็คือ เขาจัดทำร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณอย่างไร เปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง