การศึกษา / ผ่าเกณฑ์ใหม่ขอ ‘ศ.-รศ.-ผศ.’ ง่ายกว่าที่คิด หรือยุ่งยากกว่าที่เคย??

การศึกษา

 

ผ่าเกณฑ์ใหม่ขอ ‘ศ.-รศ.-ผศ.’

ง่ายกว่าที่คิด หรือยุ่งยากกว่าที่เคย??

 

ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ.2563 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางในการออกข้อบังคับ

มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สาระหลักๆ ของหลักเกณฑ์ใหม่ มีดังนี้

 

สําหรับผลงานทางวิชาการที่ขอ “ผศ.” งานวิจัย 2 เรื่อง ได้คะแนนระดับ B หรืองานวิจัย 1 เรื่อง และผลงานวิชาการในลักษณะอื่น 1 รายการ ได้คะแนนระดับ B หรืองานวิจัย 1 เรื่อง และผลงานวิชาการรับใช้สังคม 1 เรื่อง คะแนนระดับ B หรืองานวิจัย 1 เรื่อง และตำรา/หนังสือ 1 เล่ม ได้คะแนนระดับ B

สาขาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ใช้ผลงานทางวิชาการลักษณะอื่น/ผลงานวิชาการรับใช้สังคม ระดับ B /บทความทางวิชาการ ระดับ B+ แทนงานวิจัย ได้รับการเผยแพร่งานวิจัย วารสารวิชาการอยู่ในฐานข้อมูลที่ ก.พ.อ.กำหนด หนังสือรวมบทความวิจัยที่มีบรรณาธิการ นำเสนอเป็นบทความวิจัยต่อที่ประชุมทางวิชาการในระดับชาติ/นานาชาติ จัดโดยสมาคมวิชาการ/วิชาชีพ 5 ปี หนังสือได้เผยแพร่ไปในวงวิชาการและวิชาชีพอย่างกว้างขวาง

ผลงานทางวิชาการที่ขอ “รศ.” วิธีแรก ตำรา/หนังสือ 1 เล่ม และงานวิจัยระดับ B+ หรือตำรา และหนังสือ 1 เล่ม และงานวิจัย 1 เรื่อง และผลงานในลักษณะอื่น คะแนนระดับ B+ ตำราหนังสือ 1 เล่ม งานวิจัย 1 เรื่อง และผลงานรับใช้สังคม B+ งานวิจัยต้องได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติ

หรือวิธีที่ 2 งานวิจัย 10 เรื่อง เผยแพร่ในวารสาร Q1, Q2 หลังได้รับตำแหน่ง ผศ. 5 เรื่อง มีงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิง Scopus ซึ่งเป็นฐานข้อมูลบรรณานุกรมที่รวบรวมบทคัดย่อ และการอ้างอิงจากวารสารวิชาการ อย่างน้อย 500 รายการ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยอย่างน้อย 5 โครงการ

และผลงานทางวิชาการขอ “ศ.” ตำรา/หนังสือ 1 เล่ม งานวิจัย 5 เรื่อง ระดับ A เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ หรือตำรา/หนังสือ 1 เล่ม ระดับ A ผลงานในลักษณะอื่น ผลงานรับใช้สังคม 5 เรื่อง ระดับ A

เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย อย่างน้อย 10 โครงการ เป็นต้น

 

ซึ่งนายพีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า ประกาศ ก.พ.อ.ฉบับนี้ ปรับปรุงเพื่อให้การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการของคณาจารย์เป็นสากล เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย 4 กลุ่ม สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

รวมถึงแก้ไขหลักเกณฑ์เดิมที่ไม่เหมาะสม และไม่ทันสมัย

อย่างไรก็ตาม การปรับหลักเกณฑ์ใหม่นี้ เกิดขึ้นภายหลัง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกประกาศ ก.พ.อ.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ.2560 เพียง 3 ปีเท่านั้น

ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าปรับเร็วเกินไปหรือไม่

โดยฝ่ายที่คัดค้านมองว่าหลักเกณฑ์ยุ่งยากกว่าเดิม ทำให้อาจารย์ขาดกำลังใจ และไม่มีความมั่นคงในอาชีพ

 

อย่าง น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า เกณฑ์ใหม่ซับซ้อนและยากเกินไป โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ฯ ที่กำหนดว่าต้องได้รับการนำเสนอเป็นบทความวิจัยต่อที่ประชุมทางวิชาการระดับชาติ และได้เผยแพร่ไปยังวงวิชาการอย่างกว้างขวาง เกณฑ์การส่งผลงานอ่านแล้วไม่เข้าใจ ต้องตีความอีกว่าแต่ละระดับหมายถึงอะไร ไม่มีบทเฉพาะกาลให้กับผลงานที่ตีพิมพ์แล้ว ทำให้ผลงานเก่าไม่ถูกนำมาใช้

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) บอกว่า หลักเกณฑ์นี้กระทบต่อมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการโดยตรง โดยเฉพาะเกณฑ์การขอ รศ.และ ศ.มีรายละเอียด บางเรื่องค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ อยากให้ปรับแก้เชิงโครงสร้าง ให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งกำหนดหลักเกณฑ์ขอตำแหน่งทางวิชาการได้เอง แต่ต้องเป็นหลักเกณฑ์ที่อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าที่ ก.พ.อ.กำหนด

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าหลักเกณฑ์ยากเกินไป แต่ละระดับกำหนดจำนวนเล่ม ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และอีกหลายหลักเกณฑ์ยุ่งยาก ต่อไปอาจารย์ต้องไปทุ่มเทกับงานวิจัย ปลีกตัวออกจากสังคม ทำให้ชีวิตไม่ปกติ ขาดความสมดุล ไม่ได้ทำงานด้วยความสุข แต่ทำเพราะต้องทำ

ซึ่งนักวิชาการจากรั้วจามจุรีย้ำว่า หลักเกณฑ์ใหม่นี้ไม่ง่าย หากเดินหน้าต่อไป จะมีอาจารย์ถูกยกเลิกสัญญาจ้างมากขึ้น เพราะทำผลงานขอตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้

ล่าสุด รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ลงนามในหนังสือคัดค้านหลักเกณฑ์ดังกล่าวถึงรัฐมนตรีว่าการ อว. พร้อมข้อเสนอเร่งด่วนที่สุด ขอให้ชะลอการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว โดยให้แก้ไขบทเฉพาะกาล ขยายระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้อาจารย์มีโอกาสเตรียมตัวและวางแผนยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ ส่วนข้อเสนอเร่งด่วนมาก ให้ตั้งคณะทำงาน ซึ่งเป็นตัวแทนจากคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ พิจารณายกร่าง หรือปรับปรุงจากประกาศ ก.พ.อ.ที่ออกเมื่อปี 2560

ส่วนสาเหตุที่คัดค้าน อาทิ ไม่มีบทเฉพาะกาล ที่กำหนดระยะเวลาให้อาจารย์เตรียมตัวจัดทำผลงาน และวางแผน กระทบกับผู้ที่เตรียมตัวยื่นในเกณฑ์เดิม จำกัดการเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับ ศ.และ รศ.ที่กำหนดว่าการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยต้องอยู่ในวารสารทางวิชาการที่เป็นฐานข้อมูลนานาชาติที่ ก.พ.อ.กำหนด

ซึ่งสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ บางสาขาวิชามีข้อจำกัด ฯลฯ

 

ขณะที่ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการอธิการบดี มก. มองว่าเกณฑ์ใหม่มีข้อดี แต่ขาดการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจ แต่โดยหลักแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์ใหม่ ส่วนใหญ่เป็น “ข้าราชการ” ซึ่ง มก.มีอยู่ประมาณ 200 คน จากอาจารย์ 3,500 คน ซึ่งมีสถานะเป็น “พนักงานราชการ” ยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการได้ตามหลักเกณฑ์ที่สภา มก.ประกาศใช้

ด้าน รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เห็นว่าเกณฑ์ใหม่มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยจะปรับใช้อย่างไร ส่วน มศว ไม่มีปัญหา เพราะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ มีอำนาจประกาศหลักเกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการได้เอง

เรื่องนี้ ศ.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะทำงานด้านตำแหน่งวิชาการและความก้าวหน้าของนักวิจัย แจกแจงว่า ประกาศ ก.พ.อ.มีรายละเอียดค่อนข้างมาก อยากให้อ่านอย่างละเอียด ทั้งการยกเลิกการกำหนดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของผู้ขอ ว่าต้องมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า 50% และยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการมีส่วนร่วมของผู้ประพันธ์อันดับแรก หรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ ซึ่งเดิมผลงานใช้เพื่อขอตำแหน่งวิชาการได้เพียงคนเดียว แต่เกณฑ์ใหม่มีผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการขั้นต่ำได้มากกว่า 3 คน

ปรับลักษณะคุณภาพของผลงานวิชาการ จากเดิมระดับ ดี ดีมาก และดีเด่น เป็น ระดับ B, B+, A และ A+ การขอระดับ ศ. เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ผลงานทางวิชาการมีคุณภาพระดับ A+ หรือระดับดีเด่น อย่างน้อย 2 เรื่อง จากเดิมกำหนดที่ 5 เรื่อง ฯลฯ

นอกจากนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิต้องวิพากษ์วิจารณ์งานโดยใช้องค์ความรู้อย่างแท้จริง หากพิจารณาว่าผลงานไม่ผ่านเกณฑ์ ต้องมีคำชี้แจงที่ชัดเจน

ต้องติดตามว่า เรื่องนี้จะมี “ทางออก” อย่างไร เพื่อให้เป็นที่ “พอใจ” ของทุกฝ่าย…

            ขณะเดียวกันต้องได้หลักเกณฑ์ที่ “เหมาะสม” และเป็นที่ “ยอมรับ” ในระดับสากล!!