NOBRA ศิลปะที่นำเสนอแง่มุมใหม่ๆในความหลากหลายทางเพศ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า NOBRA

เห็นชื่อนิทรรศการแล้วหลายคนอาจนึกว่านิทรรศการนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงที่ไม่สวมชุดชั้นในไปโน่น

แต่ความเป็นจริงนิทรรศการนี้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQ และความหลากหลายทางเพศต่างหาก

เพราะถึงแม้ในปัจจุบัน LGBTQ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับการยอมรับมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

แต่ในทางกลับกัน ภาพจำและทัศนคติอันคับแคบเกี่ยวกับ LGBTQ ก็กลับไม่ค่อยต่างจากที่เคยเป็นมาในอดีตมากนัก

ถึงแม้คนเหล่านี้จะแสดงออกถึงบทบาทและความสามารถในแง่มุมใหม่ๆ ออกมาเพียงใดก็ตาม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดมุ่งหมายของนิทรรศการครั้งนี้ก็ไม่ได้มีเป้าหมายในการเรียกร้องสิทธิของ LGBTQ แต่เพียงอย่างเดียว

หากแต่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่แสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ของพวกเขาและเธออีกด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ นิทรรศการนี้ถูกจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน หรือเดือน Pride Month ที่เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาว LGBTQ ทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองความรักที่ไร้ซึ่งข้อจำกัด

และสนับสนุนความเท่าเทียมของบทบาททางสังคมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั่นเอง

นิทรรศการ NOBRA เป็นการคัดสรรศิลปินผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างณภัทร แก้วมณี, พิษณุ ทองมี และสิปปกร เขียวสันเทียะ ร่วมกับศิลปินรับเชิญอย่างพิชัย พงศาเสาวภาคย์, ปัญจรัตน์ พลพลึก, ปัญญวัฒน์ มหันตปัญญ์ และฉัศสญาฬสจ์ อินกับจันทร์

โดยพวกเขาและเธอต่างสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาย้ำเตือนให้ผู้ชมเห็นถึงความเป็นมนุษย์มากกว่าจะตัดสินกันแค่เพศสภาพภายนอก

“ชื่อ NOBRA ของนิทรรศการนี้ ย่อมาจากประโยคหนึ่งที่ว่า “Not only … but reconized as …” (ไม่ใช่แค่… แต่ถูกตัดสิน หรือมีภาพจำว่า…) และปล่อยให้ผู้ชมเติมคำลงในช่องว่างเอาเอง”

“อย่างเช่น “NOT ONLY god”s gender, BUT RECOGNISED AS non-optional choice” (แม้นไม่ใช่เพศที่พระเจ้าสร้างขึ้น แต่ต้องยอมจำนนอย่างไม่มีทางเลือก) ซึ่งมีประเด็นแตกย่อยออกมาหลากหลายรูปแบบ”

“แต่พอพูดถึงประเด็น LGBTQ เราไม่อยากจะนำเสนอในเรื่องเพศแต่เพียงอย่างเดียว เพราะไม่อยากย้ำภาพจำว่า พอเป็น LGBTQ แล้วต้องทำแต่เรื่องพวกนี้เท่านั้น เพราะเป้าหมายในนิทรรศการนี้ไม่ใช่การเปล่งเสียงป่าวประกาศเรียกร้องหรือปลุกอุดมการณ์สิทธิเสรีทางเพศ”

“แต่เราอยากให้งานศิลปะของพวกเขาและเธอพูดถึงความเป็นมนุษย์ และตั้งใจสื่อสารกับมนุษย์ได้ทุกเพศทุกวัยอย่างอิสรเสรีมากกว่า”

นิทรรศการนี้มีศิลปินหลัก 3 คน และศิลปินรับเชิญอีก 4 คน

เริ่มต้นด้วยงานของ ณภัทร แก้วมณี ที่พูดถึงความฉาบฉวยจอมปลอมในอดีตที่ถูกเปรียบเทียบกับภาพจริงและความเสื่อมในปัจจุบัน

ผลงานของณภัทร แก้วมณี

ในขณะเดียวกัน ผลงานบางชิ้นก็มีการใส่อารมณ์ของยุคสมัยปัจจุบัน อย่างการใช้คำสบถถึงความเฮงซวยของความรัก แบบเดียวกับที่คนในยุคนี้มักจะโพสต์ลงโซเชียลมีเดียอีกด้วย

ผลงานของณภัทร แก้วมณี

ส่วนงานของ พิษณุ ทองมี ถ่ายทอดประเด็นเกี่ยวกับความผิดหวังในความรัก การยอมจำนนต่อธรรมชาติ และการปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาจิตใจ กับการสร้างงานศิลปะเพื่อที่จะเยียวยาตัวเอง

งานชุดนี้พูดถึงความหลากหลายของความรัก ไม่ใช่แค่ความรักต่างเพศเท่านั้น โดยพิษณุใช้สัญลักษณ์ของบาปกำเนิด (Original sin) แต่แทนที่จะใช้ตัวละครอาดัมกับเอวาที่เป็นคู่รักชาย-หญิง เขาเปลี่ยนเป็นอาดัมกับอาฟา ตัวละครสมมุติ ที่เป็นคู่ชายรักชายแทน

ผลงานของพิษณุ ทองมี

ปิดท้ายด้วยงานของ สิปปกร เขียวสันเทียะ ที่แสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ผ่านการตีความสัญลักษณ์ทางความเชื่อในศาสนาต่างๆ ด้วยมุมมองของคนรุ่นใหม่

ผลงานของสิปปกร เขียวสันเทียะ

ในขณะเดียวกันการตีความของเขาก็มีแง่มุมที่ออกจะยียวนอยู่ไม่น้อย เพราะสิปปกรเองก็มีร่างอวตารของเขาในชื่อ BAPHOBOY ที่ทำงานเสียดสีล้อเลียนการเมืองอย่างแสบสันด้วยเหมือนกัน

ซึ่งมีผลงานถูกนำมาแสดงในส่วนของศิลปินรับเชิญในนิทรรศการนี้ด้วย

ถึงงานของศิลปินแต่ละคนในนิทรรศการนี้จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่โดยภาพรวม ผลงานของศิลปินแต่ละคนก็มีแนวคิดและเนื้อหาเกี่ยวโยงร้อยรัดซึ่งกันและกันอยู่ วิชชาพร ต่างกลางกุลชร คิวเรเตอร์ทรานส์เจนเดอร์ประจำโครงการกล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการในครั้งนี้

“ผลงานชุดนี้ผมดึงเอาภาพจากห้วงเวลาต่างๆ ในอดีตและปัจจุบันมาทับซ้อนกันให้เกิดภาพใหม่ เพื่อทำลายความคิด สถานการณ์ และความเชื่อเก่า ด้วยการเอาความคิดของคนที่ยังมีชีวิตและหายใจอยู่ในปัจจุบันใส่เข้าไป”

ผลงานของณภัทร แก้วมณี

“ภาพเหล่านี้มีที่มาจากภาพเก่าๆ ในหอสมุดแห่งชาติ ภาพจากนิตยสารและหนังสือเก่าๆ และภาพที่เราไปถ่ายมา ส่วนเส้นและจุดแสงเรืองๆ ในภาพ มีที่มาจากแอพพลิเคชั่นในอินสตาแกรมที่เราสามารถเลือกโหมดแต้มจุดเรืองแสง หรือเขียนข้อความเรืองแสงใส่ลงไปในภาพได้”

ผลงานของพิษณุ ทองมี

“เส้นแสงนี้เป็นสัญลักษณ์ของคนในยุคสมัยปัจจุบัน พอเราใส่เส้นแสงเหล่านี้ในภาพเก่าๆ ก็จะสร้างความรู้สึกใหม่ขึ้นมาทันที เปรียบเสมือนการกระทำของคนปัจจุบันที่พยายามจะหาคำตอบหรืออธิบายเรื่องต่างๆ ในอดีตด้วยการวิเคราะห์ ตีความ หรือนำเสนอใหม่ด้วยมุมมองในยุคสมัยของตัวเอง”

ณภัทร แก้วมณี กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานของเขา

ส่วนพิษณุ ทองมี กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานของเขาว่า

“งานชุดนี้ของผมพูดเกี่ยวกับความรัก ถ้ามองดูในงานของผมจะเห็นว่าตัวละครในภาพจะมีลักษณะที่ก้ำกึ่งระหว่างเพศชายและหญิง ไม่บ่งบอกเพศชัดเจน เพราะอยากให้ผู้ชมใส่ใจกับประเด็นของความรักและความสัมพันธ์ของมนุษย์มากกว่า”

ผลงานของพิษณุ ทองมี

“งานชุดนี้เกิดจากการที่เราเติบโตมากับความรู้สึกผิดที่ไม่รู้ว่ามีที่มาจากไหน จนเรามาค้นพบภายหลังว่า จริงๆ แล้วเป็นความเชื่อที่ถูกสังคมปลูกฝังถูกกดทับ ว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ผิดบาป เราก็เลยเอาประเด็นนี้มาสร้างสรรค์เป็นผลงานขึ้นมา โดยตั้งคำถามว่า ในเมื่อพระเจ้าสร้างทุกสิ่งขึ้นมา ทำไมการเป็นตัวฉันถึงเป็นบาป เพราะฉันก็ถูกพระเจ้าสร้างขึ้นมาเหมือนกัน”

ผลงานของพิษณุ ทองมี

“งานชุดนี้เป็นเหมือนการตอบคำถามในใจของตัวเองด้วยเหมือนกัน”

ท้ายสุด สิปปกร เขียวสันเทียะ เล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานของเขาว่า

“งานชุดนี้เป็นการตีความ LGBTQ ในแง่มุมของความหลากหลาย ผมมองว่า “ความหลากหลาย” ในความคิดเราคืออะไร ก็เลยนึกถึงความหลากหลายทางความคิด ที่ส่งต่อมาทางวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นความหลากหลายทางความคิดที่ถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งทางความเชื่อ คำสอน ศาสนา หรือวัฒนธรรมต่างๆ โดยหยิบเอาความหลากหลายทางความคิดเหล่านี้มาสร้างใหม่ ด้วยการใช้สัญลักษณ์และภาพจำต่างๆ ที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ”

ผลงานของสิปปกร เขียวสันเทียะ

“ผมมองว่า รูปเคารพต่างๆ นั้นถูกสร้างขึ้นมาในทุกยุคสมัย ถูกแต่งเติมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้าจะมีใครสักคนในปัจจุบันทำขึ้นมาใหม่อีกก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดอะไร ในภาพวาดของผม ใบหน้าของตัวละครทุกตัวจะมีใบหน้าคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าตัวละครนั้นจะอยู่ในตำแหน่งไหน สูงหรือต่ำ เหมือนเป็นการบอกว่า โดยเนื้อแท้แล้ว ทุกคนต่างมีความเท่าเทียมกันทั้งหมดนั่นเอง”

ผลงานของสิปปกร เขียวสันเทียะ

เรียกได้ว่าเป็นนิทรรศการที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในแง่มุมที่แตกต่าง และมีรสชาติแปลกใหม่น่าสนใจไม่น้อย ถ้ามีโอกาสก็ไม่น่าพลาดที่จะแวะเวียนไปชมกัน

ผลงานของสิปปกร เขียวสันเทียะ

นิทรรศการ NOBRA LGBTQ Project จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม 2563 ณ Joyman Gallery ถนนมหาไชย ใกล้กับแยกสำราญราษฎร์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 06-5124-1111, 06-5124-2222, อีเมล [email protected] หรือ FB Page : Joyman Gallery, Instagram : joyman_gallery

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Joyman Gallery