เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ประมวลงานด้านวรรณกรรม

สถานการณ์โควิด-19 ช่วง “เผชิญภัย” จากที่แบ่งเป็นสามช่วงคือ เผชิญภัย ผ่อนเพลา ผ่านพ้นนั้น

ช่วงเผชิญภัยระยะท้ายนี้ มีสถาบันต่างๆ ส่งเสริมงานวรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

สมควรรวบรวมมาเสนอให้ปรากฏเท่าที่พอประมวลได้

ดังนี้

1.มูลนิธิวิชาหนังสือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โครงการ “การประพันธ์ในภาวะโรคระบาดในชาติ พ.ศ.2563” โดยจะพิจารณาคัดสรรต้นฉบับที่ส่งมาเพื่อรวบรวมตีพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่ ซึ่งผู้ได้รับคัดสรรตีพิมพ์จะได้รับค่าตอบแทนและเหรียญเกียรติคุณ

ส่งงานไปที่มูลนิธิ 177/8 ซอยพร้อมพงษ์ ถ.สุขุมวิท 39 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. 10110 ส่งผลงานได้ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น ความเรียง กวีนิพนธ์ บันทึก และสารคดี ภายใน 30 กรกฎาคมนี้

2. มูลนิธิเดียวกันนี้ (มูลนิธิวิชาหนังสือ) ยังมีโครงการพิเศษชื่อ “สมุดบันทึกโควิด-19 ประเทศไทย” ติดต่อที่ 261 ซอยสวัสดี แยก 2 ถ.สุขุมวิท 31 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. 10110

3. สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ธนาคารจิตอาสา และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. มีโครงการ “อ่านยาใจ” จัดประกวดเรื่องสั้น “วันทุกข์ที่ผ่านพ้น” ติดต่อที่สมาคมนักเขียนฯ โทร.0-2910-9565 หมดเขต 31 กรกฎาคมนี้

4. สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ในโครงการ “โควิดเปลี่ยนเรา เรื่องเล่าเปลี่ยนโลก” ผลงานเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก ทั้งเรื่องสั้น สารคดี กวีนิพนธ์ โครงการนี้สิ้นสุดแล้วเมื่อ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา

5. สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประทเศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ หัวข้อ “เปลี่ยนโรคให้เป็นเรื่อง : สู้โควิด แปรวิกฤตเป็นโอกาส”

นี่ก็สิ้นสุดรับผลงานไปแล้วเมื่อ 30 เมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังจัดมหกรรมอ่านบทกวี-วิถีใหม่ผ่านเฟซบุ๊ก ของสมาคมซึ่งผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมนี้เช่นกัน

6.กองทุนอนุสรณ์สุนทรภู่ จัดประกวด “นิราศคลาดโควิด” ความยาว 6-11 บท หมดเขต 20 มิถุนายนนี้ แบ่งเป็นกลุ่มนักเรียน กับกลุ่มนักศึกษา ประชาชน ติดต่อผ่านเฟซบุ๊กของกองทุน

7. สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดเผยแพร่งานเขียนทั้งเรื่องสั้น บทความสารคดี ไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ A4 กับกวีนิพนธ์ ฉันทลักษณ์ไม่เกิน 2 บท กวีไร้ฉันทลักษณ์ไม่เกิน 10 บรรทัด เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กในกลุ่มโรงเรียนนักเขียน หัวข้อ “โควิด…คิดอะไร”

8. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดอบรมหลักสูตรออนไลน์ฟรีสู้โควิด เรื่อง “เขียนอย่างมืออาชีพให้สื่อความตรงใจ” รับเต็มแล้ว

9. สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดประกวดภาพถ่าย “บันทึกคนไทยน้ำใจไม่มีหมด” ชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1,818,000.- ถามข้อมูลที่ 0-2209-3755, 09-7250-0058

10. เมเจอร์กรุ๊ปจัดโครงการประกวดเรื่องย่อเพื่อพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ ส่งที่ Email : [email protected]

ส่งเรื่องย่อภาพยนตร์ 3-5 หน้าใน 30 มิถุนายนนี้

11.เชียงใหม่บุ๊กแฟร์ ครั้งที่ 5 ตั้งแต่ 26 มิถุนายน-7 กรกฎาคมนี้ ณ เชียงใหม่ฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา และที่เชียงใหม่แอร์พอร์ต

12. กลุ่มเดโมเพน แฟนเพจจัดสนทนาปราศรัยเกี่ยวกับงานวรรณกรรม หัวข้อ “พละกำลังเมืองในเรื่องสั้นและบทกวี” ผ่านไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

13. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยศูนย์สังคีตศิลป์มีงานอ่านกวีผ่านสื่อ หัวข้อ “พลังกวีราวีโควิด” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ “กวีปากกาทอง”

นอกจากนี้ น่าจะยังมีงานวรรณกรรมที่สถาบันต่างๆ จัดกิจกรรมเนื่องในสถานการณ์โควิดช่วง “เผชิญภัย” นี้อยู่อีกไม่น้อย ถ้าจะมีผู้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาได้ก็จะยินดียิ่ง เพื่อประมวลไว้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์งานด้านวรรณกรรม และเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนากิจกรรมงานวรรณกรรมอันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

ส่งข้อมูลได้ที่ฝ่ายเลขาฯ อนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรม ส.ว. 599 อาคารสุขประพฤติ ถ.ประชาชื่น บางซื่อ กทม. 10800

ในส่วนบุคคลที่น่าชื่นชมคือผลงานรวมเล่มชื่อ “พิชิตโควิดด้วยจิตกวี” ของ ด.ญ.รินรัก แซ่โค้ว

งานวรรณกรรมเป็นสื่อภูมิปัญญาแขนงสำคัญของมนุษย์ที่พัฒนาสู่การรับรู้ไปอีกหลายศาสตร์สาขา ดังโวหารว่า

“จากเรื่องจริงจึงเป็นเรื่องเล่า เป็นนิทาน เป็นตำนาน เป็นบทเพลง เป็นบทกวี และบทลำนำหลากหลาย”

เหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปวัฒนธรรม”

เป็นวิถีที่พัฒนาจากวัฒนะสู่อารยะ ดังเรียกอารยธรรมของสังคมมนุษย์

งานศิลปะทั้งปวงจึงเป็นอารยวิถี โดยนัยนี้

สถานการณ์โควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ สมควรบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรทำให้บิดเบือนและคลาดเคลื่อนได้ เพื่อเป็นบทเรียนให้ได้ศึกษาเรียนรู้และทบทวนพัฒนาให้มนุษย์ร่วมดำรงอยู่กับธรรมชาติโดยไม่เสียสมดุลเหมือนเช่นวันนี้อีกต่อไป

นี่เป็นหน้าที่ของงานวรรณกรรม

ที่สำคัญยิ่ง