เราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่น Generation Lockdown | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

ใครที่เคยคิดแบบ Gen X, Y, Z, หรือ Baby Boomers ต้องคิดใหม่

เพราะ Covid-19 มาสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วงรุนแรง

ความเหลื่อมล้ำ, แตกต่างและช่องว่างระหว่าง “รุ่น” และ “วัย” หายวับไปกับตา

โควิดทำให้ทุกคนเป็น generation เดียวกันหมด

เรียกมันว่า Generation Lockdown

รุ่นพ่อแม่พี่น้อง ลุงป้าน้าอา…ไทยเทศจีนแขกฝรั่ง ล้วนกลายเป็น Generation Lockdown หมดแล้ว

จะว่าไป ประชากรทั้ง 7,000 ล้านคนทั่วโลกก็ร่วม Generation Lockdown พร้อมๆ กันหมด

เราคือ Gen วิกฤต

เราคือ Gen หน้ากาก

เราคือ Gen ทิ้งระยะห่าง

เราคือ Gen สนามมวย

เราคือ Gen คลับทองหล่อ

เราคือ Gen เคอร์ฟิว

เราคือ Gen การ์ดห้ามตก…แต่รายได้ร่วงหล่นหดหายไปต่อหน้าต่อตา

เราคือ Gen เปราะบาง

เราคือ Gen วัคซีน

เราคือ Gen ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เพราะคนอื่นนำหน้าเราไปหมดแล้ว!

รวมความแล้วเราจะกลายเป็นคนรุ่นที่มีเพื่อนมากที่สุดในโลก แต่ทุกคนยังงงอยู่ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะรอด

เพราะคน generation นี้โดน “ความป่วน” จากเทคโนโลยีกระหน่ำมาก่อนแล้ว ถูกบอกให้ปรับตัวมาหลายปี แต่ก็ทำบ้างไม่ทำบ้างเพราะยังไม่มีแรงกดดันหนักๆ ฟาดลงมา

จนพี่ Covid-19 อาละวาด

ชั่วข้ามคืนทุกคนกลายเป็นคน “รุ่นโควิด” ต้องติดอยู่กับบ้าน ต้องรักษาระยะห่าง ต้องใส่หน้ากาก ต้องเรียนและสอนผ่านคอมพ์และมือถือ

ทุกคนเข้าสู่โหมดของดิจิตอลทันทีโดยไม่มีสิทธิ์อิดเอื้อนแต่ประการใด

แต่หลังโควิดแล้วเราจะกลับไปเหมือนเดิมอีกไหม?

ขืนคิดว่าเมื่อเจ้าไวรัสเริ่มซาลง ทุกคนก็กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมมีหวัง “หมดสภาพ” จริง

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือนรกมีจริง

เพราะกูรูหลายวงการบอกว่าเราจะไม่มีทางกลับไปสู่ของเก่าได้อีกแล้ว

เพราะเมื่อ Covid-19 มา “สมรู้ร่วมคิด” กับ Disruption โดยเทคโนโลยีมา “เขย่า” มวลมนุษยชาติอย่างรุนแรงและไร้ความปรานี เราก็ไม่มีสิทธิจะไปเหมือนเดิมอีกต่อไป

ฟังกูรูในหลายเวที ท่านก็ “ขู่” เราว่าคนรุ่นนี้ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ต้อง “Unlearn – Relearn – Upskill” เพื่อความอยู่รอด

หมายถึงต้อง “ลบที่เรียนมา” …”เรียนเรื่องเก่าแบบใหม่” และ “ยกระดับทักษะ” ของตัวเองขึ้นมา

“การเรียนรู้และทักษะแห่งอนาคต” (Skills for The Future)

หนีไม่พ้นว่าทักษะใหม่อยู่ที่การศึกษา

การศึกษา “New Normal” ต้องตอบให้ได้ว่าสิ่งที่เราสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยวันนี้มันตรงกับสิ่งที่ตลาดต้องการหรือไม่

และถ้าหากนักศึกษาจบมหาวิทยาลัยปีนี้ตกลงกันไม่ต่ำกว่า 500,000 คน อะไรๆ ที่เราพูดอยู่ขณะนี้จะแก้ไขทันการหรือไม่

อีกด้านหนึ่งจำนวนคนรุ่นใหม่ที่สมัครเข้ามหาวิทยาลัยก็ลดน้อยถอยลงตามลำดับ

คนรุ่นนี้ไม่สนใจที่จะได้ปริญญา มุ่งเรียนเพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่เอาไปใช้จริงได้

นายจ้างรุ่นนี้ก็ไม่ถามหาปริญญาหรือแม้แต่เกรดที่สอบได้ของผู้สมัครงาน ถามง่ายๆ ตรงๆ ว่า

“คุณทำอะไรเป็นบ้าง?”

Generation Lockdown ต้องปรับตัวมากกว่าเพียงแค่ปรับหลักสูตร

เพราะอาจารย์เองก็อยู่ในรุ่นล็อกดาวน์เหมือนกัน ตกอยู่ในสภาพที่ต้องปรับตัวเหมือนกัน

เผลอๆ นักศึกษาจะปรับตัวได้ดีกว่าอาจารย์หลายคนด้วยซ้ำไป

นักบริหารรุ่นนี้บอกว่าเด็กจบใหม่เปลี่ยนงานไวมาก ไม่มี “ความจงรักภักดี” หรือ loyalty ต่อองค์กรเหมือนคนรุ่นก่อน

แต่เจ้าของธุรกิจต้องการคนที่ “พร้อมทำงาน”

และต้องการให้คนทำงานสามารถปรับตัวในทุกมิติเร็วที่สุด

แต่คนที่มีคุณสมบัติอย่างนั้นไม่ต้องการเป็น “ลูกจ้าง” อีกต่อไป…อยากจะเป็น “ผู้ประกอบการ” ด้วยตนเอง

กระโดดลงไปสู่สนาม startup เพื่อทดสอบความสามารถของตนเองไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อม

ความกลัวความ “ล้มเหลว” ลดน้อยลง

ความเชื่อใหม่คือ “ล้มเหลวได้ ควรล้มเหลว แต่ล้มเหลวให้เร็ว เพื่อจะได้ลุกขึ้นมา จะได้ล้มเหลวใหม่…จนกว่าจะเลิกล้มเหลวเพราะความสำเร็จจะมาเคาะประตู”

นักบริหารบางคนบอกว่าประสบการณ์กับพนักงานรุ่นใหม่คือมีความรู้ด้านวิชาการสูง แต่ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งาน

หรือไม่ความรู้ด้านวิชาการที่ร่ำเรียนมานั้นล้าสมัยเสียแล้ว…โดยที่ตัวเองไม่รู้

เสียงบ่นจากเจ้าของธุรกิจต่อคนทำงานวันนี้คือ?ความรู้ไม่เพียงพอ, ความพร้อมไม่ตรงสาย, ทำงานไม่ได้จริง

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ คำทำนายที่ว่าอีกสิบปีข้างหน้า ตำแหน่งงานจะหายไปไม่น้อยกว่า 40%

และสิ่งที่จะมาแทนคือทักษะใหม่

กับคำพยากรณ์ที่ว่าตำแหน่งงานอีก 40% ในอีกสิบปีข้างหน้านั้นทุกวันนี้ยังไม่มี

แปลว่าจะมีงานใหม่ๆ ปรากฏขึ้นมาในวันข้างหน้าโดยที่ไม่มีหลักสูตรสอนในวันนี้

ภาษาในวงการอุตสาหกรรมและการศึกษาบอกว่าจะต้องมี skill sets ใหม่ แปลว่าจะต้องมี “ชุดของทักษะใหม่” ที่วันนี้ยังไม่มีหรือยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรบ้าง

อีกด้านหนึ่งคือต้องมีความสามารถทางด้านการสื่อสารและความเข้าใจคนอื่นซึ่งผู้รู้เรียกมันว่า soft skill

ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของ hard skill

ในหลายๆ กรณี “ทักษะอ่อน” อาจสำคัญกว่า “ทักษะแข็ง” ด้วยซ้ำไป

เพราะคนเก่งด้านเทคโนโลยีอย่างเดียวอาจเอาตัวไม่รอดเพราะขาดความเข้าใจคนอื่นหรือที่เรียกว่า empathy

เข้าทำนอง “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” ของยุคดิจิตอล

จึงต้องสอนวิชา “หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม” เคียงคู่กับ coding สำหรับเด็กประถมและมัธยม

เพื่อให้ได้คนรุ่น Post-Covid ที่สามารถฟันฝ่าผลพวงที่มีผลกระทบต่อทุกวงการอย่างกว้างขวางและหนักหน่วง

มีการยกตัวอย่าง 4 ทักษะที่เข้าข่าย soft skills ที่มีความสำคัญต่อการสามารถใช้ชีวิตในโลกยุค “สับสนปั่นป่วน” ที่ “ความสามารถในการบริหารความไม่แน่นอน” ไม่น้อยไปกว่า “ความเก่งกาจด้านเทคโนโลยี”

ทักษะที่ว่านี้ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามี
1. การตัดสินใจ
2. การแก้ปัญหา
3. ความคิดสร้างสรรค์
4. การสื่อสาร

ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้อีกมิติหนึ่งเพื่อให้เกิดความ “คล่องตัว” ที่เรียกว่า agility ในยุคที่ไม่มีตำราไหนสามารถสอนได้ทันกับความปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

1. ด้านดิจิตอล
2. ด้านการเงิน
3. ด้านสังคม

ปัญหาขณะนี้ก็คือ Covid-19 ได้ทำลายความสามารถในการปรับตัวของคนเป็นจำนวนมาก

เดิมที่มีปัญหาเพราะขาดการปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว พอเกิดโรคระบาดที่ลามไปทั่วโลกศักยภาพเกือบทุกด้านก็ถูกทำลายล้างลงไปหมด

เคราะซ้ำ, กรรมซัด

แม้โควิดจะมาช่วยบังคับให้ทุกคนต้องเข้าสู่เส้นทางออนไลน์พร้อมๆ กันแต่หลายวงการก็จะไม่สามารถฝ่าข้ามวิกฤตครั้งนี้

ธุรกิจและกิจกรรมหลายอย่างจะต้องล้มหายตายจาก

ที่พอเอาตัวรอดได้บ้างก็จะอ่อนแอ ไร้พลังที่จะผลักดันตัวเองให้ลุกขึ้นวิ่งได้อย่างรวดเร็วพอเพียง

แม้ธุรกิจยักษ์จะรอดแต่ก็จะต้องเผชิญกับแบบแผนธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้ชะตากรรมตัวเอง

อีกทั้งอำนาจซื้อของคนทั้งสังคมทุกระดับจะหดตัวอย่างรุนแรง

ธุรกิจหรือกิจกรรมใหม่ยังไม่ทันตั้งไข่ได้ อีกทั้งที่พอจะตั้งตัวได้ก็ไม่มีสภาพคล่องทางการเงินและนโยบายรัฐที่จะสนับสนุนเพียงพอ

ภาษาวงการ startup เรียกสภาพขาดสภาพคล่องเช่นนี้ว่า “รันเวย์” สั้นลงเพราะระดมทุนได้ยากขึ้น

เมื่อรันเวย์สั้นลง เครื่องบินก็เทกออฟยาก หรือหากยังยืนยันที่จะบินขึ้นจากทางวิ่งที่สั้นก็อาจจะเชิดหัวไม่ขึ้น เครื่องบินก็อาจจะโหม่งโลกเสียก่อน

หากรันเวย์สั้นลงจริง ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ก็ต้องบินด้วยเครื่องบินลำเล็กลง

นั่นหมายถึงการใช้ “วิชาตัวเบา” เพื่อแบกน้ำหนักน้อยลง เครื่องบินเล็กจะได้เชิดหัวขึ้นได้

ไม่มีอะไรน่าอิจฉาคนรุ่น Generation Lockdown

แต่เมื่อคนทั้งโลกไม่ว่าสัญชาติไหน เชื้อชาติใดก็เป็น “คนรุ่นล็อกดาวน์” เหมือนกันก็ต้องถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หายากยิ่ง

จะเกิดมาอีกกี่ครั้งก็ไม่สามารถประสบพบเห็นความสับสนอลหม่านวุ่นวายระดับโลกได้เหมือนวันนี้จริงๆ!