E-DUANG : ขว้างงูไม่พ้นคอ กรณี”หมุดคณะราษฎร”หาย

ไม่ว่าคำแถลงจาก พลเรือน ไม่ว่าคำแถลงจาก ตำรวจ ไม่ว่าคำแถลงจาก ทหาร ในกรณี”หมุดคณะราษฎร”

ก่อให้เกิด “นัยประหวัด”

เป็นนัยประหวัดไปยังสำนวนและคำพังเพยไทยแต่โบราณกาลว่า

“ขว้างงูไม่พ้นคอ”

ยิ่งถามหา “เจ้าของทรัพย์” ยิ่งถามหาความหมายของ”มรดก”

ยิ่งถามว่าความเป็น”ประวัติศาสตร์”

“งู” ยิ่งพันและรัด “คอ” แน่น

นอกจากคำอธิบายอันกำกวมจะวนเวียนอยู่โดยรอบลำคอแล้ว ท่าทีและการปฏิบัติต่อยิ่งทำให้เกิด”รูปธรรม”เด่นชัด

ระหว่าง”หมุดคณะราษฎร” กับ”หมุดหน้าใส”

 

ทาง 1 ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า “หมุดคณะราษฎร” หายไปจากที่เคยวางอยู่เมื่อปี 2479 ได้อย่างไร

ทาง 1 ท่าทีต่อ”หมุดหน้าใส”ไม่กระมิดกระเมี้ยน

เห็นได้จากการนำเอา “รั้วเหล็ก” มากั้นอยู่ในพื้นที่อันแน่นอน ห้ามล่วงล้ำก้ำเกิน

ใครไปถ่าย”เซลฟี่”ก็ต้อง”ลบ”

ทั้งๆที่ไม่รู้ว่า “หมุดหน้าใส” เข้าไปแทนที่”หมุดคณะราษฎร”ได้อย่างไรและโดยใคร

แต่ให้ความสำคัญอย่างเป็นพิเศษ

ทั้งๆที่เป็นการแทนที่ในเดือนเมษายน 2560 ขณะที่ของเก่าอยู่มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2479

“หมุดหน้าใส”จึงมีความเหนือกว่า”หมุดคณะราษฎร”

 

มีการตั้งข้อสังเกตมายาวนานอย่างยิ่งว่า ต่อคนๆหนึ่ง ต่อคณะๆหนึ่งเรามีบรรทัดฐานอะไรในการตรวจสอบ

จาก”คำพูด”ของเขา

คำพูดของคนจะพูดอย่างไรก็ได้ ไพเราะเสนาะหูอย่างไรก็ได้ ฟังแล้วน่ารื่นรมย์

แต่เมื่อใดที่เขาลงมือ”ปฏิบัติ”ก็จะเห็น

เห็นว่าเขาทำอย่างที่พูดหรือไม่ เห็นว่าเขาเชื่อตามสิ่งที่เขาได้พูดออกมาหรือไม่

หากไม่ลงมือทำ “คำพูด” นั่นแหละจะมา “รัดคอ”

เมื่อท่านพูด คนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำ คนจะเชื่อ