ธงทอง จันทรางศุ | 65 หยกๆ 66 หย่อนๆ

ธงทอง จันทรางศุ

ผมเขียนบทความสำหรับมติชนสุดสัปดาห์ตอนนี้ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของผม ทำให้ปฏิทินชีวิตของผมเดินทางมาจนถึงวันที่อายุครบ 65 ปีบริบูรณ์เข้าจนได้ และตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ตามสำนวนไทยก็ต้องบอกว่าอายุผมย่างเข้า 66 ปีแล้ว

ไม่ใช่วัย 15 หยกๆ 16 หย่อนๆ ที่กำลังขบเผาะ น่าคบหาดูใจ

หากแต่เป็นวัย 65 หยกๆ 66 หย่อนๆ ที่กำลังชำรุดและชราลงไปเรื่อยๆ

ข้อนี้เราก็ไม่ว่ากันนะครับ ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ ใครเลยจะไปหยุดยั้งเวลาไม่ให้เดินต่อไปได้ เด็กอายุ 15 ในวันนี้ถ้าไม่ตายเสียก่อน สักวันหนึ่งอีก 50 ปีข้างหน้า เขาก็ต้องอายุเท่าผมในวันนี้เข้าจนได้

วันนี้ผมขออนุญาตทบทวนชีวิตในวัย 65 ปีเสียหน่อยว่าในทัศนะของผม มีเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญบ้าง และเรื่องอะไรที่ไม่ควรไปถือสาหาความ

เรื่องสำคัญนั้น ผมเห็นว่ามีอยู่ด้วยกันสามเรื่องครับ

เรื่องแรก คือความจำเป็นที่สมควรจะต้องมีพอกินพอใช้ตามอัตภาพ

ข้อนี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย เพราะอย่าว่าแต่คนในวัยเกษียณอย่างผมเลย แม้คนในวัยทำงานที่ยังได้เงินรายวันรายเดือนอยู่เป็นประจำก็ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง คาถาที่พร่ำบ่นว่า ให้เตรียมเงินออมไว้กินไว้ใช้ตอนที่ตัวเองหมดแรงทำงานแล้ว จึงเป็นความจริงที่ทุกคนอยากทำ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้อย่างนั้น

เรื่องที่จะให้มีรายได้เพิ่มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และออกจะอยู่นอกเหนือความควบคุมของคนทำงานหรือผู้ใช้แรงงานนั้นเอง เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเสียเป็นส่วนใหญ่ เว้นเสียแต่จะแนะนำว่าให้ขยันทำงานเพิ่มมากขึ้น หรือใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการหาลำไพ่พิเศษ

อะไรทำนองนั้น

แต่สิ่งที่ทำได้แน่และผมเห็นว่าคนไทยหลายคนควรจะพิจารณาจัดการกับตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร นั่นคือเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้ลดลง

ลำดับต้นก็ลองนึกถึงการซื้อหวยหรือล็อตเตอรี่เดือนละสองครั้ง การกินเหล้าย้อมใจทุกวันตอนเย็น หรือค่าใช้จ่ายอย่างอื่นทำนองเดียวกันนี้ก่อนเป็นไรครับ

เมื่อไม่กี่วันมานี้เองผมอ่านข่าวว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่งซื้อล็อตเตอรี่แต่ละงวดเป็นเงินนับพันนับหมื่นบาท เสียเงินทองไปเยอะแยะแต่ไม่เคยได้รางวัลใหญ่อะไรสักที ถูกแต่เลขท้ายเล็กๆ น้อยๆ อยู่นั่น วันหนึ่งเกิดได้ดวงตาเห็นธรรม เลิกซื้อล็อตเตอรี่ขึ้นมาเสีย แล้วเอาเงินนั้นมาเก็บรวบรวมไว้ ผ่านไปเพียงแค่ปีสองปีก็ได้เงินออมเป็นกอบเป็นกำ ได้ข่าวว่ากำลังจะซื้อรถเบนซ์อยู่ในเร็วๆ นี้

สำหรับคนทำงานราชการและมีบำนาญอย่างผมก็พอเอาตัวรอดครับ ทำความเข้าใจเสียว่าตอนเป็นข้าราชการนั้นหลวงท่านจ่ายเงินเราน้อยหน่อย สู้เพื่อนที่ทำงานภาคเอกชนไม่ได้ แต่ตอนจบของเรื่องท่านก็เลี้ยงเราด้วยเงินบำนาญไปจนกว่าเราจะตาย

แต่บำนาญนี้ก็น้อยกว่าเงินเดือนเยอะนะครับ คนที่มีบำนาญอย่างเดียวก็ต้องใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง ตามฐานานุรูปของตัวเองในวัยเกษียณแล้ว เวลาไปงานแต่งงาน งานศพก็ไม่จำเป็นต้อง “ใส่ซอง” ให้มากเท่ากับเวลาที่อยู่ในตำแหน่งราชการ

ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ ท่องคาถานี้ไว้ให้แม่นเลยครับ

ว่ากันโดยหลักคือคนในวัยไม่ทำงานแล้วควรมีเงินออมเป็นของตัวเองจำนวนพอสมควร การคิดยืมจมูกคนอื่นหายใจคือการพึ่งพาเงินทองการเลี้ยงดูจากผู้ที่มีรายได้ที่เป็นลูกหลานนั้น นับวันก็จะมีความยุ่งยากมากขึ้น เพราะเราผู้เป็นคนแก่ไม่ยอมตายเสียที ไม่เหมือนสมัยก่อนที่คนแก่ตายง่ายเหลือเกิน

สังคมเรากำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุไงครับ การที่ลูกหนึ่งคนเลี้ยงดูพ่อแม่ที่เป็นคนชราสองคน แค่คิดก็พอเห็นภาพแล้วว่า ถ้าไม่ใช่เศรษฐีจริงมาแต่ดั้งเดิม ลูกก็หืดขึ้นคออยู่เหมือนกัน

ส่วนเรื่องที่สองก็เป็นเรื่องของสุขภาพ ข้อนี้ก็เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพออายุล่วงเข้า 60 กว่าปีแล้ว สังขารก็มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา หมอได้เตือนเราอยู่เสมอว่าให้ออกกำลังกายบ้าง กินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพบ้าง น้ำหนักตัวอย่าให้มากเกินไป อย่ากินเค็ม อย่ากินหวาน

โอ๊ย ผมท่องได้ทุกข้อเลยครับ แต่ทำไม่ได้สักข้อ

อันนี้จำเลยยอมรับสารภาพว่า ผมมันไม่ดี ผมมันแตกปลายน่ะ

เพราะฉะนั้น ผมจึงชื่นชมเสมอที่เห็นใครทำได้ตามกติกาดังว่า แต่ก็มีต้องเตือนกันบ้างเหมือนกันนะครับ เพราะเพื่อนบางคนออกกำลังกายด้วยความสำคัญผิดว่าตัวเองยังเยาว์วัยอยู่ แถมยังเสียงแข็งอีกว่า ตอนอายุ 45 ฉันยังทำได้นี่นา ทำไมตอน 65 จะทำไม่ได้

ก็ไม่ได้น่ะสิครับ ผมเห็นมานักต่อนักแล้วที่เพื่อนผมออกกำลังกายแบบไม่บันยะบันยัง แล้วก็ล้มคว่ำคะมำหงายกันทุกทีไป

การไปตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีก็เป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติ เผื่อมีโรคภัยอะไรจะได้ค้นพบได้เร็วก่อนที่จะสายเกินแก้

คราวนี้ก็มาถึงเรื่องที่สาม ผมอธิบายกับตัวเองอย่างง่ายๆ ว่า คือการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว นอกจากสุขภาพกายต้องดีแล้ว สุขภาพจิตก็ต้องดีด้วย

ผมเตือนตนอยู่เสมอว่า เวลาเราเห็นอะไรที่ไม่ถูกใจ และเราไม่มีหนทางหรือไม่มีปัญญาจะไปกะเกณฑ์ให้คนอื่นปรับปรุงแก้ไขให้ได้ดังใจของเราแล้ว หนทางที่ดีที่สุดก็คือการทำใจของเราเสียใหม่ ยอมรับความจริงนั้น แล้วอย่าไปทุกข์โศกอกตรมกับมัน พูดภาษาพระคือปล่อยวางและทำใจให้ว่างเสีย

ทุกวันนี้ดูทีวีหรืออ่านหนังสือพิมพ์ก็ต้องทำใจอยู่ทุกวันครับ จะมีบ่นพึมพำบ้างก็อยู่แถวๆ นี้ แต่บ่นแล้วก็บ่นไปนะครับ บ่นแล้วไม่เกิดอะไรขึ้นก็วางไว้ตรงนั้น

เอาใจของเราไปท่องเที่ยวหาความบันเทิงอย่างอื่นดีกว่า อ่านหนังสือ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ แหงนดูเมฆสีต่างๆ ตอนพระอาทิตย์จะตกดิน ดูลูกหมาวิ่งไปวิ่งมา ทำกับข้าว ฯลฯ

ความบันเทิงอันไหนราคาแพงก็อย่าไปตอแย เช่น ทำกับข้าวก็อย่าไปคิดหาวัตถุดิบขนาดเนื้อวากิวจากญี่ปุ่น เอาแต่พอสมฐานะของเรา เนื้อโคขุนบ้านเราก็ไม่เลวครับ ปลาแซลมอนไม่มี ปลาช่อนปลาดุกก็ยังพอหาได้ จะผัดผักก็ไม่ต้องนึกถึงคะน้าฮ่องกง ผักบ้านเรามีออกถมเถไป ซื้อให้ถูกฤดูกาลก็พอคบหากันได้

เรื่องทำใจให้ถูกทางนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับ เพราะความสุขหรือความทุกข์นี้อันที่จริงก็สำเร็จอยู่ที่ใจเราทั้งนั้น

เด็ดยิ่งไปกว่านั้น คือการตระหนักรับรู้ว่าไม่มีอะไรคงที่อยู่ได้ตลอดกาล

ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป จะต่างกันก็ตรงที่ช้าหรือเร็วเท่านั้น

นี่รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรคที่พวกเราทั้งรักทั้งชัง ทั้งหวานและขมขื่นอยู่ด้วยนะครับ

จะเป็นลุง เป็นป๋า เป็นอา เป็นเฮียอะไร ตอนจบก็ไม่หายใจทั้งนั้นครับ

ไม่มีใครเป็นรัฐมนตรีไปได้ตลอดกาล

คนที่เก่งแสนเก่งแค่ไหน คนที่ห่วยแสนห่วยแค่ไหน ลงท้ายก็ตายหมด รวมทั้งคนเขียนหนังสือคนนี้ด้วย

ว่าแต่ตอนที่ยังไม่ตาย เย็นนี้จะกินอะไรดีครับ

เรื่องกินเป็นเรื่องของเรา ส่วนการรักษาปล่อยเป็นหน้าที่ของหมอนะครับ

แหะ แหะ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่