โลกร้อนเพราะมือเรา : มุมบวกๆ ในวันแดดจ้า

หน้าร้อนปีนี้ มีความรู้สึกว่าอากาศร้อนแสบสันต์ เดินกลางแดดเปรี้ยงๆ ผิวหนังร้อนผ่าว เหมือนเฉียดใกล้กองไฟ

แต่เมื่อดูสถิติของกรมอุตุฯ หน้าร้อนปีนี้อุณหภูมิต่ำกว่าปีที่แล้วและปีก่อนๆ เสียด้วยซ้ำไป

ต้นเมษายนปี 2559 อุณหภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานครเฉลี่ยอยู่ 35-39 องศาเซลเซียส มาปีนี้ ในช่วงเดียวกันอุณหภูมิของพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ที่ 32-35 องศาเซลเซียส

แสดงว่าตัวเลขทางวิทยาศาสตร์กับความรู้สึกของตัวเรา เอาไปเปรียบกันไม่ได้

 

ทุกหน้าร้อน แม้อากาศร้อนอบอ้าวแค่ไหน แต่ถ้าปล่อยใจให้ว่างๆ ลองหันไปมองสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว มีมุมดีๆ ให้เห็นเป็นสุขใจอยู่มากมาย อย่างเช่น ดอกไม้ผลิบานหลากสีสัน ชูช่อประชันกลางแดดจ้า

ในหมู่บ้านสัมมากร ถนนรามคำแหง มีหลายบ้านปลูกต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ เฟื่องฟ้า ราชพฤกษ์ เหลืองปรีดียาธร หางนกยูง ต้นไม้เหล่านี้แข่งกันออกดอกบานสะพรั่ง เหมือนอยู่กลางสวนใหญ่

ออกมาปากซอย ต้นชุมพูพันธุ์ทิพย์ของบริษัทสัมมากรปลูกกลางเกาะ ผลิดอกสวยงาม ยิ่งมีดอกสีชมพูร่วงหล่นกลางถนน ก็สวยไปอีกแบบ

อีกจุด เกาะกลางถนนของเขตสะพานสูง ปลูกเฟื่องฟ้าหลากสี เบ่งบานสะพรั่ง ช่วยทำให้คนติดแหง็กอยู่กลางถนนเพราะจราจรจลาจลลดอาการเครียดๆ ไปได้ไม่น้อย

บ้านเรามีต้นไม้สวยๆ ออกดอกงามๆ เยอะแยะ แต่น่าสงสัยทำไมจึงไม่ส่งเสริมการปลูกในพื้นที่สาธารณะให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ บนถนนทุกสาย ริมทางรถไฟ สถานที่ราชการทุกแห่ง

รัฐบาลยุค คสช. น่าจะเริ่มต้นที่ทำเนียบ หรือกองทัพบก ปลูกต้นราชพฤกษ์ให้เหลืองอร่าม ไม่ต้องไปจ้างบริษัททำสวนให้เปลืองงบฯ

 

ไปเรื่องที่สองดีกว่า ต่อเนื่องจากคราวก่อนโน้น เป็นเรื่องโครงการประชารัฐของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูง 8 ชั้น 2 หลังในซอยพหลโยธิน 11 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

โครงการนี้เชื่อได้ว่าไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างเป็นระบบ

เพราะถ้ามี ชุมชนโดยรอบโครงการนี้คงไม่รุมคัดค้านกันกระหน่ำอย่างที่เป็นอยู่

โครงการคอนโดฯ ประชารัฐ เจาะจงเอาพื้นที่ใจกลางเมืองซึ่งมีชุมชนล้อมรอบเป็นจุดก่อสร้าง

พื้นที่ดังกล่าวเป็นซอยแคบๆ รถวิ่งสวนยังต้องหลีกทางกันอลหม่าน ถ้าโครงการนี้ผุดออกมา นอกจากการจราจรจะปั่นป่วนวุ่นวายแล้ว สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงจากควันพิษ ขยะและน้ำเสีย

น่าสงสัยทำไมหน่วยรัฐจึงคิดโครงการที่สร้างผลกระทบให้กับชุมชนในทางลบ

วันนี้ แม้จะมีผู้คนคัดค้านต่อต้านโครงการ แต่ยังมีความพยายามผลักดันแท่งคอนกรีตสองแท่งโผล่ขึ้นกลางซอยพหลโยธิน 11 ให้ได้

ความพยายามเช่นนี้ จะขัดกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2560 ที่เพิ่งประกาศใช้หรือไม่ คงต้องมาดูกัน

 

ในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

มาตรา 43 (2) บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

(3) บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

หมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ มาตรา 57(2) รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการและใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 58 การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชนและจัดให้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง

ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องมีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

ผู้บริหารโครงการประชารัฐ ซอยพหลโยธิน 11 อ่านทั้ง 3 มาตราของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าสุดแล้วมีความเห็นอย่างไร รีบแจ้งให้ชาวชุมชนรับทราบโดยด่วน

 

เรื่องสุดท้าย ขอข้ามโลกไปที่เมืองโมกัว ประเทศโคลัมเบีย ที่นั่นเกิดเหตุโคลนถล่มหลังฝนถล่มหนักหน่วงมีผู้เสียชีวิตกว่า 230 คน

ตามข่าวฝนตกจนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเอ่อสูง กระแสน้ำเชี่ยวกรากชักลากโคลนไหลทะลักท่วมเมืองขณะที่ผู้คนนอนหลับใหล

สถานการณ์เป็นไปอย่างฉับพลัน ไม่มีการแจ้งเหตุล่วงหน้า ไม่มีหน่วยฉุกเฉินใดไปทันท่วงที

โคลนกลบเมืองจนจมมิด นอกจากคนเสียชีวิตแล้ว ยังมีอีกกว่า 200 คนสูญหาย

ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคม ชาวเปรูเจอฝนถล่มเกิดน้ำท่วมใหญ่ตาย 94 คน อีกนับแสนไร้ที่อยู่อาศัย

ทั้งโคลัมเบียและเปรูอยู่แนวเส้นศูนย์สูตร เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงภัยต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ

เหตุการณ์ทั้งสองแห่ง นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากปรากฏการณ์เอ็นโซ่ (El Nino southern Oscillation) ผิวน้ำทะเลเย็นกว่าปกติ ทำให้สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน

ฝ่ายรัฐบาลเปรูและโคลัมเบียโยนบาปให้เป็นเพราะปรากฏการณ์เอลนิโญ มาจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลอุ่นผิดปกติจึงเกิดฝนตกหนัก

ปรากฏการณ์ลานิญา เอ็นโซ่ หรือ เอลนิโญ ยังไม่มีใครตอบได้ชัด แต่ที่แน่ๆ คือสภาวะภูมิอากาศโลกเข้าขั้นวิปริต