แมลงวันในไร่ส้ม /งบฯ ใช้สู้โควิดหมด จุดชนวน ‘ข่าวร้อน’ ทวง ‘เลือกตั้งท้องถิ่น’

แมลงวันในไร่ส้ม

งบฯ ใช้สู้โควิดหมด

จุดชนวน ‘ข่าวร้อน’

ทวง ‘เลือกตั้งท้องถิ่น’

 

เป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาเมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นว่า ต้องไปถามกระทรวงมหาดไทย (มท.) ตามขั้นตอนแล้วต้องมีความพร้อมในเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ

ต้องมีความพร้อมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ความพร้อมของประชาชน และความพร้อมในส่วนของงบประมาณ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ นายวิษณุเอ่ยถึงงบประมาณขึ้นมาว่า ก่อนหน้านี้พร้อมแล้ว แต่มีการดึงไปใช้ในเรื่องของโควิด-19 ส่วนจะต้องกันงบฯ ใหม่หรือไม่นั้น ส่วนใหญ่แล้วค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ท้องถิ่นนั้นๆ แต่เราจะรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายของส่วนกลางของ กกต.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องมีการกันงบประมาณใหม่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ในส่วนกลางนั้นใช้งบฯ กลาง และอย่างน้อยก็มีงบฯ ที่เพิ่งมีการปรับเข้ามา ตามร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ พ.ศ.2563 แต่ท้องถิ่นไม่มีงบฯ กลาง ไม่รู้ว่าจะโยกออกได้หรือไม่

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ไม่ได้หมายความว่าเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องใหญ่สุด เพียงแต่บอกว่าต้องพิจารณาอะไรบ้าง หาก มท.มีความพร้อม ก็ต้องมีการเสนอมาที่รัฐบาล เพื่อแจ้ง กกต.ให้กำหนดวันเลือกตั้ง

วันนี้แค่จะมีการเลือกตั้งซ่อมที่ลำปางเขต 4 ก็มีปัญหาแล้ว เพราะมีการแจ้งมาที่ตนว่าเพียงส่งเจ้าหน้าที่ไปเตรียมการเลือกตั้งก็ถูกกักตัวไว้ 14 วัน ดังนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งด้วยเช่นกัน

การให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ ซึ่งระบุว่างบประมาณเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีแล้ว เพราะเอาไปต่อสู้โควิดหมด จุดชนวนให้มีการทวงถามถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างดุเดือดร้อนแรง

 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ ระบุว่า รัฐบาลนี้ถ่วงเวลาไม่ให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมานานเต็มทีแล้ว และคนที่ออกมาทำหน้าที่โยกโย้บ่ายเบี่ยงเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้งตัวเอ้ก็คือรองวิษณุ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 252 บัญญัติให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ส่วนผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น จะมียกเว้นได้บ้างก็ในกรณี อปท.รูปแบบพิเศษเท่านั้น

จึงกล่าวได้ว่า อปท.เกือบทั้งหมดต้องเชื่อมโยงกับการเลือกตั้ง ไม่เลือกตั้งไม่ได้

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ก็หลายปีแล้วที่ไม่มีการเลือกตั้งเสียที ถ้านับรวมถึงเวลาตั้งแต่ อปท.ส่วนใหญ่ครบวาระหรือถูกปลดออก ก็ยิ่งหลายปี เท่ากับรัฐบาล คสช.และรัฐบาลนี้ซึ่งมีนายกฯ คนเดียวกันจงใจไม่ทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกันเลย

การอ้างว่างบประมาณหมดแล้ว ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้แบบไม่มีกำหนด เป็นการอ้างแบบข้างๆ คูๆ ยิ่งอ้างสถานการณ์โควิดยิ่งเลอะเทอะไปใหญ่

อย่างนี้ถ้ารัฐบาลไม่อยากทำอะไรก็อ้างโควิด-19 ได้หมด

มีช่องทางมากมายที่จะหางบประมาณมาใช้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบควบคุมการใช้งบประมาณของท้องถิ่นหลายแสนล้านบาทให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนและยังป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ดีกว่าปล่อยให้อยู่ใต้อำนาจกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลอย่างที่เป็นอยู่

สังคมไทยปล่อยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตกอยู่ใต้การกำกับบงการของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจที่ตรวจสอบควบคุมไม่ได้ ใช้งบประมาณกันตามความต้องการของผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะฟังเสียงประชาชนมานานเกินไปแล้ว

ในหลายปีมานี้ การที่รัฐบาลสามารถสั่ง อปท.ได้ตามอำเภอใจ ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ น่าจะเกิดเป็นความรั่วไหล สูญเปล่านับเป็นแสนล้าน มากกว่างบประมาณที่จะใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นมากมายหลายเท่า

ถึงเวลาที่เราจะบอก พล.อ.ประยุทธ์ และรองวิษณุว่า “พอกันที”

นั่นคือการสวนหมัดอย่างทันควันจากอดีต ส.ส.ฉะเชิงเทราหลายสมัย

 

ในปัญหาเรื่องงบประมาณ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงมหาดไทย ส่วน กกต.เป็นหน่วยงานที่เข้าไปกำกับดูแล จึงใช้งบประมาณไม่มาก

เรามีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณอยู่แล้ว ส่วนจะเลือกตั้งท้องถิ่นในส่วนใดก่อนหลังก็อยู่ที่รัฐบาลกำหนด และกระทรวงมหาดไทยจะต้องของบประมาณ ที่ผ่านมาเคยใช้งบประมาณราว 3-4 พันล้านบาท

“งบประมาณจะอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ส่วนของ กกต.ได้รับการจัดสรรงบฯ ที่จะใช้ในการกำกับดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่นในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 800 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวยังคงอยู่ และ กกต.พร้อมที่จะดำเนินการทันทีที่รัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น”

คำยืนยันของเลขาธิการ กกต. ทำให้ประเด็นงบฯ หมด ถูกตีตกไป

ขณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้จะมีการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่งในปีนี้ โดยขอให้รอเวลาก่อน

ส่วนที่มีการระบุว่างบประมาณในการเลือกตั้งท้องถิ่นถูกโยกมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 และไม่เพียงพอนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังพิจารณาดำเนินการว่าทำได้หรือไม่ได้ พร้อมปฏิเสธว่าจะจัดการเลือกตั้งนำร่องในพื้นที่ใดก่อน ส่วนจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ ขอพิจารณาอีกที

 

ในขณะที่สื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ ต่างเสนอข่าวการแสดงความเห็นของนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ที่เห็นว่า รัฐบาลจงใจ “แช่แข็ง” การเลือกตั้งท้องถิ่น

ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ อยู่ภายใต้การรักษาการอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2557 ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้มีการระบุว่า จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังการเลือกตั้งทั่วไป 26 มีนาคม 2562 โดยอาจจะเป็นเดือนตุลาคม 2562 มีการออกกฎหมายมาเตรียมพร้อม แต่แล้วก็เงียบหายไป

ขณะที่พรรคการเมืองหลายพรรคประกาศตัวลงแข่งขัน และบางพรรคประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งทั่วไป มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็น “ตัวเต็ง” ในสนามท้องถิ่นด้วย

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า กลุ่มอำนาจอาจจะกลัวความเพลี่ยงพล้ำในสนามท้องถิ่น จึงดึงเกม ยัดใส่ช่องฟรีซไว้ก่อน

ก่อนจะเกิดรายการ “โป๊ะแตก” จากกรณี “งบฯ เอาไปสู้โควิดหมด” กลายเป็นประเด็นใหญ่ในกระแสการเมืองประเทศ

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่