อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ‘เปลือกปูเสฉวน’ กับการเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตให้กลายเป็นงานศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่ผ่านๆ มา เราเคยกล่าวถึงศิลปินอย่าง เดเมียน เฮิร์สต์ ที่หยิบเอาซากศพของสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว (หรือถูกทำให้ตาย) มาทำเป็นงานศิลปะจนเป็นที่อื้อฉาวอย่างยิ่ง

ในตอนนี้เราเลยขอพูดถึงอะไรที่สดใสและมีชีวิตชีวากว่านั้น

นั่นก็คือการเอาสัตว์หรือสิ่งมีชีวิต ที่ยังมีชีวิตและมีลมหายใจ มาทำให้กลายเป็นงานศิลปะ ผลงานศิลปะที่ว่าเป็นของศิลปินที่มีชื่อว่า อากิ อิโนมาตะ (Aki Inomata)

ศิลปินสาวชาวญี่ปุ่น ผู้ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นที่เมืองโตเกียว เธอจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขา Inter Media Art ที่มหาวิทยาลัย Tokyo University of the Arts

หัวข้อหลักในการทำงานศิลปะของเธอคือการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เธอให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ (ที่ไม่ใช่มนุษย์) ที่แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็สะท้อนมุมมองต่อชีวิตหรือต่อโลกใบนี้ของศิลปินได้อย่างน่าสนใจ

การทำงานศิลปะของเธอเป็นการนำเสนอมุมมองของโลกใบนี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งของสังคมญี่ปุ่น) จากสายตาของมนุษย์ (หรือตัวศิลปินเอง) โดยมองผ่านสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตที่เธอเลือกมา

พูดง่ายๆ ก็คือ มันเกี่ยวกับเรื่องราวของโลกมนุษย์ที่แสดงออกผ่านพฤติกรรมของสัตว์และสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นนั่นเอง

กระบวนการในการทำงานศิลปะของเธอเริ่มต้นจากการศึกษาและตั้งคำถามต่อวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตบางชนิดอย่างลึกซึ้ง และหาหนทางในการเข้าถึงพวกมันด้วยการแสดงออกทางสุนทรียะ

อีกทั้งยังเป็นการสำรวจโลกของมนุษย์ผ่านสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อเป็นการสะท้อนสภาวะในชีวิตของตนเอง และยังเป็นการรื้อฟื้นความรู้สึกที่แท้จริงของเธอที่มีต่อความเป็นจริงในโลกนี้อีกด้วย

อ้อ แล้วเธอไม่ได้หยิบเอาสัตว์เหล่านั้นมาทำเป็นผลงานศิลปะแบบดาษดื่นธรรมดา อย่างการเอาช้าง หรือจระเข้ มาทาสีให้กลายเป็นแพนด้าอะไรเทือกนั้นหรอกนะ!

หากแต่เธอศึกษาวงจรชีวิตและพฤติกรรมของสัตว์เหล่านั้นอย่างใกล้ชิด และใช้มันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเธอได้อย่างแปลกใหม่เป็นอย่างยิ่ง

ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักที่สุดชุดหนึ่งของเธอคือ Why Not Hand Over a “Shelter” to Hermit Crabs? (2009-2016)

ซึ่งแรกเริ่มเดิมที อิโนมาตะได้แนวคิดของผลงานชิ้นนี้จากการที่เธอได้เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นในวาระการรื้อถอนอาคารสถานทูตฝรั่งเศสประจำญี่ปุ่นในปี 2009 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสถานภาพและสัญชาติของพื้นที่จากฝรั่งเศส กลายเป็นพื้นที่ของญี่ปุ่น หลังจากถูกใช้งานมาแล้ว 54 ปี

เธอนำแนวคิดของการเปลี่ยนสถานภาพของพื้นที่หนึ่ง จากสัญชาติหนึ่งไปสู่อีกสัญชาติหนึ่ง เชื่อมโยงเข้ากับการเปลี่ยนเปลือกหอยของปูเสฉวน

เธออุปมาการเปลี่ยนเปลือกหอยของปูเสฉวน เข้ากับการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงถิ่นฐานที่อยู่อาศัยบนโลกของมนุษย์

ในขณะเดียวกัน วงจรชีวิตที่ว่านี้ของปูเสฉวน ก็สะท้อนภาพของปัญหาผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ที่โยกย้ายเปลี่ยนแปลงถิ่นฐานเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีกว่าเดิมอีกด้วย

“ในภาษาญี่ปุ่น ปูเสฉวน เรียกว่า “ยาโดการิ” (Yadokari) ที่มีความหมายตามตัวอักษรว่า “บางคนที่อาศัยอยู่ในที่อยู่ชั่วคราว”

ซึ่งสำนวนของญี่ปุ่นที่ว่านี้กับแนวความคิดของผลงานชิ้นนี้มีความใกล้ชิดกันอย่างมาก”

“ฉันเชื่อมโยงการศึกษาวงจรชีวิตของปูเสฉวนเข้ากับการปรับตัวของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเสาะหาแผ่นดินใหม่, การอพยพลี้ภัย หรือการโยกย้ายที่อยู่ ผลงานชิ้นนี้ฉันต้องการสำรวจว่ามนุษย์เราสามารถเลือกสถานที่หรือประเทศที่เราอยู่ได้จริงๆ หรือไม่?

ตามธรรมชาติ ปูเสฉวนจะเปลี่ยนเปลือกเมื่อมันโตขึ้น แต่บางครั้งมันก็ถูกแย่งเปลือกหอยโดยปูเสฉวนที่แข็งแรงกว่า ฉันทำเปลือกหอยจำลองขึ้นและทิ้งเอาไว้ให้ปูเสฉวน ถ้ามันชอบ มันก็จะเข้าไปอยู่

ในตอนแรกฉันทำเปลือกหอยเป็นรูปทรงกลมธรรมดา แต่ปูเสฉวนไม่ยอมเข้าไปอยู่ ตอนหลังฉันจึงต้องศึกษารูปทรงเปลือกหอยของปูเสฉวนโดยใช้เครื่อง CT scan กับเครื่องพิมพ์สามมิติในการสร้างโครงสร้างภายในของเปลือกหอยที่ปูเสฉวนยอมย้ายเข้าไปอยู่ได้ และเฝ้าสังเกตและบันทึกภาพพฤติกรรมการย้ายที่อยู่ของมันเอาไว้

โดยฉันทำเปลือกเป็นรูปบ้านหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านแบบญี่ปุ่นในโตเกียว อพาร์ตเมนต์ของฝรั่งเศส และในชุดต่อมาฉันทำเป็นภาพทิวทัศน์อันคุ้นตาของเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก (อาทิ หมู่ตึกระฟ้าในนิวยอร์ก, กังหันลมของเนเธอร์แลนด์, หอเอนปิซาในอิตาลี, โบราณสถานในกรีก, หอไอเฟลในปารีส …ถ้าดูไม่ผิด มีวัดพระแก้วของไทยด้วยนะเออ!)” อิโนมาตะกล่าวถึงผลงานศิลปะการสร้างบ้านใหม่ให้ปูเสฉวนของเธอ

หรือผลงานอย่าง Why Not Hand Over a “Shelter” to Hermit Crabs? -White Chapel- (2014-2015)

ที่เธอออกแบบเปลือกปูเสฉวนเป็นรูปโบสถ์ที่ใช้จัดพิธีแต่งงานของญี่ปุ่น เธอสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อสะท้อนมุมมองทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ที่มักหยิบยืมเอาองค์ประกอบทางวัฒนธรรมจากต่างชาติแค่เพียงผิวเผินมาปรับใช้ให้เป็นแบบฉบับของตัวเอง

และผลงานอีกชุดอย่าง World Outside Your World (2011)

ที่เธอทำโมเดลจำลองทิวทัศน์เมืองขึ้นจากเครื่องพิมพ์สามมิติ และวางมันลงบนกระดองเต่า เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนโลกเสมือนที่จำลองมาจากโลกจริงอีกทีหนึ่ง

ผลงานที่โดดเด่นอีกชุดของเธอมีชื่อว่า “girl, girl, girl. . .” (2012)

ที่นำชุดเดรสสตรีสุดหรูมาตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพื่อเอามาเป็นวัตถุดิบให้หนอนผีเสื้อกลางคืนเอาเศษผ้าสีสันสดใสเหล่านั้นนำไปทำรังดักแด้ของตัวเอง

โดยเธอสร้างผลงานชิ้นนี้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมบริโภคนิยมของผู้หญิงในญี่ปุ่นได้อย่างแหลมคม เธอกล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ว่า

“ตามธรรมชาติ หนอนผีเสื้อกลางคืนตัวผู้จะออกจากรังดักแด้เมื่อมันโตเต็มวัย และกลายเป็นผีเสื้อกลางคืนและบินจากไป ในขณะที่หนอนผีเสื้อกลางคืนตัวเมีย จะอยู่ในรังดักแด้ตลอดชีวิต เพื่อรอคอยหนอนตัวผู้ สิ่งนี้ทำให้ฉันนึกถึงประสบการณ์ของตัวเองเกี่ยวกับผู้ชายนับร้อยที่ฉันพานพบในชีวิตที่ผ่านมา ในจำนวนนั้นมีผู้ชายเพียงไม่กี่คนที่ฉันสนใจ ที่ไม่เคยแม้แต่จะชายตามองฉัน ถึงแม้บทบาททางเพศจะเปลี่ยนไปอย่างมากในยุคของเรา แต่ทำไมผู้หญิงยังคงต้องพยายามมากกว่าผู้ชายอย่างมากเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตัวเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม รวมถึงเพศตรงข้าม”

อิโนมาตะใช้เวลาสองปีในการเลี้ยงหนอนผีเสื้อกลางคืนเพื่อทำงานชิ้นนี้ โดยเธอทำผลงานชิ้นนี้เพื่อจัดแสดงในห้างสรรพสินค้า ซึ่งขายสินค้าแฟชั่นของผู้หญิง เพื่อวิจารณ์วัฒนธรรมของแฟชั่นและเสื้อผ้าสตรี

อนึ่ง การตัดกระดาษสีสันต่างๆ เป็นเส้นยาวๆ และเอามันไปให้หนอนผีเสื้อกลางคืนทำรังดักแด้นั้น เป็นเกมการละเล่นที่เด็กญี่ปุ่นเล่นกันมาช้านานแล้วนั่นเอง


ผลงานศิลปะของเธอเป็นการเล่นกับแนวคิดทางสถาปัตยกรรม, เสื้อผ้า และภาษา ที่เป็นองค์ประกอบที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องแสดงตัวตน ห่มหุ้ม และพิทักษ์รักษาตัวตนของตัวเอง

อาทิ ในผลงาน I Wear the Dog”s Hair, and the Dog Wears My Hair (2014) ที่เธอเก็บสะสมเส้นผมของตัวเอง มาทำเสื้อผ้าให้สุนัขใส่ และเก็บสะสมขนของสุนัขมาทำเป็นเสื้อผ้าให้ตัวเธอเองสวม หรือในผลงานอย่าง Parakeet (2010) ที่เธอพานกแก้วเข้าไปเรียนภาษาฝรั่งเศสกับเธอด้วย

ผลงานศิลปะของอิโนมาตะ เป็นการสำรวจความเกี่ยวข้องและความร่วมมือกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เพื่อเป็นการพิจารณาตนเองและสังคมรอบข้าง ดังที่ปรากฏอย่างชัดเจนในผลงานชิ้นล่าสุดของเธออย่าง

LINES – Listening to the growth lines of shellfish ver.1.0, 2.0 (2015, 2016) ที่เธอสำรวจการเติบโตของลวดลายบนเปลือกหอยอาซาริ (หอยลายญี่ปุ่น) ที่เก็บมาจากทะเลสาบมัตสึคาวะ-อุระ และเมืองโซมะ ในจังหวัดฟูคุชิมา ในช่วงเวลาก่อนและหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น

ลวดลายเหล่านี้ (ที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุของหอยเหมือนวงปีของต้นไม้) ไม่ได้แค่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุของหอยเท่านั้น หากแต่เปลี่ยนแปลงไปตามการแปรเปลี่ยนของสภาพแวดล้อมหลังจากการเกิดภัยพิบัติอีกด้วย

โดยเธอแปรสภาพปรากฏการณ์ที่ว่านั้นให้กลายเป็นเสียงด้วยการคัดลอกการเปลี่ยนแปลงของลวดลายบนเปลือกหอย และแปรสภาพให้มันกลายเป็นร่องเสียงบนแผ่นเสียงด้วยเครื่องยิงเลเซอร์ แล้วนำมาเล่นกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้คนฟัง (ล้ำมาก!)

ผลงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติอันสม่ำเสมอของเธอที่มีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในการสังเกตและใช้พวกมันเป็นเสมือนหนึ่งกระจกเงาที่สะท้อนตัวตนของตัวเธอเองนั่นเอง

“สิ่งมีชีวิตอื่นๆ มีชีวิตอยู่ในความเป็นจริงในรูปแบบของมันที่แตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิง เราไม่อาจรู้ได้ถึงกระบวนการและระบบความคิดของมัน มันเป็นอะไรที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา

แต่ในทางกลับกัน ผลงานศิลปะของฉันเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ฉันมองเห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นทับซ้อนกับชีวิตของมนุษย์อย่างเราๆ และในการนั้น ฉันสามารถมองมนุษย์จากทัศนมิติใหม่ๆ เพื่อค้นหาตัวเองในมุมมองใหม่ๆ

พูดง่ายๆ ก็คือ ฉันจับเอาสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมาเล่นบทบาทเป็นมนุษย์ หรืออันที่จริง สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นกับฉัน เล่นบทบาทของมนุษย์ด้วยกัน นั่นแหละนะ”

อิโนมาตะกล่าวถึงแก่นสารสำคัญในการเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตให้กลายเป็นศิลปะของเธอ ภาพและข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.aki-inomata.com/