อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ผู้หญิงกับทำเนียบขาว

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ผู้หญิงในสหรัฐอเมริกามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ

นางฮิลลารี คลินตัน ผู้ชิงชัยของพรรคเดโมแครตเกือบได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา

ส่วนในเวลานี้ เราควรหันไปมองลูกสาวคนสวยของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นาง Ivanka Trump ซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในทางการเมือง

เมื่อเร็วๆ นี้ Ivanka ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดี

อิวานก้า ทรัมป์

อิวานก้า ทรัมป์ อายุเพียง 35 ปี เธอเป็นภรรยาของ Jared Kushner ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

อิวานก้าจะได้รับตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการรายงานข่าวว่า ที่ทำงานด้านตะวันตกของทำเนียบขาวได้รับการปรับปรุงด้านการรักษาความปลอดภัย โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้ามาก่อนถึงการเข้ามาร่วมงานครั้งนี้

อิวานก้าเมื่อเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เธอจะถูกตรวจสอบในฐานะเป็นลูกจ้างของรัฐ และมาตรฐานทางด้านศีลธรรม รวมทั้งข้อห้ามทางด้านผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) อิวานก้าต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินอย่างเปิดเผยและยอมรับต่อกฎเกณฑ์ทางด้านศีลธรรมของรัฐบาล

ที่ผ่านมาอิวานก้าได้ผ่านงานด้านกิจการแฟชั่น (fashion) มีตำแหน่งเป็นประธานผู้บริหารบริษัทแฟชั่นชั้นนำ อิวานก้าจะต้องลาออกจากบทบาทต่างๆ ที่ทำให้กับองค์กรธุรกิจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แม้ว่าอิวานก้าจะยังได้รับรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่

อิวานก้า ธุรกิจและการเมือง

ในขณะนี้ ความน่าสนใจของอิวานก้ามีทั้งบทบาทด้านธุรกิจและการเมือง ในทางการเมือง อิวานก้าอาจเข้าไปช่วยงานพ่อของเธอด้านสิทธิผู้หญิง เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม เรื่องเด็ก

แต่ข้อห้ามที่อิวานก้าทำไม่ได้คือ เข้าไปเกี่ยวข้องกับนโยบายการค้า (Trade Policy) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เนื่องจากอิวานก้ามีธุรกิจด้านแฟชั่นอยู่คือ กิจการเสื้อผ้า ที่มีจำหน่ายในตลาดสำคัญหลายแห่งในระดับนานาชาติ

ถึงกระนั้นก็ตาม มีประเด็นคำถามหลายประการที่เกิดขึ้นต่อบทบาทของอิวานก้า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอิวานก้ามีประสบการณ์ทางการเมืองแม้ด้วยอายุยังน้อย

ไม่ควรลืมว่า อิวานก้าอยู่กับงานด้านนโยบายการเมืองหลายประการของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี

ไม่ควรลืมว่า อิวานก้าและสามีของเธอ Jared Kushner ในด้านการต่างประเทศสำคัญ เช่น อิวานก้าและสามีของเธอเข้าร่วมพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการจากการเดินทางเข้าพบของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น

อิวานก้าและสามีมีโอกาสเข้าร่วมประชุมระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดี Justin Trudo แห่งแคนาดา

อิวานก้าและสามีได้เข้าร่วมประชุมและพบปะกับ นางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐเยอรมนี

ประเด็นที่เกิดเป็นข้อสงสัยขึ้นมาคือ หากดูนโยบายของสหรัฐอเมริกาหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ทั้งสามประเทศคือ ญี่ปุ่น แคนาดาและเยอรมนี ล้วนมีปัญหามากกว่าความสำเร็จทั้งสิ้น

นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ อ่อนไหวกว่าผู้นำคนอื่นๆ โดยเฉพาะต่อนโยบาย America First ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นตีความได้ว่า สหรัฐอเมริกาจะปล่อยให้พันธมิตรของตนช่วยเหลือและปกป้องตัวเอง ซึ่งสำคัญญี่ปุ่นเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

ส่วนเยอรมนี ผู้นำเยอรมนีกังวลกับความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับองค์การนาโต้ ซึ่งจะไม่ได้มีผลต่อเยอรมนีเท่านั้น แต่จะมีผลต่อดุลทางอำนาจในยุโรป

ซึ่งตอนนี้ประเทศรัสเซียภายใต้การนำของ วลาดิมีร์ ปูติน รุกคืบเข้าไปในคาบสมุทรไครเมียทั้งทางการเมืองและกำลังทหาร

ในเวลาเดียวกัน รัสเซียโดยเฉพาะ วลาดิมีร์ ปูติน กับมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแล้วรวดเร็วกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะ โดนัลด์ ทรัมป์ การกล่าวชื่นชม โดนัลด์ ทรัมป์ และแสดงความยินดีต่อการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ การคาดหวังให้รัสเซียถ่วงดุลกับจีนและรัสเซียช่วยแก้ปัญหาในซีเรียเป็นมิติที่แตกต่างและเร็วเกินกว่าที่จะดูถึงผลที่อาจติดตามมา จนเป็นเหตุให้หลายคนสงสัยในบทบาทของรัสเซียในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา รวมถึงการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการจากเพื่อนๆ ที่แวดล้อม โดนัลด์ ทรัมป์ กับเจ้าหน้าที่สถานทูตรัสเซีย เป็นต้น

จะมีก็เพียงประเทศแคนาดาที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจร่วมกับนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ในเรื่องการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันจากแคนาดามาสู่สหรัฐอเมริกาทางตอนเหนือ

แต่ทว่านโยบายและการตัดสินใจครั้งนี้ถูกต่อต้านจากคนอเมริกันโดยเฉพาะคนอเมริกันและคนท้องถิ่นดั้งเดิมแถบนั้น เพราะโครงการดังกล่าวกระทบและมีผลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ประเด็นคำถามคือ อิวานก้า ทรัมป์ มีส่วนรู้เห็นในนโยบายสหรัฐอเมริกาต่อญี่ปุ่น เยอรมนีและแคนาดามากน้อยแค่ไหน

อิวานก้ามีความรู้และความเข้าใจระบบระหว่างประเทศสำคัญมากแค่ไหน แม้ว่าเธอจะเป็นลูกสาวและเป็นที่ไว้วางใจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ตาม

ด้วยเหตุนี้เอง ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate change) สิทธิผู้หญิง (women right) ซึ่งเป็นประเด็นโลก เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความตกลงหลายฝ่ายทั้งทางด้านความเป็นธรรมทางสังคม ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมซึ่งมีผลต่อภาคอุตสาหกรรมของหลายๆ ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ อิวานก้าจึงถูกตั้งคำถามเรื่องบทบาทและการปกป้องสิทธิสตรี โดยเฉพาะของผู้หญิงอเมริกันและผู้หญิงต่างชาติที่แต่งงานกับคนอเมริกัน อีกทั้งความสามารถในการเข้าไปมีส่วนในการเจรจาถึงกติการะหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกและบทบาทของภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

อิวานก้าเป็นผู้หญิงสวย มีเสน่ห์ มีพ่อเป็นประธานาธิบดี แต่ไม่ง่ายเลยที่อิวานก้าจะสร้างบทบาทที่ควรจะเป็นของทำเนียบขาวในเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายๆ เลย

อิวานก้า ทรัมป์