พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : สงครามซีเรีย เกาหลีเหนือหรือสงครามโลก

เมื่อเกิดการโจมตีสหรัฐเมื่อเหตุการณ์ ๙๑๑ ในวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๑ ผมเคยนำเสนอในที่ประชุมบางแห่งว่าปัญหาจะขยายตัวไปในตะวันออกกลางและทะเลจีนใต้ ในตะวันออกกลางจะเริ่มจาก อัฟกานิสถาน อิรัก ลิเบีย ซีเรียและอาจไปยันกันที่อิหร่าน ส่วนทะเลจีนใต้น่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง จุดเกิดเหตุอาจเป็นไต้หวันหรือเกาหลีเหนือก็ได้

๑๖ ปีผ่านมานี้สิ่งที่น่าจะเป็นไปก็ได้เกิดขึ้นหมดแล้ว เหลือแต่เรื่องของซีเรียและทะเลจีนใต้ที่ดูเหมือนจะเดินมาถึงขั้นตอนสุดท้ายของความขัดแย้งแล้ว และไม่แน่ว่าอาจจะเป็นการเริ่มต้นของความขัดแย้งในระดับที่สูงขึ้นไปนั่นก็คือสงครามโลกอีกครั้งก็ได้ การทำความเข้าใจจึงมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง

ในตะวันออกกลางนั้นจะลองเจาะลงไปที่คู่ขัดแย้งทั้งปวงในซีเรีย โดยจะข้ามเรื่องการชิงท่อส่งน้ำมันเข้ายุโรประหว่างการ์ตากับอิหร่านรวมถึงทฤษฎีสมคบคิดอื่นๆ เพื่อดูว่าขอบข่ายความรุนแรงน่าจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยจะกล่าวถึงทะเลจีนใต้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นพอเป็นข้อมูลประกอบ

เรื่องเริ่มใน ค.ศ. ๒๐๑๑ เมื่อเกิดอาหรับสปริงขึ้นในตูนีเซีย อียิปต์และเยเมน ในซีเรียก็เกิดการประท้วงรัฐบาลเผด็จการเช่นกันและได้รับการตอบสนองด้วยกระสุนปืน จากนั้นในเวลาอันสั้นก็เกิดกบฏขึ้นโดยฝ่ายต่อต้านร่วมมือกับทหารซีเรียทางด้านใต้ มีนักรบจีฮัจญ์ได้เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ

ต้นปี ๒๐๑๒ อัลเคดาห์คือฝ่ายก่อการร้ายสากลและฝ่ายชาวเคิร์ดคือชนกลุ่มน้อยด้านเหนือติดกับตุรกีที่ต้องการพื้นที่ประกาศแยกดินแดนก็เข้าร่วมต่อต้านรัฐบาลซีเรียส่งผลกระทบต่อตุรกี ในขณะเดียวกันอิหร่านประกาศเข้าช่วยซีเรียโดยส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าพื้นที่ ฝ่ายตะวันตกมีสหรัฐฯเป็นต้นก็เริ่มให้การสนับสนุนฝ่ายกบฏ กลุ่มฮิสบัลเลาะห์ที่เป็นไม้เบื่อ ไม้เมากับอิสราเอลจากเลบานอนก็ประกาศตัวสนับสนุนอัสซาดและอิหร่าน

อัสซาด

ปี ๒๐๑๓ ซาอุดิอารเบียให้การสนับสนุนกำลังเงินกับฝ่ายกบฏเพื่อต่อต้านอิหร่าน ในปีนี้ สหรัฐฯเริ่มให้การฝึกอบรมกับฝ่ายกบฏที่มีท่าทีต่อสู้จริงจังผ่านทางหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐหรือซีไอเอ ในประมาณ สิงหาคมปีเดียวกัน ได้พบว่าอัสซาดได้ใช้อาวุธเคมีต่อพลเรือนบาดเจ็บและเสียชีวิตไป ๑,๗๐๐ คน จากเหตุนี้สหรัฐฯจึงเริ่มใช้ปฏิบัติการทางอากาศในเดือนกันยายนปีเดียวกัน อย่างไรก็ตามอัสซาดประกาศยินดีให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าตรวจสอบว่ามีการใช้อาวุธเคมีจริงหรือไม่ ต่อมารัสเซียได้ประกาศให้การสนับสนุนอัสซาดเต็มตัว

ปี ๒๐๑๔ เกิดกลุ่มหัวรุนแรงอัลเคดาห์บางส่วนประกาศแยกตัวออกจากฝ่ายกบฏและสถาปนาตัวเป็นกลุ่มรัฐอิสลามที่รู้จักกันว่า ISIS เพื่อแยกดินแดน ซีเรีย อิรัก ตุรกีเป็นของตน ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน สหรัฐฯประกาศต่อต้านกลุ่ม ISIS โดยสหรัฐฯให้การฝึกผ่านกระทรวงกลาโหมเพื่อต่อสู้กับกลุ่ม ISIS ต่อฝ่ายกบฏและยกเลิกการฝึกเพื่อต่อต้านอัสซาดตามที่ซีไอเอเคยวางรากฐานไว้

ปี ๒๐๑๕ ตุรกีเริ่มโจมตีกลุ่มเคิร์ดในอิรัก โดยไม่โจมตีกลุ่ม ISIS ในซีเรียอีกต่อไป กันยายนปีเดียวกัน รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในซีเรียเป้าหมายที่ประกาศคือปราบปรามกลุ่ม ISIS แต่เป้าหมายจริงกลับเป็นกบฏต่อต้านอัสซาดที่รัสเซียให้การสนับสนุน

ปี ๒๐๑๖ รัสเซียปฏิบัติการทางทหารชัดเจนยิ่งขึ้นทำให้ฝ่ายกบฏสูญเสียที่มั่นไปจำนวนมาก ในขณะที่ทางสหรัฐฯต้องรอการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จสิ้นในการกำหนดนโยบายใหม่

จนมีนาคม- เมษายน ๒๐๑๗ ปรากฏเหตุ การใช้อาวุธเคมีจากรัฐบาลอัสซาดอีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้สหรัฐฯเริ่มปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินต่อกองทัพซีเรียโดยตรง และเริ่มมีความตึงเครียดกับรัสเซียมากยิ่งขึ้น

สาเหตุของความไม่สงบในซีเรียแท้จริงเกิดจากการอยู่รวมกันโดยชาติพันธุ์และนิกายศาสนาที่แตกต่างกัน ปัญหาทางด้านนิกายคือ ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด เป็นมุสลิมนิกายอลาวิสซึ่งใกล้ชิดกับนิกายชิอะห์ นั่นหมายถึงเป็นชนกลุ่มน้อยแค่ร้อยละ ๑๐ ทางด้านศาสนาปกครองคนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนานิกายซุนหนี่ที่เป็นศัตรูกันมาตั้งแต่สมัยเริ่มเผยแผ่ศาสนา

Russian President Vladimir Putin (R) shakes hands with his Syrian counterpart Bashar al-Assad (L) during a meeting at the Kremlin in Moscow on October 21, 2015. Assad, on his first foreign visit since Syria’s war broke out, told his main backer and counterpart Putin in Moscow that Russia’s campaign in Syria has helped contain “terrorism”. AFP PHOTO / RIA NOVOSTI / KREMLIN POOL / ALEXEY DRUZHININ

ในพื้นที่ยึดครองรัฐบาลครองพื้นที่ด้านตะวันตกไว้เป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ด้านกลางฝ่ายกบฏครอบครองได้โดยเผชิญหน้ากับฝ่ายรัฐบาลโดยตรง พื้นที่ด้านเหนือชาวเคิร์ดครอบครองได้ ส่วนด้านตะวันออกไปถึงอิรักกลายเป็นกลุ่มรัฐอิสลาม ISIS ที่ครอบครองไว้ได้

หากแยกเป็นฝ่ายๆในฝ่ายรัฐบาลอัสซาด จะมีรัสเซีย จีน อิหร่าน กลุ่มฮิสบัลเลาะห์และที่น่าแปลกใจมากคือกลุ่มชาวเคิร์ดซึ่งเดิมขอแยกดินแดน ต่อมาตกลงกับอัสซาดว่าจะต่อสู้ทั้งฝ่ายกบฏและ ISIS รัสเซียเป็นพันธมิตรที่สำคัญของซีเรียเพราะต้องการเส้นทางออกสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียน หลังจากที่เสียพันธมิตรได้แก่ลิเบียไป

ฝ่ายกบฏจะมีตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ อังกฤษ สหภาพยุโรป ตุรกีบางส่วนเฉพาะเรื่องเคิร์ดและประเทศกลุ่มอ่าวเปอร์เซียมีซาอุดิอารเบียเป็นต้น ให้การสนับสนุน โดยในตอนแรกจะไม่ใช้กำลังภาคพื้นดิน จนปัจจุบันการเตรียมการเพื่อการใช้กำลังภาคพื้นดินโดยสหรัฐฯเป็นผู้นำได้เริ่มต้นขึ้น เป้าหมายมีความชัดเจนจากต่อต้านกลุ่ม ISIS มาเป็นการโค่นล้มรัฐบาลอัสซาดโดยตรง

ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีการประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า ๕ แสนคนและประมาณ ๕ ล้านคนต้องหนีออกนอกประเทศและประมาณ ๑๐กว่าล้านคนไร้ที่อยู่อาศัยเพราะนโยบายในการตัดอาหารและการช่วยเหลือต่างๆต่อประชากรเพื่อมิให้เสบียงอาหารตกไปถึงฝ่ายกบฏ

จุดอ่อนของฝ่ายกบฏคือไม่มีอาหารและไม่มีอาวุธ ไม่มีการฝึกที่ดีพอ มีแต่ความเกลียดชังเท่านั้น และการแทรกแซงจากฝ่ายตะวันตกที่ผ่านมามีเพียงจำกัดและมีเป้าหมายไปที่ ISIS มากกว่า

มาเวลานี้สถานการณ์เปลี่ยนไป สหรัฐฯได้มีการเจรจากับประเทศจอร์แดนด้านใต้ของซีเรียเพื่อให้เป็นฐานในการโจมตีทางภาคพื้นดินของสหรัฐฯ โดยจอร์แดนเคยโจมตี ISIS มาก่อน รวมถึงการแสดงความเกี่ยวข้องของรัสเซียกับการใช้อาวุธเคมีของซีเรีย เพื่อบีบให้รัสเซียถอนตัวจากซีเรีย ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะซีเรียเป็นช่องทางออกเมดิเตอร์เรเนียนเพียงแห่งเดียวของรัสเซียที่เหลืออยู่ทางท่าเรือ ทาร์ทัส (Tartus) ซึ่งไม่สามารถยอมได้และขณะนี้รัสเซียได้ส่งกองเรือรบไปรักษาท่าเรือนี้แล้วสำหรับกรณีจำเป็น

ในอีกด้านหนึ่ง ดังที่ได้เกริ่นไว้สถานการณ์ด้านทะเลจีนใต้น่าจะเกิดความตึงเครียดและก่อให้เกิดผลกระทบต่อภูมิภาคเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน ทั้งคุกคามต่อสหรัฐฯและจีนมากกว่า แม้ว่าสหรัฐฯต้องเลือกว่าปัญหาในซีเรียหรือทะเลจีนใต้สิ่งใดเป็นความเร่งด่วนกว่า ทั้งนี้ภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือต่อเกาะฮาวายน่าจะมีผลกระทบมากกว่าผลประโยชน์ในตะวันออกกลาง และยังจะได้สร้างปัญหาให้กับจีนอีกด้วย แต่ทั้ง ๒ แห่งจำเป็นต้องมีข้อยุติโดยเร็ว อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับมหาอำนาจทั้งสองแห่งว่าจะมีข้อแลกเปลี่ยนกันอย่างไร แต่การวางกำลังและการใช้กำลังน่าจะต้องมีเกิดขึ้น

อาจมีหลายคนคิดว่าอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๓ ซึ่งเป็นไปได้ยาก เหตุผลก็คือประการแรก เทคโนโลยีทางทหารของจีนยังห่างไกลกับสหรัฐฯ แม้ว่ารัสเซียจะใกล้เคียงและหลายชนิดดีกว่าก็ตาม แต่จำนวนและสมรรถนะยังห่างไกลหากจะก่อสงครามจริงๆ ทั้งรัสเซียและจีนน่าจะรอเวลาอีกสักพักน่าจะดีกว่า การบุ่มบ่ามอาจส่งผลร้ายเช่นเดียวกับที่ฮิตเลอร์เคยผิดพลาดมาแล้ว

ประการที่สอง ทั้งซีเรียและทะเลจีนใต้ยังไม่ใช่พื้นที่แตกหักที่จะกระทบต่อความมั่นคงของทั้งสองฝ่าย การผ่อนปรนมีความเป็นไปได้ ในขณะเดียวกันสหรัฐฯก็ไม่ได้เห็นความจำเป็นในการก่อสงครามใหญ่กับทั้งสองประเทศ การมีแค่สงครามตัวแทนหรือมีแค่สงครามจำกัดขอบเขตระหว่างกันเป็นไปได้มากกว่า

ประการที่สามคือการกลับเข้าสู่สงครามอีกครั้งของพรรครีพับลิกัน จะทำให้การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีกลายเป็นสิ่งไร้คุณค่าไปในทันที และจะส่งผลให้กับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในรอบกลางสมัยอย่างแน่นอน

ด้วยการชั่งผลประโยชน์ต่างๆของทั้ง ๒ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว สงครามโลกครั้งที่ ๓ ยากจะเกิดขึ้น สงครามย่อยๆอาจมี แต่ในที่สุดทั้งรัสเซียและจีนคงต้องขยับถอยบ้างเพื่อรักษาหน้าสหรัฐฯ โดยยังคงผลประโยชน์ของตนบางส่วนไว้บ้างทุกอย่างก็จะลงตัว