E-DUANG : ชะตากรรม”มาตรา 44″ กับกรณี”รถกระบะ”

ยังไม่ทันที่บรรยากาศแห่ง”เทศกาลสงกรานต์”จะจางจากอำลาไปก็มีคำถามตามมา

ทิศทางของคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 14/2560 จะเป็นเช่นใด

จะยังคง “เดินหน้า” ต่อไปอย่างเข้มแข็ง หรือว่าจะมีการทบทวนอย่างรอบคอบและสุขุม

เหมือนกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560

กรณีของคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560 อาจไม่สลับซับซ้อน เพราะขึ้นอยู่กับเป้าหมายเดียว คือ พระชราอายุกว่า 70 รูปหนึ่ง

เมื่อเป้าหมายสลัวเลือนลางก็ “ปรับ” ได้

แต่เมื่อสัมผัสกับผลกระทบอันเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 14/2560 แล้ว

ตอบได้เลยว่า “ไม่ง่าย”

 

เหมือนกับว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 14/2560 จะเป็นการปะทะระหว่าง “รถกระบะ” กับ “กฎหมาย”

แต่ความเป็นจริงเป็นเรื่องในทาง “วัฒนธรรม”

ถึงขั้นที่นักวิชาการทางสังคมวิทยาออกมาสรุปอย่างรวบรัดว่า เป็น”วัฒนธรรมรถกระบะ”

คำสั่งนี้จึงมีลักษณะในทาง “การเมือง”

สะท้อนความไม่เข้าใจของ “คสช.” ต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของสังคมไทย

ขณะเดียวกัน หากบริหารจัดการไม่ดีก็จะ”บานปลาย”

บานปลายจากเรื่องในทาง”วัฒนธรรม” จากเรื่องในทาง “การ เมือง” ไปกระทบต่อพรมแดนในด้าน”เศรษฐกิจ”

มี “มูลค่า” นับได้”หลายแสนล้านบาท”

 

เมื่อมีการหยิบยกประเด็นในทาง”เศรษฐกิจ”ขึ้นมาก็พอจะมองเห็นชะตากรรมของ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 14/2560 ได้

อาจคล้ายกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560

เป็นความคล้ายใน “บทสรุป” เบื้องต้น แต่จะส่งผลสะเทือนรุนแรง กว้างไกลมากกว่า

เพราะเท่ากับ “ฟ้อง” ให้เห็น “ช่องโหว่”

ช่องโหว่จากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560 มายังคำสั่งหัว หน้าคสช.ฉบับที่ 14/2560

ในที่สุดก็กระเทือนถึง”มาตรา 44″