E-DUANG : ​​”มาตรา 44″ กับการย้อนแย้งกับ”รัฐธรรมนูญ”

ไม่ว่าเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560″ ไม่ว่าเรื่องการดำรงอยู่ของ”มาตรา 44” ล้วนเป็นเรื่องของ “อำนาจ”
​”รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560″ เท่ากับอำนาจ”ใหม่”
​ขณะเดียวกัน การคง”มาตรา 44″เอาไว้ใน “บทเฉพาะกาล”คือ การปรับประสานระหว่างอำนาจ 2 ส่วน
​อำนาจ”ใหม่” กับอำนาจ”เก่า”
​หากมองผ่านบทสรุปจาก นายสุขุม นวลสกุล ซึ่งเป็น”นักรัฐศาสตร์” ก็จะมองเห็นภาพ
​เป็น “ภาพ” อันเกิดจากการ”อุปมา”
​”เขาอยากคายอำนาจ แต่ต้องคายอำนาจแบบไม่เสียของ คายแล้วต้องเป็นไปตามที่เขาต้องการ”
​คำว่า “เสียของ”นั่นแหละที่ “ตามมา”

ความรู้สึกว่า “เสียของ” เกิดขึ้นจากการประเมินบทบาทและความ หมายของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
​เพราะว่าไม่มี “มาตรา 44”
​จึงไม่สามารถจัดการกับ”พลังตกค้าง”อันเนื่องแต่ผลงานและความสำเร็จของ “ไทยรักไทย”ได้
​ทำให้แพ้ในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550
​น่าเศร้าอย่างยิ่งที่แม้ว่าจะมีการปราบปรามอย่างเข้มทั้งเดือนเมษายน 2552 และเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553
​แต่เลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ก็ยังแพ้อีก
​จึงจำเป็นที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ต้องออกโรงเป็นกองหน้า กระทั่งนำไปสู่”ชัตดาวน์”และรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ในที่สุด
​รัฐประหารเพราะรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เสียของ

สถานการณ์จาก”รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560″หากมองอย่างเปรียบ เทียบกับ”รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550″
​ก็อ่อนไหวอย่างยิ่งต่อคำว่า “เสียของ”

​ยิ่งอ่อนไหวยิ่งทำให้บทสรุปที่ว่า “คายอำนาจ”เหลื่อมซ้อนอย่างยิ่งกับความต้องการในการ”สืบทอด”และต่อท่อแห่งอำนาจ
ต่อไป
​การดำรงอยู่ของ”มาตรา 44″จึงย้อนแย้งกับการประกาศและบังคับใช้”รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560”
​ว่าเป็นการคายอำนาจ หรือว่าเป็นการต่อท่อแห่งอำนาจ