ยกแรก “สงครามการค้า” จะเริ่มภายใน 90 วัน?!

สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าระหว่างประเทศอยู่เดือนละ 50,000 ล้านดอลลาร์ แต่ละปีต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าจากประเทศอื่น มากกว่าที่ขายสินค้าให้กับประเทศอื่นๆ ไม่น้อยกว่าปีละ 500,000 ล้านดอลลาร์

ตัวเลขประมาณการการขาดดุลการค้าของปี 2017 ที่นำมาเผยแพร่ในวันเดียวกัน ระบุว่า ยอดขาดดุลการค้าในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 648,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าตัวเลขเมื่อปี 2000 อยู่ถึงสองเท่าตัว

นั่นคือที่มาของการลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ 2 ฉบับ เมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา

ตามรายงานของยูเอสเอทูเดย์ ทรัมป์เชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ามหาศาลเพราะมีต่างชาติที่ “ขี้โกง” มี “การปล้นโรงงานผลิตหลายพันโรงงานไปจากประเทศเรา แต่ต่อไปนี้แรงงานอเมริกันที่ไม่มีปากมีเสียงจะมีเสียงที่เป็นตัวแทนพวกเขาในทำเนียบขาว” ทรัมป์บอกกับผู้สื่อข่าวหลังเสร็จสิ้นการลงนาม บอกต่อด้วยว่า “ภายใต้ฝ่ายบริหารของผม การปล้นความรุ่งโรจน์จากคนอเมริกันต้องยุติลง”

ฟังดูเป็นวาทกรรมบนเวทีหาเสียงเลือกตั้งเสียมากกว่า ทำนองเดียวกันกับคำพูดที่ว่า “พวกนี้โกงทั้งนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ใครก็ตามที่ละเมิดกฎจะต้องเผชิญกับผลตอบแทน และต้องเป็นผลตอบแทนที่หนักหนาสาหัสด้วย”

สิ่งที่ต่างไปจากคำปราศรัยหาเสียงก็คือ ทรัมป์สั่งการให้ดำเนินการไปตามนั้นจริงๆ

AFP PHOTO / MANDEL NGAN

คําสั่งฉบับแรกจึงเป็นเรื่องของการมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กับสำนักงานผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) โดย วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์ทำหน้าที่หัวหน้าคณะ ไปตรวจสอบหาสาเหตุของการขาดดุลการค้า

ซึ่งถ้าตามรายงานของยูเอสเอทูเดย์ ที่เผยแพร่ออกมาในวันเดียวกับที่ลงนาม (และตรงกับรายงานของหลายสำนัก เอเอฟพีของฝรั่งเศส และพีทีไอของอินเดีย เป็นอาทิ) การตรวจสอบนี้จะโฟกัสไปที่ 16 ประเทศ

6 ประเทศแรกเป็นชาติที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าด้วยมากที่สุด คือ จีน (347,000 ล้านดอลลาร์), ญี่ปุ่น (68,900 ล้านดอลลารร์), เยอรมนี (64,900 ล้านดอลลาร์), เม็กซิโก (63,200 ล้านดอลลาร์), ไอร์แลนด์ (35,900 ล้านดอลลาร์) และเวียดนาม (32,000 ล้านดอลลาร์)

ส่วนอีก 10 ประเทศที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว คือ อิตาลี, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ไทย, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และแคนาดา

โดยให้ทำ “ประชาพิจารณ์” รับฟังความคิดเห็นจากผู้ผลิต, ผู้ให้บริการ, แรงงาน, เกษตรกร และผู้บริโภคด้วย

AFP PHOTO / MANDEL NGAN

คําสั่งฉบับที่ 2 เป็นเรื่องของการเรียกร้องให้ สำนักงานเพื่อการคุ้มครองพรมแดนและศุลกากร (ซีบีพี หรือสำนักงานศุลกากรเดิม) ใช้เครื่องมือทางกฎหมาย จัดเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด ทั้งที่ “คงค้าง” และที่อาจจะเกิดขึ้นมาใหม่ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนที่คงค้างนั้นว่ากันว่ามีอยู่กว่า 2,300 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2001 แต่ในส่วนที่จะเป็นของใหม่นั้น คำสั่งฉบับนี้กำหนดให้ “ผู้นำเข้าสินค้ารายใหม่” หรือผู้ที่เคยกระทำผิด มีพฤติกรรมบิดเบือนทางการค้า ต้องยื่นพันธบัตรเป็นหลักประกันมอบไว้กับซีบีพี ตามสัดส่วนของสินค้าที่อนุญาตให้นำเข้า

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย

ส่วนใหญ่ปักใจเชื่อว่า เป็นความจงใจของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการมุ่งไปที่เป้าใหญ่อย่าง “จีน” ที่เคยหาเสียงเอาไว้มากมาย

กระนั้นมีอีกบางข้อสังเกตที่น่าสนใจ

AFP PHOTO / Brendan Smialowski

อย่างเช่น เทเลอร์ แม็กโดนัลด์ แห่ง “อาเซียน อีโคโนมิสต์” ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในวันที่ 1 เมษายน ถัดมาว่า การที่ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตกเป็นเป้าถูก “สอบสวนทางการค้า” ครั้งนี้ด้วยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายาม “ยุติการเสียเปรียบดุลการค้ากับอาเซียน” ลงให้ได้

และยกตัวอย่างไทยไว้ว่า ได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอเมริกาถึง 18,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 15,400 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2558 และ 14,300 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2557

สินค้าที่เป็นกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนี้คือ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์และยางรถยนต์ โดย 35 เปอร์เซ็นต์ของยางรถยนต์ที่ใช้กันอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นยางที่นำเข้าจากประเทศไทย

ที่น่าสนใจก็คือการที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เลือกใช้คำว่า “พิสดาร” มาใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างทรัมป์ กับผู้นำสหรัฐอเมริกาคนอื่นๆ และมองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของ “การต่อรองทางการค้า” ที่ทรัมป์ถนัดจากการเป็นนักธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา

แต่ก็ยืนยันว่า ไทยไม่น่าจะใช่เป้าหมายจริงๆ ของความเคลื่อนไหวครั้งนี้

เพียงแต่ยอมรับกลายๆ ว่า เมื่อถึงที่สุดครบ 90 วันแล้ว เกิดอะไรขึ้นมาระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

ไทยก็คงโดนหางเลขเข้าไปด้วยอย่างช่วยอะไรไม่ได้จริงๆ!