“คนไทย” กับเอกราชของลาว

ตีพิมพ์ ครั้งแรกใน คอลัมน์ ข้ามโขง โดย ชัย สมานจิต มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 พ.ค. – 13 พ.ค. 2544

หลังจากการทำลายกองกำลังกู้เอกราชลาวที่เมืองท่าแขกแล้ว ฝรั่งเศสยังได้ใช้การปฏิบัติการทางทหารเข้าโจมตีฝ่ายลาวต่อต้านตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ก็ใช้ไม้นวมเปิดการเจรจาเสนอว่าจะให้ลาวเป็นเอกราช และเป็นไปตามขั้นตอน

ในขั้นต้นคือการให้สิทธิปกครองตนเองมากขึ้น แต่ให้อยู่ในสหภาพฝรั่งเศส

วิธีการแยกสลายขบวนการ ปรากฏว่าได้รับผลในระดับหนึ่ง และนอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังสามารถเกลี้ยกล่อมเจ้ามหาชีวิต ซึ่งไม่เคยมีบทบาทในการต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราช มีมติให้ความร่วมมือเป็นหุ่นให้ผู้ปกครองอาณานิคมชักใยอยู่เบื้องหลัง

ดังนั้น ผู้เข้าร่วมในการประกาศเอกราชจำนวนหนึ่งได้ทิ้งการต่อสู้ทางอาวุธหันกลับไปให้ความร่วมมือกับฝรั่งเศส และได้รับตำแหน่งหน้าที่ทางบริหารตามสมควร ซึ่งได้แก่ ผุย ชนะนิกร อุ่น ชนะนิกร ภูมี หน่อสวรรค์ บุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เป็นต้น

ในขณะที่ฝ่ายเจ้าสุภานุวงศ์มีความเชื่อมั่นว่า เอกราชที่แท้จริงจะได้มาจากการต่อสู้อย่างเอาจริงเอาจัง ไม่มีการยอมจำนน ทั้งเห็นว่าทั้งสามประเทศในแหลมอินโดจีนต้องร่วมมือร่วมพลังเข้าด้วยกันอย่างใกล้ชิด อาศัยพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนซึ่งมีสมาชิกจากเวียดนาม เขมร และลาว เป็นแกนนำ

กองกำลังของเจ้าสุภานุวงศ์จึงเข้าดำเนินการในป่าเขา ขวนขวายประชาชนในเขตชนบท ซึ่งเป็นเวลาที่กองกำลังลาดชะวงศ์ของ ไกสอน พมวิหาน ได้จัดตั้งขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ซึ่งต่อมาก็มีชื่อว่ากองกำลังประเทศลาวแห่งแนวลาวรักชาติ โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่แยกสายออกจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนเป็นแกนนำ

นายเตียง ศิริขันธ์, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, จำลอง ดาวเรือง และ ถวิล อุดล รัฐมนตรีสังกัดพรรคสหชีพภายหลังสงคราม ท่านเหล่านี้ได้มีบทบาทสำคัญในการรับใช้ชาติด้วยการเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยทางภาคอีสาน เมื่อลาวประกาศเอกราชก็ได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลืออย่างเต็มที่

แต่กลับถูกโจมตีใส่ร้ายป้ายสีจากบุพการีผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์จากคนไทยภาคกลาง เช่น กล่าวดูแคลนว่าเป็นบักเสี่ยว บักหนานบ้าง สกปรกไร้วัฒนธรรมไม่มีสกุลรุนชาติ

วิธีการกระจายแพร่ข่าวทำนองนี้ อาจเป็นแบบฉบับที่ถนัดของพรรคประชาธิปัตย์มาจนถึงปัจจุบัน

ภารกิจของสี่อดีตรัฐมนตรีไทยคนดีศรีอีสานนั้น ชาวลาวเพื่อนบ้านของเราได้มีการจดจำจารึกไว้อย่างไม่ลืมเลือน

พฤษภาคม พ.ศ.2497 ขณะที่การเจรจาปัญหาอินโดจีนระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดนามกำลังดำเนินอยู่ โลกก็ต้องตื่นตะลึงในการพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของฝรั่งเศสในสมรภูมิ “เดียนเบียนฟู” (เมืองแถง) อันเป็นผลให้ฝรั่งเศสยอมเซ็นสัญญาสงบศึก และให้ประเทศแคนาดา โปแลนด์ และอินเดีย ทำหน้าที่เป็นกรรมการดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลงที่เมืองเจนีวา

ในส่วนที่เกี่ยวกับลาวนั้น ฝรั่งเศสยอมมอบเอกราชและถอนกำลังออกไป สำหรับกองกำลังของฝ่ายประเทศลาวที่ยึดครองดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอันได้แก่ แขวงพงสาลีและหัวพัน (ซำเหนือ) ที่ประจันหน้ากับรัฐบาลเวียงจันท์ก็ให้หาทางเจรจาประนีประนอมให้เกิดเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

จากนั้นจึงได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาว (ลาวฝ่ายขวา) กับรัฐบาลขบวนการประเทศลาว (ลาวฝ่ายซ้าย)

อนึ่ง ในระยะเวลาที่ลาวอิสระ ต่อสู้ทางอาวุธกับฝรั่งเศส นอกจากจะได้ผนึกกำลังกับเวียดมินห์แล้ว ทางด้านภาคอีสานก็ได้มีการรวบรวมคนหนุ่มทางอีสานและชาวลาว เพื่อส่งไปฝึกการใช้อาวุธ วิชาการทหารที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานประเทศจีน ซึ่งยังอยู่ในความปกครองของจีนก๊กมินตั๋ง เมื่อกลับมาก็เข้าร่วมในการต่อสู้ ซึ่งต่อมาบางคนก็อยู่ทางด้านลาวฝ่ายขวา บางคนก็เข้าร่วมในขบวนการประเทศลาว

ส่วนผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการเตรียมการในเรื่องนี้คือ ครูทิม ภูริพัฒน์ พี่ชายอดีตรัฐมนตรีทองอินทร์ ภูริพัฒน์ คุณอัมพร สุวรรณบล อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด เป็นต้น

 

รัฐบาลผสมของลาวชุดแรกภายหลังข้อตกลงเจนีวา พ.ศ.2497 ดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น เพราะทางลาวฝ่ายขวาได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาหัวเรือใหญ่เข้ามาแทนที่ฝรั่งเศส ถือนโยบายเผชิญหน้ากับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์และได้อาศัยรัฐบาลไทยในยุคนั้นเป็นเครื่องมืออีกต่อหนึ่ง

ความแตกหักในรัฐบาลผสมเกิดขึ้นเมื่อทางฝ่ายขวาพยายามใช้กำลังทางทหารที่เหนือกว่าบีบล้อมเพื่อทำลายกองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 แต่ปรากฏว่าทั้งสองกองพันสามารถแหวกวงล้อมได้สำเร็จ และเข้ารักษาที่มั่นทางแขวงหัวพัน และพงศาลีได้ สร้างความผิดหวังให้แก่ฝ่ายขวาอย่างมาก ต่อมาได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ก็ปรากฏว่าฝ่ายแนวลาวรักชาติได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น

ทางพวกฝ่ายขวาซึ่งมี ท้าวผุย ชนะนิกร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงหาเหตุจับกุมคุมขังผู้นำแนวลาวฯ ในข้อหาร้ายแรงว่าทรยศต่อประเทศชาติ มีโทษสูงสุดประหารชีวิต

ผู้ที่ถูกจับกุมเป็นบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมในรัฐบาลผสมทั้งสิ้น อาทิ เสด็จเจ้าสุภานุวงศ์ หนูฮัก พรมสะหวัน ภูมี วงศ์วิจิตร พูน ศรีประเสริฐ สีทน กมมะดัน สิงกะโป สีโคต จุนนะมาลี สีชนะ สีสาน เป็นต้น ส่วน ท่านไกสอน พมวิหาน ไม่ได้ถูกจับกุมด้วยเพราะไปเยี่ยมน้องสาว ซึ่งแต่งงานกับข้าราชการไทยแห่งตระกูล “หนุนภักดี” ซึ่งรับราชการอยู่ทางภาคอีสานในขณะนั้น

รัฐบาลปฏิกิริยาฝ่ายขวาบริหารบ้านเมืองอย่างไร้ประสิทธิภาพถึงแม้ว่าจะได้รับการอัดฉีดเงินดอลลาร์จากอเมริกาอย่างท่วมท้นกลับเป็นช่องทางให้เกิดการโกงกินกันยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้นำฝ่ายแนวลาวรักชาติที่ถูกคุมขังที่คุกโพนเค็ง ชานเมืองเวียงจันท์ ได้พูดคุยให้ความคิดแก่ทหารสารวัตรที่ควบคุมอยู่ จนเกิดจิตสำนึกในการรับใช้ประเทศชาติ ตัดสินใจเข้าร่วมมือพากันแหกคุก “โพนเค็ง” ออกไปได้ทั้งหมด สร้างความงุนงงแก่ ผุย ชนะนิกร กับลูกสมุนเป็นอย่างยิ่ง

ในบรรดาสารวัตรทหารมีทหารชั้นนายสิบผู้หนึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญร่วมแหกคุกด้วยจนกระทั่งเข้าร่วมในขบวนการประเทศลาวหลังจากประสบชัยชนะแล้วได้รับผิดชอบงานส่วนหนึ่งในกระทรวงภายใน และในปัจจุบันมียศเป็นนายพันเอก

หลังจากแหกคุกโพนเค็งออกไปไม่นาน แกนนำแห่งแนวลาวฯ เหล่านี้ก็ได้เข้าสู่ฐานที่มั่นในเขตรอบๆ เวียงจันท์ ก็พอดีทางเวียงจันท์ได้เกิดรัฐประหารยึดอำนาจขึ้นโดย ร.อ.กองแล และ ร.อ.เดือน รัฐประหารเดือนสิงหาคม พ.ศ.2503 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในชาติ การปราบปรามทุจริต

ทำให้ฝ่ายแนวลาวฯ ได้เข้าร่วมเจรจาและผนึกกำลังเข้ากับกำลังของกองแล ยึดครองนครเวียงจันท์เมืองหลวงไว้เพื่อรับมือกับฝ่ายปฏิกิริยา

 

สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกฯ เผด็จการเต็มรูปแบบของไทยมีศักดิ์เป็นน้าชาย นายพลภูมี หน่อสวรรค์ แม่ทัพลาวฝ่ายขวาได้ให้การสนับสนุนทางทหารแก่นายพลภูมีอย่างเต็มที่เพื่อตีเวียงจันท์คืนให้ได้

แต่ยุทธศาสตร์นี้ถือว่าเป็นการผิดพลาด ถึงแม้ว่าจะได้ชัยชนะทางยุทธวิธีช่วงชิงเอาเวียงจันท์มาได้ แต่ทางกองกำลังประเทศลาวกับกองกำลังของกองแลได้ใช้ยุทธวิธีตีพลางถอยพลาง เปิดโอกาสให้ข้าศึกเข้ายึดตัวเมือง ถอนกำลังหลักขึ้นทางเหนือและตวันออกเฉียงเหนือเข้ายึดพื้นที่ทางที่ราบสูงแขวงเชียงขวางไว้ได้ ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าฝ่ายที่ยึดชัยภูมิที่ราบสูงเชียงขวางสามารถกำชัยชนะในสมรภูมิลาวได้

จากนั้นสถานการณ์ในลาวได้แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย อันได้แก่ ฝ่ายรัฐบาลปฏิกิริยาเวียงจันท์ ฝ่ายขบวนการประเทศลาวและแถมด้วยฝ่ายเป็นกลางของกองแล ฝ่ายเป็นกลางก็ยังแตกออกเป็นสองพวก คือพวกกองแลซึ่งหันมาร่วมมือกับทางเวียงจันท์ และ ร.ท.เดือนอยู่กับฝ่ายประเทศลาว

องค์การซีไอเอ ได้ให้การสนับสนุนฝ่ายเวียงจันท์ด้วยการออกเงินค่าใช้จ่าย จัดหาอาวุธ ซึ่งรัฐบาลเผด็จการไทยสมัยนั้นเข้าร่วมมือด้วยโดยการจัดตั้งกองบัญชาการ 333 มีผู้รับผิดชอบเป็นนายทหารระดับสูงของกองทัพไทยเป็นผู้ดำเนินการ จัดหา “ทหารรับจ้าง” ชาวไทยจากงบประมาณของซีไอเอ เพื่อส่งเข้าไปปฏิบัติการรบในลาว พร้อมทั้งให้การดูแลส่งกำลังบำรุงให้แก่กลุ่มลาวสูงเผ่าม้ง ของ วังเปา ซึ่งเป็นฝ่ายขวาเช่นกัน ให้เข้าสู้รบโจมตีกองกำลังประเทศลาวในบริเวณที่ชนกลุ่มนี้มีความชำนาญในภูมิประเทศ

การสู้รบดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ ว่ากันว่าระหว่างลาวด้วยกันเองนั้นมิได้สู้รบกันจริงจังเท่าใด แต่ถ้าเป็นกองกำลังอาสาสมัครเวียดนามที่อยู่ทางฝ่ายประเทศลาว ต่อสู้กับพวกทหารรับจ้างจากไทยก็ดี กับพวกวังเปาก็ดี การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ทหารรับจ้างเสียชีวิตไปไม่น้อย หลายคนต้องพิการทางร่างกาย สูญเสียแขนขา หลายคนต้องกลายเป็นผู้เสียสติไปตราบเท่าทุกวันนี้

จักรวรรดินิยมอเมริกายังได้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทั้งทางด้านลาวตอนใต้ที่คาดว่า “เส้นทางโฮจิมินห์” จะตัดเบี่ยงผ่านลาวเข้าเวียดนามใต้ และทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือนับตั้งแต่เชียงขวางไปจรดซำเหนือ รวมทั้งเครื่องบินอเมริกาที่ขึ้นจากฐานบินตาคลี และอุดรฯ เพื่อไปโจมตีทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือ แต่นักบินมีความเกรงกลัวขีปนะวิถีของเวียดนามจึงสลัดลูกระเบิดทิ้งในลาวและบินกลับทันที ถือกันว่าลูกระเบิดที่ทิ้งในลาวมีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์

กองกำลังประเทศลาวสามารถขยายพื้นที่การยึดครองมากขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2518 ชัยชนะในการปลดปล่อยเวียดนามใต้ของกองทัพประชาชนเวียดนาม และการพ่ายแพ้ของกลุ่มลอลนอยในเขมร ทำให้สถานการณ์ในลาวเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ฝ่ายประเทศลาว

ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในตัวเมืองลุกขึ้นขับไล่พวกปฏิกิริยา จึงทำให้การได้มาซึ่งอำนาจรัฐประสบผลสำเร็จ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้สถาปนาขึ้นในเดือนธันวาคม ในปี พ.ศ.2518 นั้นเอง