สมชัย ศรีสุทธิยากร | ทฤษฎีโรคติดต่อและอำนาจ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

โรคติดต่อร้ายแรงนั้นเช่นเดียวกับอำนาจ

มีการติดต่อ มีการแพร่ระบาด และต้องหาวิธีการจำกัดขอบเขต

เพื่อไม่ให้มีการติดต่อและระบาดจนเป็นภัยต่อมนุษยชาติ

 

โรคติดต่อ

นักระบาดวิทยาจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุของโรคติดต่อว่า โรคดังกล่าวติดต่อผ่านพาหะใดสู่คน เช่น หนู (กาฬโรค) ยุง (ไข้เลือดออก) แมลงวัน (อหิวาห์ตกโรค) สัตว์ปีก (ไข้หวัดนก) เมื่อพบว่าสัตว์ใดเป็นพาหะของการแพร่ระบาด การกำจัดสัตว์เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดจะเกิดขึ้น

ครั้งหนึ่งเมื่อเรากลัวไข้หวัดที่แพร่จากหมู (Swine Flu) การฆ่าหมูนับแสนตัวในจีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจึงเกิดขึ้น หรือเมื่อเรากลัวไข้หวัดนก (Bird Flu) ที่ระบาดในสัตว์ปีก การฆ่าไก่นับแสนตัวก็จะตามมาเช่นกัน

แต่หากโรคร้ายแพร่กระจายจากคนสู่คน การกำจัดคนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ดังนั้น วิธีการที่ดีในการลดการแพร่กระจายของโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนที่ดีคือ การไม่ให้คนพบปะคน หรือให้ทุกคนอยู่ห่างจากสังคม (Social Distancing) ที่เรากำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

 

อำนาจ

นักรัฐศาสตร์มีมุมมองในเรื่องอำนาจว่าเป็นเรื่องของความสามารถที่เหนือกว่าในการครอบงำ สั่งการให้คนปฏิบัติตาม โดยอาจจะมาจากการได้อำนาจตามตัวบทกฎหมาย เช่นการแต่งตั้ง การเลือกตั้ง หรือได้มาจากการที่คนคนหนึ่งมีบางสิ่งบางอย่างที่เหนือกว่าผู้อื่น เช่น เงิน บารมี หรืออาวุธ และสามารถใช้สิ่งนั้นเพื่อสั่งการให้คนทำตามได้

คนมีเงินย่อมมีอำนาจ ใช้เงินเพื่อสั่งการให้คนทำงานแทน เช่นเดียวกับคนที่ถือปืน ย่อมมีอำนาจบังคับคนไร้อาวุธให้ยินยอม

อำนาจนั้นเสพติดและติดต่อ เพราะคนที่มีอำนาจมักพอใจกับสถานะที่เหนือกว่าของตนที่สั่งแล้วคนอื่นต้องทำตาม จึงพยายามที่จะให้ตนเองอยู่ในอำนาจทุกวิถีทางและอำนาจยังติดต่อไปยังผู้อื่นให้เกิดความอยากเข้ามาเสพ หรือถ่ายทอดอำนาจไปยังบุคคลกลุ่มคนที่ตนไว้วางใจเพื่อรักษาอำนาจไว้ในกลุ่มของพวกตน

เพื่อป้องกันการใช้อำนาจที่เกินเลยขอบเขต สังคมจึงสร้างกฎเกณฑ์กติกาเพื่อควบคุม ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ แต่นับวันการควบคุมอำนาจเริ่มยากขึ้น เช่นเดียวกับโรคระบาดร้ายที่มักมีการกลายพันธุ์ ปรับตัวหนีการควบคุมตลอดเวลา

 

กลไกการควบคุมโรคติดต่อ

เพื่อให้โรคระบาดยุติ หรือจำกัดขอบเขตการแพร่กระจายของโรคที่ติดต่อจากคนสู่คน มาตรการทางสังคมจึงถูกสร้างขึ้นภายใต้สมมุติฐานว่าโรคติดต่อเกิดจากคนติดต่อกัน หากคนไม่ติดต่อกัน การแพร่กระจายของโรคติดต่อจะไม่เกิดขึ้น

ในสังคมที่ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิและการตัดสินใจของบุคคล รัฐอาจทำหน้าที่เพียงส่งข่าวสารให้ประชาชนได้รู้ถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์โรคระบาด ให้รู้ถึงแนวทางการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง และให้เป็นทางเลือกของประชาชนที่จะคิดตัดสินใจในการป้องกันตนเอง

เช่น จะสวมหน้ากาก จะทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือจะไปรวมกลุ่มสังคมตามที่เห็นเหมาะสม แต่เป็นเรื่องแน่นอนว่ามาตรการดังกล่าวคงไม่สามารถลดการแพร่ระบาดของโรคอย่างได้ผลนัก เพราะขาดมาตรการในการบังคับการติดต่อระหว่างคน

ในสังคมที่รัฐมีกลไกอำนาจในการกำกับผู้คน การประกาศภาวะฉุกเฉิน (State of emergency) เพื่อมอบอำนาจให้รัฐสามารถจัดการในการจำกัดเสรีภาพต่างๆ ในการติดต่อระหว่างผู้คนเพื่อระงับการติดต่อของโรค กลายเป็นรูปธรรมที่ทำเลียนแบบกันในประเทศต่างๆ

เช่น ห้ามออกจากบ้าน ห้ามเดินทาง ห้ามเปิดกิจการร้านค้าต่างๆ ปิดโรงเรียน ปิดสถานที่สาธารณะต่างๆ

ยิ่งตัดขาดความสัมพันธ์ผู้คนได้มาก ยิ่งลดความเสี่ยงในโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้น

 

กลไกการควบคุมอำนาจ

อํานาจที่ปราศจากการควบคุม ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล ท้ายสุดจะเป็นอำนาจที่นำไปสู่การทุจริตได้ง่ายที่สุด สิ่งนี้เป็นหลักการที่นักรัฐศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยกล่าวถึง และปรากฏรูปธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย

การออกแบบให้มีอำนาจอธิปไตย ให้มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระต่อกัน เป็นกลไกหนึ่งที่ออกแบบมาให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ฝ่ายบริหารจะใช้เงินงบประมาณต้องผ่านการพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติ การทำงานอะไรต้องรายงานต่อสภา และสภาก็สามารถตรวจสอบถ่วงดุลโดยการตั้งกระทู้ อภิปรายซักถาม ไปจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจหากฝ่ายบริหารขาดความชอบธรรม ในขณะที่ฝ่ายตุลาการก็เป็นอิสระในการตัดสินคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ยิ่งให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันอื่นที่มิใช่ฝ่ายบริหาร ยิ่งเป็นการทำให้กลไกการตรวจสอบถ่วงดุล ควบคุมการใช้อำนาจตามอำเภอใจยิ่งได้ผล

แต่ยิ่งไปสร้างกลไกเสริมความเข้มแข็งให้แก่ฝ่ายบริหารโดยไม่จำเป็น เช่น ไปสร้างกลไกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจากฝ่ายบริหารล้วนๆ ให้สัดส่วนของวุฒิสภาเป็นสัดส่วนที่มีความหมายในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ฯลฯ ยิ่งทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งแบบปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลได้โดยง่าย

 

โรคติดต่อกับอำนาจ

การประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน โดยนำพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาใช้ เป็นกรณีที่รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นขั้นวิกฤตที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อประเทศ

โดยในกรณีการแก้ไขโรคระบาดครั้งนี้มีประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 มีผลถึง 30 เมษายน พ.ศ.2563 ต่อครั้งที่ 1 มีผลถึง 31 พฤษภาคม และต่อครั้งที่ 2 มีผลถึง 30 มิถุนายน พ.ศ.2563 รวมเป็นระยะเวลาถึง 3 เดือนเศษ

ในมุมของการจัดการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค นี่คือการนำอำนาจของรัฐมาใช้เพื่อห้ามโอกาสของการติดต่อระหว่างคนในสังคม ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีว่า คนไม่ติดต่อกัน โรคติดต่อย่อมไม่เกิดขึ้น

การมีมติให้ต่อการใช้ภาวะฉุกเฉินของคณะรัฐมนตรี จึงมีความหมายถึงความเชื่อว่า อำนาจสามารถยับยั้งโรคได้

แต่การไม่ติดต่อกันระหว่างคนนั้น มีต้นทุนที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจมากมายที่เสียหายถึงขั้นล้มหายตายจาก

การว่างงานของผู้คนที่ตามมา

การเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาที่ไม่สามารถไปสถานศึกษาได้ตามปกติ

ต้นทุนการบริการต่างๆ ที่ต้องสูงขึ้นเพราะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม

การใช้จ่ายของงบประมาณภาครัฐที่ต้องไปชดเชยความเสียหายในเรื่องต่างๆ ที่ต้องกู้เงินมาดำเนินการในหลักล้านล้านบาท

ไม่รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ไม่รู้วันว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ในปีใด

อำนาจที่ถูกประเมินและเลือกใช้ในระดับที่เหมาะสม

ไม่หลงระเริงว่าใช้แล้วเกิดสิ่งดีงามสามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรค

เพราะเนื้อแท้ของการหยุดการแพร่กระจายไม่ได้อยู่ที่ความสามารถของการบริหารแต่อยู่ที่ห้ามผู้คนติดต่อ ยิ่งคนไม่ติดต่อ ไม่เปิดร้านค้า ไม่ทำมาหากิน ไม่เปิดโรงเรียนสถานศึกษา ทุกคนอยู่ในบ้าน ถึงไม่มีมาตรการอื่นใดของรัฐ โรคติดต่อก็ติดต่อไม่ได้เพราะคนไม่ติดต่อ

แต่ยังหากหลงว่า นี่คือสูตรของความสำเร็จ โดยไม่พยายามคิดค้นว่าจะหาทางให้คนติดต่อกันได้อย่างไรที่สามารถจำกัดการแพร่กระจายของโรคและทำให้สังคมเดินหน้าได้ หลงภาคภูมิใจกับตัวเลขการติดต่อโรคที่ลดลงเท่านั้น

อำนาจที่ติดต่อนี้ ร้ายแรงกว่าโรคระบาด