เจาะใจ “สมคิด จิรานันตรัตน์” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” เลาะรั้วกระทรวงคลังถึงใจประชาชน

สมคิด จิรานันตรัตน์” ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ยืนหนึ่งในทีมดูแลระบบการลงทะเบียนเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” เยียวยาแรงงานอิสระรายละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นมาตรการของรัฐที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด

เขาอยู่ในแวดวงการเงิน-การธนาคาร ไต่เพดาน-ชั่วโมงบินจากตำแหน่งประธานบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) และเป็นผู้บุกเบิก-ก่อนหน้าโมบายแบงกิ้ง K+ คิดค้น-ทำงานร่วมกับ “ปัญญาประดิษฐ์” ให้กับ “แบงก์กสิกรไทย”

“สมคิด” ทำงานอยู่ใน “โลกใหม่” ทว่าเขาต้องการทำให้ “โลกสองใบ” โคจรมาพบกันระหว่าง “โลกทางกายภาพ” เป็นโลกที่คุ้นเคย กับ “โลกมิติใหม่” เป็นโลกหลังโควิด-19 เป็นโลกที่จะเปลี่ยนแปลงระบบราชการให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

“สมคิด” เข้ารายการสนทนาสดกับ “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า ถกปัญหาชีวิต-เศรษฐกิจหลัง “ยุคโควิด”

เขาอธิบายในสิ่งที่เขาเชื่อว่า

“โลกที่คุ้นเคย คือโลกที่เราเห็นตัวตน สัมผัสกันได้ ไปมาหาสู่กัน เป็นโลกที่ต้องยืนยันตัวคน ด้วยตัวตนของคน ด้วยลายเซ็น ด้วยกระดาษ ด้วยตรายาง และการทำธุรกรรมด้วยเงินสด บัตรพลาสติก โลกที่มีต้นทุนในการประกอบอาชีพสูง โลกนี้ถ้ายึดติดมากเกินไป จะชะลอความสามารถในการแข่งขัน และต่อกรกับโลกมิติใหม่น้อยลง”

“โลกมิติใหม่” ในทัศนะผู้ทำเว็บ “เราไม่ทิ้งกัน” คือ “โลกดิจิตอล คือโลกที่ไม่ต้องเจอตัวตนกันเลย แต่รู้จัก เข้าใจ รู้ใจ ทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายได้ ไม่ต้องเดินทางไปมาหาสู่กัน โลกที่สะอาดปราศจากเชื้อ แต่เป็นโลกที่หมุนเร็ว มีต้นทุนทางกายภาพน้อย ต้นทุนการประกอบธุรกิจต่ำ เป็นโลกใหม่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถอยู่ในโลกแบบนี้ได้ด้วยความสามารถที่เท่าเทียมกัน อาจทำให้ผู้ที่มั่งมีและผู้ที่ยากจนอยู่ห่างกันยิ่งขึ้น…อย่างไรก็ตาม อาจเป็นโอกาสสร้างคนมั่งมีกลุ่มใหม่ได้”

โลกหลังโควิด-19 ทำให้คนไม่กล้าอยู่ใกล้กันทางกายภาพ ต้องมีการทิ้งระยะห่าง “โลกแบบนี้ หลายคนจำใจต้องทำ ถึงแม้จะไม่เคยชิน แต่นานเข้า บางเรื่องเราอาจจะชินจนชอบ ไม่อยากจะกลับไปทำแบบเดิม”

ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” ทำงานกับข้าราชการในกระทรวงการคลัง มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้าง “ดิจิตอลแพลตฟอร์มสำหรับประเทศไทย” ที่เป็น “เครื่องมือ” ทำให้รัฐบาลกับประชาชนมีความเข้าใจกันมากขึ้น ทำให้การศึกษามีคุณภาพดี เข้าถึงได้ไม่ว่าจะยากดีมีจน

เป็นแพลตฟอร์มที่ตัดตัวกลางที่ไม่จำเป็นทิ้งไป ทำให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภคอยู่ใกล้กันมากขึ้น คุณค่าอยู่กับผู้ผลิตมากขึ้น ผู้ผลิตรายเล็กมีคุณค่าสูงขึ้น “ย่อโลกให้เล็กลง”

และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการปฏิวัติโลกการเงินใหม่ โลกในอนาคตจะใช้ตัวกลางทางการเงินน้อยลง ความจำเป็นของธนาคารน้อยลง ต้นทุนต่ำลง คนตัวเล็กสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

ในทางการเมือง การมีแพลตฟอร์มให้รัฐบาลกับประชาชนมีความสัมพันธ์ใกล้กันมากขึ้น “ทำให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงของตัวเองได้โดยตรง เมื่อประชาชนมีปากมีเสียง อำนาจต่างๆ จะกลับไปสู่ประชาชน”

แพลตฟอร์มใหม่ประเทศไทยจะทำให้ “การตรวจเชื้อของการคอร์รัปชั่น สิ่งผิดปกติในการประมูล หรือการทำงานของภาครัฐ เพื่อหยุดเชื้อคอร์รัปชั่น”

“ผมใฝ่ฝันมานานมากว่า คุณภาพผู้บริหารภาครัฐ โดยเฉพาะนักการเมืองที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหารประเทศส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพล คนที่มีพรรคพวกเยอะ คนที่มี ส.ส.อยู่ในอาณัติของตัวเองเยอะ ก็จะได้เป็นรัฐมนตรี”

ความฝันอันดับ 1 เรื่องการเมือง ในโลกยุคใหม่ เป็นโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว รัฐมนตรี-ผู้บริหารต้องทันโลก ทันสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องรู้เพื่อตัดสินใจในสิ่งที่ทำ

“สมคิด” แบ่งคนไทย-ประชากรโลกออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก คนที่ปรับตัวไม่ได้เลย เทคโนโลยีจะเข้ามาทำหน้าที่แทน

“คนพวกนี้รัฐต้องดูแล แจกเงินให้เลยถึงจะอยู่ได้ ไม่แน่ใจว่าประเทศไทยมีฐานะที่จะแจกเงินในรูปแบบ Universal basic income (UBI) แต่ผมคิดถึง UBC (Universal basic coin) ให้เงินซื้อของได้บางประเภทเท่าที่จำเป็นและสามารถอยู่ได้”

กลุ่มที่สอง คนที่สามารถปรับตัวได้-Reskill ได้

กลุ่มที่สาม คนที่สามารถ-เชี่ยวชาญด้านดิจิตอล มีสปริงบอร์ด-กระโดดเพื่อขยับฐานะของตัวเองได้

กลุ่มที่สี่ คนที่มีความเชี่ยวชาญสูงในด้านดิจิตอล สามารถเป็นตัวแทนของบริษัทไทย-ตัวแทนของคนไทยเข้าไปแข่งขันในระดับนานาชาติได้

ช่วงที่ผ่านมา “สมคิด” เข้านอก-ออกในกระทรวงการคลัง-บนผังเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” เขาเห็นประชาชนกลุ่มที่ 1 กับกลุ่มที่ 2 มีจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ 1 มีจำนวนมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

เว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” ต้องตัดสินคน 28 ล้านคนว่าใครควรได้-ไม่ได้ เงิน 5 พันบาท “สมคิด” ในฐานะผู้ออกแบบเครื่องมือคัดกรอง บอกความรู้สึกว่า “ใช้เงินใช้เยอะได้ แต่ถ้าใช้เยอะแล้วทุกอย่างเหมือนเดิมน่าเป็นห่วงมาก”

“แต่ถ้าใช้เงินเพื่อสร้างความสามารถในโลกอนาคตเพื่อให้แข่งขันได้ เพื่อปรับโครงสร้างใหม่ ปรับรัฐใหม่ ปรับวิธีคิดของคนใหม่ สร้างคนรุ่นใหม่ พัฒนาระบบการศึกษา สร้างคนของประเทศในอีก 15 ปี 20 ปีข้างหน้าในโลกใหม่”

“เอาคนไทยเก่งๆ ที่มีอยู่ 5 พันถึง 1 หมื่นคน มารวมกันเพื่อสร้างแพลตฟอร์มประเทศไทย สู้กับ Facebook สู้กับ Google สู้กับอาลีบาบาได้”

หลังจากเขาเข้าไปคลุกคลีกับกระทรวงการคลัง เขายอมรับว่า ข้าราชการในกระทรวงการคลังเก่ง เก่งที่จะเลือกใช้คน แต่ยังติดกรอบของราชการ ทำให้ล่าช้า-ไม่กล้าตัดสินใจ แต่โทษคนไม่ได้ ต้องแก้ที่ระบบ

“เรามีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศได้ แต่สาเหตุที่เราเปลี่ยนไม่ได้มีสาเหตุและอุปสรรคใหญ่คือ กรอบกฎหมาย-ระเบียบ เราต้องการเปลี่ยนโครงสร้าง-วิธีการทำงานใหม่ของภาครัฐให้สามารถเอื้อต่อระบบดิจิตอลได้”

อุปสรรคข้อที่สอง โครงสร้างอำนาจในการตัดสินใจ-อนุมัติ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้รัฐกระฉับกระเฉง-คล่องตัว ทำให้สามารถเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐ โดยการลดอำนาจคน-ใช้เทคโนโลยีในการตัดสินใจ

“โครงสร้างอำนาจรัฐ โครงสร้างการอนุมัติต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ต้องใช้ Political will ในการแก้ไขเรื่องใหญ่ รัฐบาลไม่มีเวลาจัดการปัญหาใหญ่ การจัดการ-แบ่งอำนาจทางการเมืองก็กินเวลารัฐบาลไปหมดแล้ว”

การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยไม่ง่าย ต้องใช้อำนาจรัฐ ต้องใช้บทบาทของผู้นำที่มีความกล้าในการเปลี่ยน ต้องมีนักกฎหมายเก่งๆ เพื่อลบล้างกฎหมายเก่า 40-50 ปี เพื่อออกกฎหมายใหม่

หากเขามีอำนาจอยู่ในมือ หลังสถานการณ์โควิด-19 เรื่องแรก-เรื่องเดียวที่จะทำคือ การดึงคนไทยระดับหัวกะทิมาบริหารประเทศ

“สิ่งที่ผมอยากจะเห็นอันดับแรกคือ อยากเห็นคนเก่งของประเทศมาบริหารประเทศ เข้าใจเรื่องของอนาคต เข้าใจประชาชน และเอาประชาชนเป็นใหญ่ มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เป็นอยู่”

รัฐมนตรีคนเดียว นายกรัฐมนตรีคนเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ต้องให้ส่วนใหญ่ของคณะรัฐมนตรีเห็นไปในทางเดียวกัน ต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นไปในทางเดียวกันและรวมพลังกันเพื่อแก้ไขปัญหา

นี่คือมุมมองของนักออกแบบแพลตฟอร์มประเทศไทย ที่ต้องการให้รัฐกับประชาชนใกล้ชิดกัน ก้าวผ่านรั้วกั้นของกระทรวงการคลัง

ด้วยเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” อันลือลั่น และเป็นที่รู้จักกันดีในวันนี้