E-DUANG : บทบาท”ออนไลน์” ต่อปัญหานั่ง”รถกระบะ”

การยอมถอยของ “คสช.” การยอมถอยของ “ตำรวจ”ในเรื่องอันเกี่ยวกับการคาด”เข็มขัด”

เป็นผลพวงของ”โซเชียล มีเดีย”เน็ต-เน็ต

เสียงร้องที่ดังขึ้นจากขอบเขต “ทั่วประเทศ” มีจุดเริ่มต้นจากกระแส “ออนไลน์” อย่างเป็นด้านหลัก

ไม่ว่าจะเป็น”คลิป”จากตำรวจ “ชุมพร”

ไม่ว่าจะเป็น”คลิป” จากชาวบ้านบน “ดอยสูง” พร้อมกับการอัดกันเต็มที่ท้าย “รถกระบะ”

ไม่นับ”คลิป” ภาพจริง เสียงจริง ตอบโต้”โฆษก”

บาง “คลิป” อาจจะสุภาพ เรียบร้อย แต่หลาย”คลิป”ใช้สำนวนแบบเรื่องสั้นชุด”ขุนเดช”ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อย่างไม่เกรงใจ

ยิ่ง นักร้องเพลงร็อคยิ่งชู”นิ้วกลาง”ให้เลย

 

ทั้งหมดนี้ดำเนินไปเหมือนกับกระแส “นกเงือก” เหมือนกับกระแส “น็อต กราบรถ”

เป็น”ปฏิกิริยา” ตรงไปตรงมา “ร้อนแรง”

ตีตรงเป้า ตีตรงประเด็น สะท้อนให้เห็นความรู้สึกต่อคำสั่งอันสร้างความเดือดร้อนให้กับพวกเขา

เป็นเสียงมาจาก “รากหญ้า” มาจาก “คนจน”

เป็นเสียงของคนชั้นกลางที่รู้จักและมีความเข้าใจต่อ”ราก หญ้า”และ”คนจน”

มิใช่เสียงจาก”เพื่อไทย” มิใช่เสียงจาก”เสื้อแดง”

การชู “นิ้วกลาง”ให้เป้าหมายคือใคร มิได้เป็นความลับหากจริงใจ

ยิ่งวัน ยิ่งกระหึ่มไปทั่วประเทศ

 

เมื่อเสียงเหล่านี้ดังอย่างชนิดแซร่สนั่นจาก”ออนไลน์”ก็ไปปรากฏตาม “สื่อ”ที่เปิดเผย

เริ่มจาก”วิทยุชุมชน” ไปยัง”โทรทัศน์”

จากนั้น สื่อหนังสือพิมพ์อันเป็น”สื่อกระดาษ”ก็นำไปรายงานและติดตามความคืบหน้าอย่างละเอียด

ในที่สุด “คสช.”ก็ยอมถอย ในที่สุด”ตำรวจ”ก็ผ่อนปรน

ในยุคที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมิได้เป็นตัวแทน”ประชาชน”ในยุคที่รัฐบาลมิได้มาจาก “การเลือกตั้ง”

บทบาท”สื่อ”จึงสำคัญและทรงความหมาย