นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ชาตินักรบ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อผมเป็นเด็ก เขาย้ำกันว่า ไทยเป็นชาตินักรบ ผมอยากเดาว่าเป็นความคิดของหลวงวิจิตรวาทการ เพื่อตอบสนองนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ต้องการสถาปนากองทัพให้เป็นเสาเอกของชาติ (ยิ่งกว่ารัฐสภา, สถาบันพระมหากษัตริย์, และแน่นอนกว่าคณะราษฎร)

ก็ไม่แปลกอะไรนะครับ เพราะฐานอำนาจของ จอมพล ป. คือกองทัพ ที่น่าสนใจก็คือไม่ชัดเจนว่าท่านนิยามกองทัพให้เหนือกว่าประชาธิปไตยหรือไม่ ผู้นำทหารสมัยหลังจากท่านต่างหากที่รื้อเสาประชาธิปไตยทิ้งน้ำไปเลย

แต่ผมไม่พร้อมจะคุยเรื่องนั้น ที่ผมอยากคุยในตอนนี้ก็คือ “ชาตินักรบ”

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

ความคิดเรื่อง “ชาตินักรบ” นี้เป็นความคิดหรือความเข้าใจผิดของฝรั่ง ในช่วงล่าอาณานิคมนั้น หากไปพบใครต่อสู้ขัดขวางจนตัวลำบากกว่าจะได้ชัยชนะ ก็จะเรียกคนกลุ่มนั้นว่าเป็นชาตินักรบ (martial race) หากพบคนกลุ่มใดที่ตัวสามารถครอบครองได้ง่ายๆ ก็เรียกคนกลุ่มนั้นว่าเป็นชาติสตรีภาพ (feminine race)

เช่น อังกฤษได้แคว้นเบงกอลมาง่ายๆ จึงมองชาวเบงคลีว่าเป็นชาติสตรีภาพ แต่กว่าจะขยายอำนาจเข้าไปครอบครองแคว้นราชาสถานได้ก็หืดขึ้นคอ เพราะประชาชนเชื้อสายราชปุตร ทำสงครามกองโจรกับอังกฤษเป็นเวลานาน จึงเรียกชาวราชปุตรว่าชาตินักรบ

แต่ในกระบวนการกู้เอกราชอินเดีย กระแสที่เชื่อและใช้ความรุนแรง (นับตั้งแต่ตั้งซ่องโจรไปถึงร่วมมือกับญี่ปุ่นสร้างกองทัพขึ้นเพื่อขับไล่อังกฤษ) คือกระแสที่มีชาวเบงคลีเป็นผู้นำ หากอีกกระแสหนึ่งคือสันติวิธีซึ่งมี มหาตมะ คานธี เป็นผู้นำประสบความล้มเหลว ก็เชื่อได้ว่ากระแสความรุนแรงที่มีชาวเบงคลีเป็นผู้นำ จะเป็นขบวนการกู้ชาติเด่นที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความคิดที่มาจากความเข้าใจผิดของฝรั่งนี้ก็แพร่หลายในโลกตะวันออก รวมทั้งไทย ใครๆ ก็อยากเป็นชาตินักรบมากกว่าชาติสตรีภาพ (มีความคิดทางเพศสภาพและชายเหนือกว่าอยู่เบื้องหลังด้วย)

และเมื่อสามารถขยายความคิดนี้ไปใช้ได้ทุกสังคม ความเป็นชาตินักรบจึงไม่ได้อยู่ที่วัฒนธรรม แต่อยู่ที่เม็ดเลือด (หรือภาษาปัจจุบันคือหน่วยพันธุกรรม) ดังนั้น จึงไม่ได้จำกัดอยู่กับเพศชายที่เป็นนักรบเท่านั้น เพศหญิงของชาตินักรบจึงต้อง “มือก็ไกว ดาบก็แกว่ง” ไปด้วย

เรื่องนี้จะกระทบหรือไม่กับทัศนคติที่กำกวมของไทยปัจจุบันต่อการใช้กำลังในกรณีพิพาท ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน

แม้ผมรู้ว่า “ไทยเป็นชาตินักรบ” เป็นเพียงวาทกรรม คือความจริงที่สร้างขึ้นมาเพื่อจัดสรรอำนาจในสังคม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะหันไปดูข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพื่อจะดูว่าความเป็นชาตินักรบของเรานี้ เกรียงไกรสักแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ด้วยกัน

นั่นคือไม่ได้ดูที่เม็ดเลือด แต่ดูเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมว่า ไทย (อยุธยา-รัตนโกสินทร์) อยู่ในสภาพ “พร้อมรบ” มากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับพม่า, เวียดนาม, ชวา, ยะไข่ ฯลฯ เป็นต้น

AFP / MADAREE TOHLALA

ผมพบข้อเท็จจริงบางอย่างที่น่าแปลกใจแก่ผมดังนี้

1. พูดกันอย่างเคร่งครัด ไทยไม่เคยมีกองทัพประจำการเลย จนเมื่อ ร.5 สร้างขึ้นในสมัยของพระองค์ตามแบบแผนตะวันตก ฉะนั้น กองทัพไทยจึงมีอายุน้อยมาก และหาได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับกองทัพสมเด็จพระนเรศวรไม่

กองทัพประจำการคือกองกำลังที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำตลอดปี มีการแบ่งระหว่างพลทหารและนายทหารซึ่งต้องได้รับการฝึกแตกต่างกัน และเพราะต้องอยู่ประจำทั้งปีก็ต้อง “เลี้ยง” ด้วยเงินเดือนหรือเงินรางวัลอะไรที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องไปทำมาหากินอย่างอื่น (ยกเว้นชนบางชาติที่ใช้กองทัพประจำการในการปล้นสะดมช่วงชิงดินแดนหรือเรือสินค้าไปเรื่อยๆ จนเป็นอาชีพ แต่กองทัพประจำการอย่างนี้เหนื่อยฉิบเป๋ง และมักจะทรุดโทรมไปในชั่วอายุคนเดียวหรือสองคน)

แต่ถ้าพูดกันอย่างไม่เคร่งครัด ทุกรัฐใหญ่ๆ ของอุษาคเนย์ล้วนมีกองทัพประจำการมาแล้วทั้งสิ้น นั่นคือกองกำลังติดอาวุธ (ที่มักเป็นอาวุธที่ดีสุด) สำหรับเป็นองครักษ์ให้แก่กษัตริย์ กองกำลังอย่างนี้มัก “ประจำการ” อยู่นานกว่าการ “เข้าเวร” ไพร่ทั่วๆ ไป ในพม่า “เข้าเวร” อยู่ติดต่อกันถึง 3 ปี ในเวียดนาม “เข้าเวร” กันตลอดถึงอายุ 50 หากตายไปเสียก่อน ก็อาจมีโองการให้หมู่บ้านของเขาส่งคนมาแทนได้

ไทยก็เคยมีกองทัพประจำการอย่างนี้ แต่เมื่อดูการจัดองค์กรของกองทัพองครักษ์ไทยแล้ว หละหลวมกว่ารัฐอื่นๆ มากทีเดียว เช่นจำนวนหนึ่งยังอาศัยการ “เข้าเวร” เป็นปรกติคือปีละ 6 เดือน (เช่น ไพร่ของกรมล้อมพระราชวัง) ดังนั้น ก็อนุมานได้เลยว่าจะได้รับการฝึกปรือในด้านการรบจริงจังไม่ได้

อีกส่วนหนึ่งของกองทัพที่ต้องมีคือนายทหาร หรือชนชั้นสูงที่เป็นขุนน้ำขุนนางและเชื้อพระวงศ์ พวกนี้ “ประจำการ” แน่ และรัฐก็เลี้ยงดูด้วยการให้กำลังคนไว้ใช้สอย เบี้ยหวัด และอำนาจในการรีดไถประชาชน แต่มีจำนวนน้อย มีชาวต่างชาติปนอยู่ในสัดส่วนที่สูง

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

2.นายทหารประจำการทุกแห่งนั้นมีอันตรายทางการเมือง เพราะพวกนี้ได้รับการฝึกจนเชี่ยวชาญการรบระดับหนึ่ง มีกองกำลังในบังคับบัญชาของตนเอง ได้อยู่ใกล้ชิดกับกษัตริย์ เพราะหน้าที่หลักคือทหารองครักษ์ ฉะนั้น จึงแทรกแซงทางการเมืองง่าย หรือร้ายไปกว่านั้น อาจรวมกำลังกันชิงราชสมบัติเลยก็ได้

รัฐในอุษาคเนย์สำนึกอันตรายแง่นี้ของกองนายทหารประจำการอย่างดี แต่ละรัฐจะมีวิธีจัดการกับกองกำลังนายทหารเช่นนี้แตกต่างกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือกีดกันมิให้กองกำลังนายทหารมีอำนาจทางการเมืองอย่างอิสระได้

แต่ต้องคำนึงด้วยนะครับว่า หากจัดการกีดกันมากเกินไป สมรรถภาพของกองกำลังในการรบก็อาจลดลง จัดการน้อยเกินไปก็เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของผู้ปกครอง วิธีจัดการของพม่าทำให้กษัตริย์มีกองกำลังนายทหารกระจายไปได้เกือบทั่วประเทศ ฉะนั้น แกนกลางของกองทัพชาวนาที่เรียกเกณฑ์เป็นกองทัพใหญ่เพื่อทำสงครามของพม่าจึงใหญ่มากเมื่อเทียบกับไทย

ในเวียดนาม พัฒนาไปจนถึงแยกข้าราชการฝ่ายทหารออกจากฝ่ายพลเรือนได้ชัดเจน (เหมือนจีน) สามารถจ่ายเงินเดือน (เงิน+ข้าว+เสื้อผ้า) แก่ทหารได้ตั้งแต่ต้นอยุธยาแล้ว ซ้ำยังมีโรงเรียนนายทหารตั้งแต่ประมาณกลางอยุธยาเป็นต้นมา

เมื่อหันกลับมาดูวิธีจัดการของไทย การจัดการเพื่อป้องกันอำนาจทางการเมืองของกองนายทหาร ทำให้สมรรถภาพการรบของไทยเองลดลงอย่างมาก เช่น ไม่แยกให้ชัดระหว่างข้าราชการพลเรือนและทหาร (ทำให้ความเป็นปึกแผ่นของกองกำลังนายทหารลดลง) อาศัยการสืบทอดทักษะผ่านครอบครัวและประสบการณ์เป็นหลัก จึงเท่ากับจำกัดให้กองกำลังนายทหารอยู่ในชนชั้นที่กษัตริย์ไว้วางใจเท่านั้น ไม่มีการสอบที่เปิดกว้างแก่ทุกคนอย่างเวียดนาม (และจีน)

แม้แต่ตำราพิชัยสงครามของไทย ซึ่งมีเพียงสองฉบับ ฉบับแรกเขียนขึ้นในสมัยรามาธิบดีที่ 2 และฉบับที่สองเขียนขึ้น (คงจะ) ในสมัยพระนเรศวร ซึ่งได้ผนวกความรู้ด้านยุทธวิธีของพม่าไว้ด้วย ไม่มีความก้าวหน้าด้านยุทธวิธีของตนเอง

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

3.ความเป็น “ชาตินักรบ” ของไทยโดยเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านนั้น เห็นได้ชัดดีในทางเลือกต่างๆ ของรัฐอุษาคเนย์ในการตอบโต้กับความก้าวหน้าทางทหารและอาวุธของตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19

ในความเป็นจริง ความสามารถในการทำสงครามของรัฐอุษาคเนย์ไม่ได้ด้อยไปกว่าตะวันตกสืบมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีอาวุธในยุโรปทำให้อุษาคเนย์ตามไม่ทัน เพราะถูกกีดกันมิให้อาวุธสมัยใหม่ตกถึงมือได้จำนวนมากๆ เหมือนปืนคาบศิลา

ความก้าวหน้าที่ว่านั้นสรุปลงให้เหลือสั้นๆ ก็คือ ปืนที่ใช้กระสุนแบบกระแทก (หรือเข็มชนวนเจาะลูกกระสุน) ทำให้ยิงได้เร็วและไกลขึ้นอย่างมาก การคว้านลำกล้องเป็นเกลียว นอกจากทำให้ยิงได้ไกลขึ้นแล้ว ยังแม่นขึ้นด้วย จากกระสุนแบบนี้ทำให้ปืนใหญ่เบาลงเคลื่อนย้ายได้ง่าย และมีอำนาจทำลายล้างสูงขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีผลต่อปืนเรือซึ่งสามารถยิงให้ได้ผลร้ายแรงจากที่ไกลก็ได้

อีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการเพิ่มอำนาจเหนือกว่าของตะวันตกคือเรือไฟ เพราะทำให้สามารถวิ่งทวนน้ำขึ้นไปตีป้อมค่ายที่อยู่ลึกเข้าไปในแม่น้ำได้ด้วย รวมทั้งเอาปืนไปจ่อเมืองหลวงได้ง่ายๆ

ดังนั้น รัฐต่างๆ ในอุษาคเนย์จึงไม่อาจรักษาดินแดนแถบชายฝั่งและริมแม่น้ำได้อีกต่อไป หลายประเทศตกเป็นเมืองขึ้นคือยอมเซนสัญญาแต่โดยดีเพราะเหตุนี้

แต่ความได้เปรียบของตะวันตกก็สุดสิ้นลงแค่นี้ ลึกเข้าไปในแผ่นดินซึ่งเรือไฟไปไม่ถึง ลากปืนใหญ่ไปไม่ได้ง่าย ส่งทหารเข้าไปแล้วก็ส่งกำลังบำรุงได้ยาก สื่อสารกันแทบไม่ได้ ความเสียเปรียบของอุษาคเนย์ด้านเทคโนโลยีอาวุธก็ค่อยๆ หมดไป

ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 เราจะเห็นการต่อต้านจักรวรรดินิยมในส่วนในของแผ่นดินอุษาคเนย์ทั่วไป ตั้งแต่ฟิลิปปินส์ ชวา สุมาตรา เวียดนาม ไปถึงพม่า ในรูปของกองกำลังย่อยๆ ของชาวบ้าน (ที่ฝรั่งเรียกว่า “โจร”) กว่าฝรั่งจะปราบ (ซึ่งฝรั่งแสร้งเรียกว่า pacify) ได้ในแต่ละแห่งก็ใช้เวลาหลายสิบปี และที่เอาชนะได้ก็เพราะหันมาใช้ยุทธวิธีของอุษาคเนย์ ลอกเลียนแม้แต่การทำป้อมค่ายแบบชาวพื้นเมือง และครอบครองหมู่บ้าน เพื่อตัดการส่งกำลังบำรุงแก่กองกำลังพื้นเมือง

ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 สังคมไทยเลือกจะเผชิญกับอำนาจของตะวันตกอย่างไร ผู้ปกครองไทยเลือกทางยอมจำนน เพราะดินแดนที่เป็นหัวใจของอำนาจล้วนอยู่ริมทะเลหรือมีแม่น้ำใหญ่เข้าถึง (ที่จริงพระเจ้ามินดงแห่งพม่าก็ใช้นโยบายเดียวกัน แต่ก็ไม่สามารถรักษา “เอกราช” ของพม่าได้) รัฐไทยซึ่งอยู่ใกล้ทะเลกลายเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจอาณานิคมของฝรั่ง ดังนั้น จึงต้องเผชิญกับการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านไทยในทั่วทุกภาคเอง บางแห่งต้องใช้เวลาปราบปรามกันหลายสิบปีเหมือนกัน เช่น กบฏชาวนาในรูป “อ้ายเสือ” และกบฏจีนในนามของ “อั้งยี่” ในภาคกลางและใต้ หรือการฝืนอำนาจรัฐของ “พระป่า” สายต่างๆ ในอิสานและภาคเหนือ บางแห่งอาจใช้เวลาไม่นานเท่า เช่น “ผีบุญ” ในอีสานและภาคเหนือ

อันที่จริงรัฐอุษาคเนย์โบราณไม่ต้องการเห็นกองกำลังที่เป็นอิสระจากรัฐทั้งนั้น และพยายามทุกทางไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อรัฐถูกฝรั่งยึดไปแล้ว กองกำลังชาวบ้านจึงเกิดขึ้นโดยไม่ถูกผู้ปกครองเดิมขัดขวาง (ที่จริงบางแห่งแอบสนับสนุนอย่างลับๆ ด้วย) ในขณะที่ในเมืองไทยรัฐแบบเดิมไม่ได้ถูกฝรั่งยึด รัฐแบบเดิมจึงต้องจัดการกับกองกำลังเหล่านี้ด้วยตนเองตามวิธีคิดแบบเดิม

รัฐไทยสร้างกองทัพประจำการแบบใหม่ขึ้น และใช้กำลังส่วนนี้ (ในรูปตำรวจหรือทหาร) เข้าปราบปราม หลังจากนั้นก็บรรยายถึงการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านเป็น “กบฏ” หมด ทำให้ไทยไม่มีประเพณีการต่อต้านอำนาจต่างชาติที่ฝังลึกอย่างพม่าหรือเวียดนาม เพราะแยกไม่ออกระหว่างอำนาจต่างชาติกับอำนาจของรัฐตัวเอง

กองทัพประจำการไทยสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์เหมือนกองทัพอาณานิคมทุกประการ คือเพื่อควบคุมประชาชนภายใน ไม่ใช่เพื่อต่อสู้กับอริราชศัตรู

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

เม็ดเลือดไทยนั้นเป็น “ชาตินักรบ” หรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ความพร้อมรบของสังคมใดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเม็ดเลือด แต่ขึ้นอยู่กับการจัดสรรอำนาจและการจัดองค์กรรองรับอำนาจเหล่านั้นต่างหาก

เราจัดสรรอำนาจและจัดองค์กรไม่ใช่เพื่อรบกับคนอื่น แต่เพื่อรบกับคนไทยด้วยกันเองมาแต่ต้น ความเป็น “ชาตินักรบ” ของเราจึงน่ากลัว

(อาศัยข้อมูลประวัติศาสตร์จาก Southeast Asian Warfare, 1300-1900 ของ Michael W. Charney)