รักคุณเท่า “ลุง”

แม้จะไม่เกี่ยวกับ “การเมือง” โดยตรง

แต่กรณี “การบินไทย” กลับกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ทางการเมืองที่น่าจับตามอง

ถ้ารัฐบาลปลดชนวนผิด

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เพียงแค่กับ “การบินไทย” เท่านั้น

แต่ยังส่งผลสะเทือนทางการเมืองด้วย

เพราะในภาวะเช่นนี้ คนจะนำเรื่องงบประมาณที่ใช้อุ้มการบินไทยมาเปรียบเทียบกับการช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้

อะไรสำคัญกว่ากัน

ถ้าใครได้ฟังการให้สัมภาษณ์ของ “บรรยง พงษ์พานิช” อดีตบอร์ดการบินไทยยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

จะตกใจกับข้อมูลความเละเทะของสายการบินแห่งชาติ

เพราะทันทีที่เปิดให้มีการแข่งขันเสรี ความเป็นรัฐวิสาหกิจที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์และเด็กฝากลูกท่านหลานเธอก็ไม่สามารถแข่งขันได้

สายการบินขนาดเดียวกันใช้คน 8,000 คน

แต่การบินไทย 20,000 คน

กระบวนการจัดซื้อทุกอย่างของ “การบินไทย” ล้วนมี “เอเย่นต์” กินกำไร

และ “เอเย่นต์” ก็คือผู้บริหารเก่าของการบินไทย

ที่ตลกและขมขื่นที่สุดก็คือ การซื้อเครื่องบินโดยสาร

ในโลกนี้มีเพียง 2 บริษัท คือ โบอิ้งและแอร์บัส

สายการบินอื่นซื้อตรงกับ 2 บริษัท

แต่ “การบินไทย” ซื้อผ่าน “เอเย่นต์” คนไทย

“เราพูดภาษาอังกฤษกันไม่ได้หรือ”

เป็นคำถามกึ่งประชดประชันของ “บรรยง”

ที่คนไทยฟังแล้วร้องไห้

ถ้าเราลองไล่เรียงตัวเลขผลประกอบการในอดีต นับตั้งแต่ยุค “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี

จนถึงสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ช่วงที่ “การบินไทย” รุ่งโรจน์มีผลกำไรต่อเนื่อง คือยุคของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “ทักษิณ”

ยุค “สมัคร” กับ “ยิ่งลักษณ์” ก็ลุ่มๆ ดอนๆ

กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง

แต่มาหนักหนาสาหัสที่สุด ก็คือสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

5 ปีขาดทุนไปเกือบ 40,000 ล้านบาท

ตัวเลขการขาดทุนของการบินไทยสะสมต่อเนื่องมายาวนาน

ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ชี้นิ้วไปที่ “การบินไทย”

“ให้โอกาสมา 5 ปีแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย”

4 นิ้วในมือจึงชี้กลับไปที่ พล.อ.ประยุทธ์

เพราะเขาได้ใช้โอกาสมานาน 5 ปีเหมือนกันในการเป็น “นายกรัฐมนตรี”

“นายกรัฐมนตรี” ที่ดูแล “การบินไทย”

ผู้บริหารสูงสุดจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรบ้างหรือ