มุกดา สุวรรณชาติ : อย่า…บริหารบ้านเมือง แบบการบินไทย

มุกดา สุวรรณชาติ

การเมืองเปรียบเทียบ…
ถอยหลังลงคลอง
ตัวชี้วัดคือ การรัฐประหาร,รัฐธรรมนูญ
และการซื้อ ส.ส.

ครบรอบ 10 ปี การสังหารหมู่กลางเมืองในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ประชาชนตายเกือบ 100 บาดเจ็บ 2,000 แต่ฟ้องใครยังไม่ได้เลย เป็นการชี้ชัดว่า ระบอบประชาธิปไตยของเรา อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชน และไม่ได้ถูกกำหนดโดยประชาชน ไม่ได้ใช้อำนาจเพื่อประชาชน จะเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบหรือน้อยกว่าครึ่งใบก็ได้

ถ้าพิจารณาตามโครงสร้าง และบุคคล ปัจจุบัน ที่ประกอบเป็นอํานาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ จะพบว่ามีลักษณะเป็นอํามาตยาธิปไตยมากกว่า

การรัฐประหารทำให้การเมืองถอยหลังทุกครั้ง ดูได้ทุกกรณี เริ่มตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ต่อสู้กับเผด็จการจนทำให้เราได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงพอสมควร

แต่เลือกตั้งไปได้ 2 ครั้งก็ถูกรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ได้รัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร ฉบับ 2521 ทำให้เกิดประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น

ผ่านไปร่วม 10 ปีจนถึงยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ทำท่าจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบแต่ก็ถูกรัฐประหารอีกในปี 2534 แต่เกิดพฤษภาทมิฬในปี 2535 เอาชนะ รสช.ได้ ทำให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่เป็นประชาธิปไตย แม้แต่ ส.ว.ก็ยังเลือกตั้ง เป็นครั้งแรกที่ระบอบประชาธิปไตยเดินต่อและพัฒนาได้ยาวนานเกือบ 15 ปี จนใครๆ ก็คิดว่าเราหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์แล้ว

แต่พอถึงปี 2549 รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกรัฐประหาร ระบอบประชาธิปไตยก็ถอยหลังได้รัฐธรรมนูญ 2550 ส.ว.จากการเลือกตั้ง ก็เปลี่ยนมาเป็นแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง การต่อสู้ทางการเมืองมีการแทรกแซงด้วยองค์กรอิสระ และระบบตุลาการภิวัฒน์

กลุ่มอำนาจเก่าใช้กำลังทหารล้อมปราบประชาชน ในปี 2553 เพื่อรักษาอำนาจที่แย่งชิงมา ในที่สุดก็เกิดรัฐประหารในปี 2557 ซ้ำอีกครั้ง เพื่อโค่นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คราวนี้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 ที่ให้ ส.ว.แต่งตั้งสามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ ไม่น่าเชื่อว่าการเมืองวนกลับไปที่เดิมแม้เดินมาแล้ว 40 ปี

การเมืองยุคนี้เละเพราะใช้วิธียุบพรรค และซื้อ ส.ส.

 

ความยุติธรรมเปรียบเทียบ
ตัวชี้วัดคือ ตุลาการภิวัฒน์
และการไม่สามารถฟ้องร้อง
ผู้รับผิดชอบการสังหารประชาชน

14 ตุลาคม 2516 นักศึกษา ประชาชนที่เสียชีวิตมีชื่อว่าเป็นวีรชน แต่ผู้สังหารและผู้บงการลอยนวล

6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาแพ้ ถูกสังหารหมู่อย่างทารุณกลางเมือง ต้องหนีเข้าป่า และกลุ่มที่ฆ่าคนกลางเมืองก็ลอยนวลเหมือนเดิม แต่การต่อสู้ด้วยอาวุธ 5-6 ปี ทำให้มีคนตายไปหลายพัน คนบงการยังมีอำนาจต่อไป

พฤษภาคม 2535 การชุมนุมโค่นคณะรัฐประหาร รสช. ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่ราชดำเนิน และคนที่ฆ่าก็ยังลอยนวลเหมือนเดิม

เมษายน-พฤษภาคม 2553 ประชาชนคนเสื้อแดง เห็นพันธมิตรเสื้อเหลือง ชุมนุมยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน และเปลี่ยนรัฐบาลได้ ก็ไปชุมนุมทวงอำนาจคืน แต่ม็อบไพร่ไร้เส้น ถูกปราบด้วยอาวุธสงครามตายและบาดเจ็บมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 10 ปีผ่านไประบบยุติธรรมของเราไม่เปิดโอกาสให้ฟ้องผู้รับผิดชอบ

ชีวิตประชาชนวันนี้จึงมีค่าเท่ากับไพร่ยุคก่อนจริงๆ

แม้ผู้นำทางการเมืองก็ต้องเจอด่านอยุติธรรม เช่นอดีตนายกฯ ทักษิณ

นอกจาก 30 บาทรักษาทุกโรค สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์และทำให้หลายคนยังไม่ลืม คือการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีคนพยายามก่อสร้างมานานหลายสิบปี เมื่อสภาพที่ดินทุกอย่างพร้อมมีงบประมาณต่างๆ เรียบร้อยแล้ว

แต่นายกฯ ทักษิณประกาศว่าจะยกเลิกการประกวดราคา วงเงิน 54,000 ล้าน เพราะแพงเกินไปและรองรับผู้โดยสารได้แค่ 35 ล้านคน เมื่อเปิดสนามบินก็จะเต็มทันที ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคา วิ่งมาเจรจาใหม่ลดราคาเหลือ 36,666 ล้าน และออกแบบให้รองรับผู้โดยสารเป็น 45 ล้านคน ประหยัดเงินไปหมื่นเจ็ดพันล้าน

นี่เป็นความภูมิใจของนายกฯ ทักษิณ แต่ไม่สามารถมาเป็นประธานในพิธีเปิดได้ เพราะถูกรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน ขณะอยู่ที่สหประชาชาติ ประเทศอเมริกา พิธีเปิดสนามบินสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการคือ 28 กันยายน 2549 หลังรัฐประหาร 9 วัน จากนั้นกลุ่มอำนาจเก่าก็ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้อดีตนายกฯ ทักษิณกลับเข้าไทย

ถ้าคนเคยเป็นนายกฯ โดนขนาดนี้ คนธรรมดาไม่ต้องพูดถึง

สิบกว่าปีที่เรานิ่งเฉยต่อความอยุติธรรม มันจึงขยายอิทธิพลไปเรื่อย และผลกรรมอันนั้นย่อมส่งผลกระทบไปทั่ว วันนี้บางคนอาจไม่ได้แม้เงินเยียวยา Covid-19 เดือนละ 5,000 แต่บางกลุ่มจะได้เดือนละ 50,000

การบริหารเปรียบเทียบ
อย่า…บริหารประเทศไทย
แบบเดียวกับบริหารการบินไทย

1.การบริหารบริษัทที่ต้องแข่งขันกับคนอื่น จะมาใช้ระบบอุปถัมภ์ไม่ได้เด็ดขาด ยุคผูกขาดจบไปหลายปีแล้ว การบริหารประเทศวันนี้ก็คล้ายกัน ต้องแข่งทั้งในประเทศ ในภูมิภาค และระดับโลก ถ้าแพ้ ประชาชนจะลำบากด้วยกันทั้งหมด

จำได้ว่ายุคนั้นการท่องเที่ยวเริ่มขยายตัวมากขึ้น มีการตั้งเป้าหมายให้มีนักท่องเที่ยวจำนวน 10 ล้านคนต่อปี

สิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณทำให้กับวงการบินนอกจากสุวรรณภูมิคือ เปิดเสรีการบินและช่วงเวลานั้นเราก็เริ่มมีสายการบิน low cost น่าจะประมาณ 2547

หลังจากนั้นผู้โดยสารทางไกล ภายในประเทศ ก็หันมาขึ้นเครื่องบินแทนรถโดยสารเป็นจำนวนมาก ค่าเครื่องบินถูกลงจนทำให้คนชั้นกลาง ชั้นล่างได้มีโอกาสนั่งเครื่องบินแทนรถยนต์ ประหยัดเวลาไปได้เยอะ สายการบินใหม่ก็เกิดขึ้นหลายสาย

แต่การบินไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ทั้งที่เป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุนมากที่สุด จำได้ว่าราคาหุ้นครั้งแรก คือ 60 บาท ดูราคาเมื่อวาน เหลือ 5 บาท

2. เรื่องนี้ไม่ต้องโทษ Covid-19 เพราะผลประกอบการ 5 ปีหลัง ขาดทุนรวม 38,000 ล้าน สถานะของการบินไทยอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลายได้ เพราะสิ้นปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 12,000 ล้านบาท ปี 2563 ประเมินว่า ช่วง 6 เดือนแรกจะขาดทุน 18,000 ล้านบาท ฝ่ายบริหารบอกว่ามีเงินเหลือพอจ่ายเงินเดือนพนักงานแค่ 2 เดือน

ทำให้การบินไทยอาจหยุดบินถาวร จึงต้องขอลดเงินเดือนลงทุกคน ช่วงวิกฤตเมษายนและพฤษภาคม 2563

เงินเดือนไม่เกิน 40,000 บาท ปรับลด 25%

เงินเดือน 40,001-60,000 บาท ปรับลด 30%

เงินเดือน 60,001-100,000 บาท ปรับลด 35%

เงินเดือน 100,000 บาทขึ้นไป ปรับลด 40%

เงินเดือน VP/MD/นักบินผู้ช่วย ปรับลด 40%

เงินเดือน EVP/นักบิน ปรับลด 50%

แต่สหภาพการบินไทยไม่ยอมรับ มองว่าไม่เป็นธรรมเพราะพนักงานระดับล่างมีเงินเดือนน้อยต้องถูกตัดเงินเดือนในอัตราที่สูงเท่าพนักงานระดับบน (ถ้าช่วงวิกฤตไม่ปรับตัว ก็ต้องใช้หลักตัวใครตัวมัน)

3. เจ้าหนี้รายใหญ่ของการบินไทยคือธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน นอกจากนี้ การบินไทยยังเป็นหนี้จากเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ 74 แห่ง ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจและข้าราชการ สหกรณ์มหาวิทยาลัยต่างๆ และสหกรณ์ทหาร ตำรวจ สหกรณ์หน่วยงานราชการกรมกองต่างๆ ซึ่งเป็นเงินรวมกันถึง 36,000 ล้าน เช่น กฟผ. ม.ธรรมศาสตร์ กฟภ. กรมป่าไม้ ปตท. กรมทางหลวง ฯลฯ

ถ้าการบินไทยเจ๊งก็ต้องมาจัดสรรปันส่วนใช้หนี้ คงจะได้แบ่งหุ้นให้กับสหกรณ์ต่างๆ นำไปกระจายต่อให้สมาชิก เพราะเงินก้อนนี้เอาไปใช้หมดแล้ว

4. ถ้าจะหาเงินกู้มาอีกคงไม่มีใครให้ นอกจากให้รัฐบาลค้ำประกัน ก็เท่ากับช่วยพนักงานการบินไทยให้ได้ทำงานโดยมีเงินเดือนสูงต่อไป อาจจะนานถึง 20 เดือน เพราะปัจจุบันพนักงาน 20,000 คนมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทน 1,176 ล้าน เวลา 20 เดือนรวมเป็นเงิน 23,520 ล้าน แสดงว่าพนักงานการบินไทยจะได้ทำงานต่อไปโดยได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยคนละ 58,800 ต่อเดือน รวมแล้วจะได้คนละ 1,176,000 บาท (แต่ถ้าเทียบกับความช่วยเหลือให้กับชาวบ้านที่อยู่ในภาวะวิกฤตเหมือนกัน ได้เพียงเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน)

ที่เราประเมินว่า 20 เดือนก็เพราะว่านายกฯ บอกว่าจะให้ครั้งสุดท้าย คิดว่าโดยฝีมือของการบินไทยยังสามารถลากต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ถ้าได้เงินกู้ไปถึง 54,000 ล้านจริง ต่อให้จอดเครื่องบินไว้เฉยๆ ก็ยังอยู่ได้ 20 เดือน แต่ถ้าขยันทำมาหากินแบบเดิมๆ ในช่วงนี้ เงินอาจหมดใน 10 เดือน

5. ต้องเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการบริหาร ให้เป็นแบบบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ธรรมดาโดยให้พนักงานการบินไทยทั้งหมดได้ซื้อหุ้นอย่างเต็มที่ตามมูลค่าปัจจุบัน

ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายแปลงหนี้เป็นหุ้น และให้ประชาชนผู้สนับสนุนการบินไทยสามารถเข้าซื้อหุ้นได้ด้วย

เมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้ชัดเจน ราคาต่อหุ้นอาจปรับตัวต่ำกว่า 5 บาทก็ไม่เป็นไร เพราะยิ่งต่ำก็จะมีผู้สนใจซื้อมากขึ้น

บริษัทการบินไทยก็จะหดตัวเล็กลง การบินไทยมีทรัพย์สินจำนวนไม่น้อย ขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นออกไป เมื่อการบริหารเป็นแบบบริษัทธรรมดา ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ ผู้ที่ต้องการอภิสิทธิ์ เงินเดือนค่าตอบแทนสูงก็จะทยอยออกไปเอง จากนั้น จึงจะพอแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ได้

6. เวลามีกำไร ก็ได้โบนัส จ่ายปันผลกันเอง

ส่วนเรื่องการใช้หนี้เมื่อรัฐบาลค้ำประกัน ก็เอาเงินภาษีประชาชนมาจ่ายหนี้แทน

ในโลกนี้คงไม่มีอีกแล้ว ที่ผ่านมาน่าจะพอเพียง ถึงเวลาต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง การค้ำประกันเงินกู้ก้อนนี้ ใครๆ ก็บอกว่าสูญเปล่า

 

เวลาที่ประชาชนลำบากที่สุด เพิ่งจะเริ่มต้น

ช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดน่าจะเริ่มต้นที่ปลายปีนี้ 2563

ที่บอกว่ายังไม่ลำบากที่สุดในขณะนี้ก็เพราะว่ายังมีเงินจากโครงการรัฐบาลต่างๆ ให้ใช้จ่ายกัน แม้จะไม่ทั่วถึง แต่ในสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ เงินก็จะหมุนเวียนและชดเชยความยากลำบากของคนที่ไม่มีงานทำและไม่ได้ออมเงินไว้หรือออมไว้แต่มีน้อยมาก แต่เงินเยียวยาช่วยได้ชั่วคราว ต้องหวังให้โรคระบาดลดลงจนทำให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา การทำมาหากินก็จะกระเตื้องขึ้นได้เกือบทุกด้านทำให้ค่อยๆ ฟื้นตัว

แต่ถ้าหากปัญหาโรคระบาดยังมีอยู่บ้างเล็กน้อยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความกังวลจะทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวไม่เติบโตเหมือนเดิม ประกอบกับกำลังซื้อ กำลังเงินของนักท่องเที่ยวทั่วทั้งโลกก็ต้องตกลงตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ดังนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวจะต้องหายไปเป็นจำนวนมากจะเห็นชัดในปลายปี 2563 และตลอดปี 2564 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐก็หมดไปแล้ว

การฟื้นตัวของการผลิตอื่นๆ ก็ต้องใช้เวลา

ดังนั้น จากปลายปี 2563 ประชาชนทุกคนภาคธุรกิจทุกสาขาจะต้องพึ่งตนเองเอาตัวรอดให้ได้

การบริหารบ้านเมือง ถ้าใช้แนวทางระบบอุปถัมภ์ ก็จะไม่ได้คนมีความสามารถ เงินทองจะไหลไปทางผู้มีอำนาจ มีเส้นสาย มากกว่าที่จะมาสู่ประชาชน และคนจนจะล้นแผ่นดิน