เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : ฝรั่งเขียน ญี่ปุ่นเขียน

ผู้เขียนไปแวะ “บ้านฮอลันดา” กับ “หมู่บ้านญี่ปุ่น” ที่จังหวัดอยุธยาหลายครั้งแล้ว และคิดว่าจะไปอีกเมื่อมีโอกาส การไปทั้งสองแห่งเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ ไปเพราะเห็นป้ายชี้ทาง และเพื่อนผู้ร่วมทางตัดสินใจเลี้ยวรถเข้าไป

เมื่อได้สัมผัสก็พบว่าทั้งสองแห่งเป็นสถานที่เล็กๆ ที่มีความหมาย เป็นอย่างที่เรียกว่า “Small is Beautiful”

ทั้งสองแห่งเป็นอาคารเล็กๆ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา การตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เป็นเพราะในสมัยอยุธยารุ่งเรือง ทั้งคนญี่ปุ่นและคนดัตช์ได้เข้ามาค้าขายและตั้งหลักแหล่งอยู่ที่อยุธยาเป็นหมู่บ้าน และแน่นอนการค้าขายในยุคนั้นเกิดขึ้นทางน้ำ และเมื่อพวกเขาตั้งบ้านเรือนก็จึงได้ทำเลที่ติดกับน้ำด้วย

สมาคมไทย-ญี่ปุ่นเป็นผู้สร้างหมู่บ้านญี่ปุ่น ส่วนหมู่บ้านฮอลันดาเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2547 ภายหลังการเสด็จพระราชดำเนินของพระราชินีเบียทริกซ์ และมกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ เกิดความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์

ในที่สุดจึงได้สร้างอาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดาขึ้นที่บริเวณที่เป็นหมู่บ้านฮอลันดาเดิม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของสถานีการค้าบริษัทวีโอซี Dutch East India Company (หรือเรียกว่า วีโอซี – Verenigde Oostindische Compagnie) โดยพยายามยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมให้มากที่สุดผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่

เป็นอาคารเล็กสีแสดมีสองชั้น บริเวณด้านหนึ่งมีเรือสินค้าโบราณลำเล็กจอดอยู่ ด้านล่างเป็นร้านกาแฟและที่นั่งพักผ่อน ด้านบนเป็นพิพิธภัณฑ์

ที่ร้านกาแฟซึ่งมีสีสันสดใสแบบดัตช์ มีชั้นหนังสือประวัติศาสตร์ไม่กี่เล่ม แต่ก็เตะตาทีเดียว หยิบ จดหมายเหตุพงศาวดารกรุงสยามของ ลา ลูแบร์ ขึ้นมาเปิดด้วยความสนใจ รู้สึกเหมือนเจออัญมณีมีค่า นึกในใจถ้าบ้านอยู่อยุธยาก็จะดีหรอกจะได้มาอ่านที่นี่ทุกวัน

จำไม่ผิดว่าเป็นของ ลา ลูแบร์ ไม่ใช่ของวันวลิต ซึ่งเป็นชาวฮอลันดา

 

สิ่งที่อ่านพบเกิดจากการพลิกอ่านผ่านๆ ชั่วเวลาชั่วโมงเดียวที่นั่งเล่นอยู่ที่ร้านกาแฟนั้น

กรุงเทพฯ หาห้องสมุดดีๆ ใกล้ๆ บ้านยากเต็มที

ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุด เกี่ยวกับสยามในสมัยอยุธยา เปิดขึ้นมาเห็นบันทึกแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ อ่านง่าย ไม่ได้เป็นการบรรยายไปเรื่อยๆ เหมือนจดหมายเหตุอื่นๆ ที่เคยเห็น น่าจะเป็นฉบับที่มีการอีดิตและแบ่งหัวข้อกันในภายหลังหรืออย่างไร

ลา ลูแบร์ เป็นราชทูตที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมาเจริญพระราชไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วได้เขียนบันทึกไว้ บันทึกนี้เขียนเมื่อมาอยู่สยามได้ไม่นาน แต่ผู้เขียนออกตัวว่าพยายามค้นคว้ามากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

จดหมายเหตุของไทยที่บอกเล่าเกี่ยวกับสังคมชาวบ้านธรรมดาแทบหาไม่ได้เลย เมื่ออยากรู้ก็ต้องอ่านจากของฝรั่งที่เคยมาอยู่ในประเทศไทย

มีข้อสังเกตของฝรั่งที่สะท้อนมุมมองของเขา เป็นมุมมองเปรียบเทียบ เช่น การกินการอยู่ การแต่งกาย

ฝรั่งมองว่าไทยกินง่ายอยู่ง่าย เช่น อาหารก็มีข้าวกับปลา และมักจะกินปลาตากแห้ง

ส่วนการแต่งกายก็ง่ายๆ อีกเช่นกัน

 

ข้อสังเกตที่ผู้เขียนอ่านแล้วสะดุ้งคือเรื่องการทำศึกสงคราม ฝรั่งเขียนว่าคนไทยนั้นรบไม่เก่ง เพราะเป็น คนหุนหันพลันแล่น นี่แสดงว่านิสัยของคนไทยที่ฝรั่งมองเห็นเป็นอย่างนั้น

ฝรั่งมาสยามด้วยต้องการประโยชน์บางอย่าง เมื่อมาถึงก็บันทึกเรื่องราวและนำกลับไปยังประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าใจคนท้องถิ่นเพื่อการวางแผนให้ได้สิ่งที่ต้องการ

ฝรั่งมองเห็นการเป็นคนหุนหันพลันแล่นของคนไทยเป็นจุดอ่อนแน่นอน และนี่คือข้อสังเกตถึงวิธีการเขียนของฝรั่งที่เขียนเพื่อเป้าหมายบางประการ

คุณลักษณะการเขียนแบบนี้บ่งบอกถึงวีธีคิด วิธีดำเนินชีวิตของชาวตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม และบอกถึงพื้นฐานความคิดโดยทั่วๆ ไปของชนชาติที่ต้องการ “พิชิตโลก”

ซึ่งไม่ใช่วีธีคิดของคนตะวันออก

ฝรั่งสนใจต่อคุณลักษณะของคนตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ที่มีอิทธิพลต่อความคิด และการดำเนินชีวิตของคนตะวันออก ฝรั่งเห็นว่าคุณลักษณะหลายอย่างของคนไทยเกิดจากการเป็นคน “เมืองร้อน” ซึ่งทำให้ไม่กระตือรือร้น

อีกประเด็นที่อ่านแล้วหน้าชา คือหนังสือเล่มนี้บอกว่า “คนไทยชอบโกหก”

ฝรั่งถือเรื่องนี้มาก แต่คนไทย “ชิล ชิล”

ฝรั่งต้องการพิชิตโลก แต่ญี่ปุ่นต้องการ “พัฒนาตนเอง” แบบค่อยเป็นค่อยไป

 

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อ่านในเวลาใกล้เคียงกัน ไม่ได้อ่านที่หมู่บ้านญี่ปุ่น แต่ได้มาจากร้านขายหนังสือทั่วไป เขียนโดยคนญี่ปุ่น มีชื่อว่า “51 วิธีคิดของหัวหน้าที่ทำให้ลูกน้องอยากทำงานด้วย” เขียนโดยอดีตซีอีโอของ สตาร์บัค ญี่ปุ่น อิวะตะ มัตสึโอะ

เขาพูดถึงวิธีการทำงานของคนที่ไต่เต้าจากตำแหน่งเล็กๆ จนได้ขึ้นมาเป็นซีอีโอ โดยหาได้มีบุคลิกเป็นผู้นำแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็น “คุณลุงธรรมดาๆ” คนหนึ่ง

“คุณลุง” ที่ไม่ธรรมดาคนนี้เป็นคนขยันแน่นอน และประสบความสำเร็จด้วยการเป็นคนที่ผู้ร่วมงานเลือกที่จะ “ทำงานด้วย” เขาบอกว่าความสำเร็จของเขามาจากสิ่งนี้

คือการทำงานที่ไม่ได้เป็นแบบเจ้านายกับลูกน้อง แต่ทำด้วยกันไปเรื่อยๆ ช่วยเหลือกัน

ทุกครั้งที่มีการเลือกว่าใครอยากทำงานกับใคร ก็มักเป็นเขาที่ทุกคนอยากทำงานด้วย

ทีมงานมักจะบอกว่าเมื่อมีเรื่องต้องตัดสินใจ ทีมงานก็มักจะบอกว่าให้เขานั่นแหละเป็นคนตัดสินใจ

เขาใช้ความพยายาม และความมุ่งมั่นในทุกสิ่งที่ทำ แต่ไม่ถึงกับสุดโต่ง

เมื่อเล่นเบสบอล เขาก็อยากได้เล่นในตำแหน่งผู้โยนลูก ทั้งๆ ที่ทำได้ไม่ดี แต่ก็ไม่ละความพยายามที่จะฝึกซ้อม ในที่สุดก็ได้เลือกให้เล่นในตำแหน่งนั้น

ใครล่ะจะใจดำกับความพยายามของคน

เขาบอกว่าสำหรับเขาแล้ว ตำแหน่ง “หัวหน้า” มาพร้อมกับ “ความรับผิดชอบ”

รายละเอียดนั้นน่าอ่านมากค่ะ น่าสนใจว่าทำไมเขาถึงทำให้องค์กรที่เขาเป็นหัวหน้ามียอดขายเพิ่มขึ้นสองสามเท่าตัวทุกแห่ง

คำตอบก็คงจะเป็น “ความสุขของคนทำงาน” และ “การมีแบบอย่างที่ดีให้ทำตาม” นั่นเอง

อ่านทั้งสองเล่มนี้แล้ว ก็น่าจะกลับมานึกนะคะ ว่าคนไทยเวลาเขียนหนังสือ ชอบเขียนเรื่องอะไรกันบ้าง นึกแล้วก็น่าจะมานั่งคุยกัน น่าจะสนุกและน่าสนใจค่ะ