เมื่อรัฐห้ามขายเหล้า ชาวอเมริกันเขาดื่มอะไรกัน?

เหล้าเถื่อน

แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ปรากฏขึ้นหลังการบังคับใช้ Volstead Act หรือ พ.ร.บ.ห้ามจำหน่ายสุราในปี 1920 ก็คือการลักลอบค้าเหล้าเถื่อน ซึ่งมีที่มาจากหลากหลายทิศทาง และการลักลอบค้าเหล้าเถื่อนหรือที่เรียกกันว่า “Bootlegging” นี้ก็ค่อยๆ ขยายตัวใหญ่ขึ้นเป็นธุรกิจนอกกฎหมาย

(คำว่า Bootlegging มีที่มาจากการแอบขายเหล้าโดยซ่อนขวดเหล้าไว้ในรองเท้าบู๊ต)

นอกจากนั้น ยังเกิดการกลั่นเหล้าเองโดยชาวบ้านทั่วไป ซึ่งนอกจากเหล้าพื้นเมือง (ที่มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว) ที่เรียกว่า Moonshine แล้วยังเกิดเหล้าจินที่กลั่นเอง หรือ Bathtub Gin ซึ่งหมายถึงจินที่ทำขึ้นในอ่างอาบน้ำนั่นเอง

เหล้ากลั่นเองเหล่านี้แน่นอนว่าไม่มีคุณภาพที่ดี แต่ประชาชนก็ไม่มีทางเลือก แล้วยังเกิดเหล้าปลอมระบาดขึ้นในบางพื้นที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการดื่มเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ผลในทางปฏิบัติของการห้ามจำหน่ายสุราก็คือ ผู้คนยังหาซื้อสุราได้ แต่ด้วยราคาที่แพงกว่าเดิม

และด้วยความเสี่ยงที่จะบริโภคเหล้าปลอมซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก

ร้านเหล้า ค็อกเทล และผู้หญิง

จุดเริ่มต้นของแนวคิดห้ามจำหน่ายสุรานี้ มีที่มาจากปัญหาสังคมในอเมริกา ที่สามีมักใช้เวลาหลังเลิกงานในร้านเหล้าหรือ Saloon และกลับบ้านในสภาพเมามาย

หรือหนักกว่านั้นคือบางรายมีอาการพิษสุราเรื้อรัง และส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมามากมาย

กลุ่มผู้สนับสนุน พ.ร.บ.นี้อย่างเข้มแข็งจึงเป็นฝ่ายเคร่งศาสนาและกลุ่มสิทธิสตรี ที่เริ่มมีสิทธิ์มีเสียงในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นและเป็นกลุ่มที่มีพลังต่อทิศทางการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก

กระแสการแบนแอลกอฮอล์นี้เริ่มมาตั้งแต่ก่อนปี 1900 แล้ว แต่มาได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบที่มีความเข้มแข็งสูงมากในช่วงทศวรรษที่ 1910s มีการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายรวมถึงล็อบบี้นักการเมืองทั่วสหรัฐ จนในที่สุดก็สามารถผลักดันให้ผ่าน พ.ร.บ.นี้และนำออกบังคับใช้ได้ในปี 1920

แต่ในความเป็นจริงก็คือ ทางรัฐบาลกลางไม่ได้มีกำลังเพียงพอที่จะบังคับใช้มาตรการนี้ ดังนั้น การค้าเหล้าเถื่อนจึงปรากฏขึ้นในทันที

และในเวลาไม่นาน ด้วยการติดสินบนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ก็เกิดร้านเหล้าชนิดใหม่ขึ้นอย่างลับๆ ทั่วเมืองใหญ่ หรือที่เรียกว่า Speakeasy นั่นเอง

Speakeasy ที่ชายหญิงสามารถนั่งดื่มร่วมกัน

(Speakeasy หมายถึงความลับที่ต้องพูดกันด้วยเสียง “เบาๆ” นั่นเอง)

และที่น่าสนใจก็คือ การเกิดร้านเหล้าแบบใหม่นี้ยังถือเป็นการก่อเกิดวัฒนธรรมชนิดใหม่ในสหรัฐอเมริกา เพราะร้านเหล้าแบบเดิม (Saloon) นั้นเป็นสถานที่เฉพาะสำหรับเพศชายเท่านั้น

แต่ Speakeasy กลับเป็นสถานที่ชนิดใหม่ที่เปิดกว้างให้ลูกค้าทั้งชาย-หญิง

เมื่อผนวกกับกระแสความคิดและสภาพสังคมที่เปิดกว้างในขณะนั้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิงจึงเปลี่ยนไปอย่างเป็นอิสระและเปิดเผยมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า เหล้าบางส่วนที่จำหน่ายในช่วงนี้เป็นเหล้าที่มีคุณภาพไม่ดีนัก ดังนั้น วัฒนธรรมหนึ่งที่เฟื่องฟูขึ้นมาอย่างมากในตอนนั้นก็คือวัฒนธรรมการผสมค็อกเทลนั่นเอง

เพราะการผสมค็อกเทลด้วยน้ำตาล มะนาว หรือวัตถุดิบอื่นๆ ย่อมสามารถกลบกลิ่นหรือรสชาติของเหล้าคุณภาพต่ำได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น เมื่อผู้หญิงนิยมเข้าบาร์ เครื่องดื่มค็อกเทลจึงเริ่มมี “เพศ” ของตนเอง โดยค็อกเทลที่ผู้หญิงดื่มมักถูกสร้างให้มีสีสวย สดใสเหมือนเครื่องแต่งกายของผู้หญิง ทั้งสีเหลือง สีแดง สีชมพู สีฟ้า ฯลฯ

แต่เครื่องดื่มของเพศชายจะมีลักษณะที่เรียบๆ ดูเคร่งขรึมกว่า เช่น OLD-FASHIONED ซึ่งเป็นการดื่มเหล้าวิสกี้ผสมกับ bitters และเจือน้ำแข็ง เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังเกิดกลวิธีการจำหน่ายเบียร์หรือไวน์อย่างเลี่ยงกฎหมาย เช่น การผลิต Malt extract สำเร็จรูปให้ผู้ซื้อเอาไปผสมน้ำและเกิดเป็นเบียร์เองที่บ้าน

และเกิด Grape concentrate หรือผงองุ่นเข้มข้นอัดแท่ง ที่ถึงกับมีฉลากคำเตือนระบุไว้ว่า “อย่านำไปผสมกับยีสต์ น้ำตาล และน้ำ และแช่ทิ้งไว้หลายๆ วัน”

เพราะหากทำเช่นนั้น ผลที่ได้ก็คือไวน์นั่นเอง

ห้ามดื่มคือดื่มได้

การห้ามจำหน่ายสุราจึงหมายความว่า “จำหน่ายได้” แต่ต้องเป็นไปอย่างลับๆ

เกิดธุรกิจมูลค่ามหาศาล มีการลงทุนเพื่อฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น กรณีของนาย George Remus ซึ่งเห็นช่องโหว่ของกฎหมายนี้ ตรงที่ไม่ได้บังคับให้โรงกลั่นเหล้าทั้งหลายทำลายสุราทิ้ง แต่อนุญาตให้เก็บไว้และจำหน่ายให้เฉพาะบริษัทผลิตยาเท่านั้น

สิ่งที่ Remus ทำ คือการซื้อโรงกลั่นสุราเหล่านั้นจำนวนมาก และตั้งบริษัทผลิตยาขึ้นเอง ทำการซื้อขายสุราอย่างถูกกฎหมาย แล้วจากนั้นจึงนำไปสต๊อกไว้ในหมู่บ้านรกร้างแห่งหนึ่งในซินซินนาติ เพื่อลักลอบขายทีละล็อตใหญ่ๆ ให้แก่ผู้ค้าเหล้าเถื่อนระดับรองลงไป

จนหมู่บ้านแห่งนั้นถูกเรียกกันในหมู่ผู้ค้าเหล้าเถื่อนว่า Death Valley เพราะในตลอดเส้นทางมีการคุ้มครองโดยนักเลงของ Remus นั่นเอง

หลายกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจเช่นนี้เติบโตกลายเป็นมาเฟีย มีความขัดแย้งกัน เกิดเป็นสงครามระหว่างแก๊ง อย่างที่เราเห็นในหนังอย่าง Godfather หรือ The Untouchable นั่นเอง

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความปั่นป่วนให้แก่สังคมอเมริกันโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างชิคาโก ซึ่งพบตนเองอยู่ในสภาวะที่ไม่มีความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สินอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ปัจจัยอีกหลายอย่างยังรุมเร้าให้กระแสความคิดเกี่ยวกับการห้ามจำหน่ายสุราเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1920s

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่ตกต่ำ มีคนตกงานจำนวนมาก รัฐไม่มีรายได้จากเงินภาษี (ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยได้เงินภาษีจากการจำหน่ายสุราเป็นจำนวนมหาศาล)

และหากว่ามีการเปิดกิจการสุราขึ้นใหม่ ย่อมแก้ปัญหาคนตกงานได้มาก

ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่าง คือการเปลี่ยนข้างจากผู้ที่เคยสนับสนุน prohibition ที่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าก็เริ่มรู้สึกว่ามาตรการนี้เป็นสิ่งที่ผิด เพราะรัฐไม่สามารถปราบปรามการขายเหล้าได้จริง แล้วยังทำให้สังคมอเมริกันกลายเป็นสังคมที่หน้าไหว้หลังหลอก นั่นคือทุกคนทำผิดกฎหมาย ทั้งที่รู้ว่าผิด

ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น กฎหมายย่อมหมดความศักดิ์สิทธิ์

ยิ่งธุรกิจมืดเติบโตยิ่งขึ้นเท่าไร การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ศาล ไปจนถึงกระทั่งผู้พิพากษา ล้วนแล้วแต่รับเงินสินบนจากพวกมาเฟีย

ผู้พิทักษ์กฎหมายจึงหมดความน่ายำเกรง และสั่นคลอนความเชื่อมั่นไปหมดทั้งระบบ

และทั้งๆ ที่กระแสความคิดเรื่อง prohibition เริ่มต้นขึ้นด้วยกลุ่มองค์กรสตรีอย่างที่กล่าวมาแล้ว แต่พอถึงในช่วงหลัง สตรีกลุ่มหนึ่งเริ่มเปลี่ยนใจ และเห็นว่านั่นเป็นวิธีการที่ผิด สตรีกลุ่มนี้นำโดย Pauline Sabin ผู้มีชื่อเสียงและบทบาทสำคัญในแวดวงชนชั้นสูงแห่งนิวยอร์ก

โดย Sabin กล่าวว่า เธอรังเกียจความหน้าไหว้หลังหลอกของชาวอเมริกันในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อเธอพบเห็นด้วยตนเองว่านักการเมืองผู้โหวตสนับสนุน prohibition อย่างออกหน้าออกตา เมื่อได้รับเชิญมาในงานปาร์ตี้ กลับถามหาวิสกี้

เมื่อเวลาผ่านไป การรณรงค์ต่อต้าน prohibition จึงขยายเป็นขบวนการใหญ่ที่มีการจัดองค์กรอย่างเป็นระบบมากขึ้น

และสาเหตุสำคัญที่ฝ่ายต่อต้านจำเป็นต้องล้มล้างกฎหมายข้อนี้โดยสิ้นเชิง ก็เพราะฝ่ายอำนาจเดิม (Republican) ที่หนุน พ.ร.บ.ห้ามขายสุรานี้ ไม่เคยยอมประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งที่การประนีประนอม ยินยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายละเอียด เช่น กำหนดเวลาและสถานที่ในการดื่ม หรือกระทั่งการยินยอมอนุญาตให้ขายเบียร์หรือไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ จะสามารถลดทอนความตึงเครียดในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดียิ่ง

ดังนั้น การแตกหักจึงเป็นเรื่องจำเป็น และการเลือกตั้งในปี 1932 ก็กลายเป็นการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลด้วยเสียงถล่มทลาย และประธานาธิบดีคนใหม่ Franklin Roostvelt จากฝ่าย Democrat ก็เริ่มดำเนินกระบวนการเพื่อยกเลิกมาตรการ prohibition นี้ในทันที

ไทยแลนด์แดนคนดี

ประเด็นจึงเป็นเรื่องง่ายๆ ว่าการห้ามขายแอลกอฮอล์หรือการพยายามบังคับให้ประชาชนเลิกดื่มนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว “เป็นไปไม่ได้”

ซึ่งเมื่อเอาข้อเท็จจริงมาพูดกันแล้ว ในประเทศไทยก็ไม่แตกต่างกัน คือมันเพียงแค่ทำให้เหล้าหาซื้อยากขึ้น และแพงขึ้นมากเท่านั้น

และเมื่อประชาชนพร้อมใจกันทำผิดกฎหมาย ทั้งที่รู้ว่าผิด ในสถานการณ์เช่นนี้ กฎหมายจะคงความศักดิ์สิทธิ์อยู่ได้อย่างไร?

แต่นั่นแหละ เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่แค่ตอนนี้ และดูเหมือนว่านับแต่ พ.ศ.2557 เป็นต้นมา กฎหมายไทยนั้นไม่เคยหลงเหลือความศักดิ์สิทธิ์อะไรอยู่อีกต่อไปแล้ว