มองบ้านมองเมือง /ปริญญา ตรีน้อยใส / ที่อยู่อาศัยผู้สูงวัย ยังถูกดิสรัปชั่น

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

ที่อยู่อาศัยผู้สูงวัย ยังถูกดิสรัปชั่น

บางคนเชื่อว่า วิกฤตการณ์โควิด 19 อาจเป็นกลไกธรรมชาติ ในการลดจำนวนมนุษย์ โดยเฉพาะผู้สูงวัย เพื่อให้โลกกลับสู่สมดุล

ซึ่งคงจะจริง ในประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่ไม่รวมประเทศไทย ด้วยตัวเลขผู้สูงวัยไทยที่เสียชีวิตเพราะไวรัสโควิด-19 ไม่ได้สูงกว่าวัยอื่นมากนัก

จึงเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนสูงวัยไทย หรืออย่างน้อยสำหรับผู้เขียนที่เป็นหนึ่งในกลุ่มนี้

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ เลยจะพาไปมองที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย โดยอาศัยตัวเลขของสำนักสถิติแห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลนำตัวเลขจากการสำมะโนประชากร ปี พ.ศ.2550, 2554, 2557 และ 2560 ไปศึกษาเปรียบเทียบในเรื่องต่างๆ

ซึ่งผู้เขียนพบว่ามีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง

 

อย่างเช่น ในปี พ.ศ.2550 หรือเมื่อสิบปีที่แล้ว ประชากรผู้สูงวัยของไทย เกือบร้อยละเจ็ดสิบ พำนักอาศัยอยู่กับครัวเรือน ที่เป็นครอบครัวขยาย คือ มีทั้งบุตรและหลานอยู่ร่วมกัน เหมือนเช่นคนไทยในอดีต มีผู้สูงวัยเพียงร้อยละยี่สิบ ที่เป็นครอบครัวเดี่ยว คืออยู่อาศัยในบ้านกับลูกๆ

และอีกไม่ถึงร้อยละสิบ ที่ผู้สูงวัยอาศัยอยู่คนเดียวในบ้าน

ส่วนตัวเลขที่ผู้สูงวัยอาศัยอยู่กับคนอื่น หรือสถานสงเคราะห์คนชรานั้น ก็คงรู้กันอยู่แล้วว่ามีน้อยมาก แค่ร้อยละ 0.1 เท่านั้น

พอถึงปี พ.ศ.2560 ตัวเลขชุดดังกล่าวเปลี่ยนไป เพราะสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยที่ยังอยู่กับบุตรหลานนั้น ลดลงเหลือไม่ถึงครึ่ง คือแค่ร้อยละ 48 เท่านั้น

ในขณะที่จำนวนผู้สูงวัยอยู่กับคู่สมรสหรือบุตรเท่านั้น เพิ่มมากขึ้น กว่าร้อยละ 40

เช่นเดียวกับสัดส่วนผู้สูงวัยอยู่คนเดียว ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 10

ส่วนตัวเลขผู้สูงวัยที่อยู่สถานสงเคราะห์ของรัฐ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีใครทำอะไร

 

จากสถิติดังกล่าว อาจเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมจำนวนผู้สูงวัยในประเทศไทยไม่ได้เสียชีวิตในช่วงโควิด-19 ระบาดมากเหมือนในต่างประเทศ ที่ไม่มีผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส บุตร หรือหลาน ที่อาศัยในบ้านหลังเดียวกันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าว แสดงอุปสงค์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัยใน พ.ศ.นี้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวผู้สูงวัย ที่อยู่กับบุตร ที่อยู่กับคู่สมรส หรืออยู่คนเดียว

อุปทานที่อยู่อาศัยในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ หรือห้องชุดขนาดใหญ่ อาจไม่ตรงกับความต้องการ เพราะเป็นภาระสำหรับผู้สูงวัย ในเรื่องการดูแลค่าใช้จ่าย และการชำระเงินงวด

ความต้องการห้องชุดพักอาศัยขนาดเล็ก ประเภทหนึ่งห้องนอน รวมทั้งห้องประเภทหนึ่งห้องนอนพิเศษ ที่เพิ่มห้องนอนผู้ดูแล ที่ไม่ใช่ลูกหลานหรือญาติ หากเป็นผู้อยู่ช่วยดูแล เป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น

ความต้องการบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ที่มีห้องพักพ่อ-แม่ หรือปู่-ย่าสูงวัยจะลดลง ด้วยพฤติกรรมของคนรุ่นเจนทั้งหลาย ต้องการอิสระและความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ไม่อยู่กับพ่อ-แม่หรือผู้สูงวัย

 

สําหรับครอบครัวผู้สูงวัย ที่ยังอยู่กับคู่สมรสหรือลูก มีความต้องการส่วนสนับสนุนและบริการ เช่น แม่บ้าน ซักรีด ซ่อมและบำรุง รวมทั้งความช่วยเหลือทางการแพทย์

ในขณะที่สโมสร ฟิตเนส สระว่ายน้ำ สนามเด็กเล่น ที่เคยเป็นจุดขายกลุ่มผู้ซื้อวัยหนุ่ม-สาว หรือคู่สมรสใหม่ ได้เปลี่ยนไปเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก และการบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงวัย

ที่สำคัญ กฎระเบียบการจัดสรรที่ดิน ที่บังคับให้มีโรงเรียนอนุบาลในโครงการ น่าจะถึงเวลาเลิกได้แล้ว

ผนวกรวมกับตลาดที่อยู่อาศัยที่จะเปลี่ยนไป หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 อาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่ ที่เป็นอาคารสูง มีผู้พำนักอยู่หลายร้อยหน่วย คงเป็นเรื่องน่ากลัว เมื่อต้องใกล้ชิดและใช้อุปกรณ์ร่วมกับคนอื่น เช่น ลิฟต์ สระว่ายน้ำ และห้องออกกำลังกาย

ในขณะที่การอยู่อาศัยในบ้านหรือทาวน์เฮาส์จะกลับมา พร้อมกับระบบขนส่งมวลชนระบบรางไปทั่วทั้งปริมณฑล ทำให้การเดินทางไป-กลับสะดวกและประหยัด เพราะมีพื้นที่และบรรยากาศ เหมาะแก่การทำงานที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม

 

การย้ายที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับสถานการณ์หลังโควิด-19 ผนวกรวมกับข้อมูลประชากรผู้สูงวัยต้องการที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม

ผู้สูงวัยที่อยู่อาศัยคนเดียว หรืออยู่กันสองคน คงต้องย้ายจากบ้านหลังใหญ่ไปอยู่บ้านหลังเล็ก หรือย้ายจากคอนโดฯ ตึกสูงขนาดใหญ่ในเมืองไปอยู่คอนโดฯ เล็ก อาคารเตี้ยในโครงการ มีไม่กี่หน่วย นอกเมือง นอกจากดูแลง่าย ลดค่าใช้จ่าย ไม่อ้างว้างแล้ว ยังมีเงินทุนเหลือสำรองไว้ใช้จ่าย และที่สำคัญ ไม่เสี่ยงต่อการระบาดโรคใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น

ความเชื่อดั้งเดิม ที่จะอยู่บ้านหลังเดียว ไม่โยกย้ายไปไหนจนตาย คงจะต้องเปลี่ยนไป

ด้วยเหตุผลเดิมที่ว่า อายุคนไทยปัจจุบัน ยืนยาวกว่าคนในอดีต ด้วยเหตุผลใหม่ที่ว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้อะไรๆ เปลี่ยนไป