สุรชาติ บำรุงสุข | ประเทศไทยยุคหลังโควิด 8 วิกฤต & 8 ความมั่นคง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“หนทางเดียวที่จะหยุดยั้งหายนะในอนาคตก็คือ ต้องสร้างคอนเซ็ปต์ใหม่ [ในเรื่องของ] ของระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม”

Michael T. Klare (April 2020)

สังคมไทยในยุคหลังจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว คงไม่แตกต่างจากหลายสังคมที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอถึงวิกฤตหลังการระบาด

กล่าวคือ ไทยจะเผชิญกับ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ที่เป็นปัญหาความมั่นคงใหม่ๆ ด้วย

1)วิกฤตโรคระบาด-ความมั่นคงด้านสุขภาพ

สิ่งที่โลกและสังคมไทยกำลังเผชิญก็คือ ปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ การระบาดที่เริ่มขึ้นในจีนในตอนปลายปี 2562 และขยายแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในต้นปี 2563 ได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของโลก อาจจะไม่แตกต่างจากความรุนแรงของไข้หวัดสเปนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1

การระบาดนี้กลายเป็นวิกฤตของหลายประเทศ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในจีนเองที่เป็นต้นทางของการระบาด ในยุโรป และในสหรัฐด้วย

การระบาดของเชื้อไวรัสชุดนี้บ่งบอกถึงปัญหา “ความมั่นคงด้านสุขภาพ” (health security) อย่างมีนัยสำคัญ และเท่ากับเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า การเตรียมรับมือกับโรคระบาดยังคงเป็นปัญหาสำหรับรัฐสมัยใหม่เสมอ

จะเชื่อว่าความเป็นสมัยใหม่ที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางแพทย์ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์สามารถต่อสู้และเอาชนะการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ทุกชนิด อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป

ดังนั้น ผู้นำไทยอาจจะต้องตระหนักว่าความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นประเด็นสำคัญ และต้องการการลงทุนจากภาครัฐ

จะคิดแต่การลงทุนในส่วนของความมั่นคงทางทหารอาจจะไม่เพียงพอ

อีกทั้งต้องคิดถึงมาตรการในการรับมือที่มีประสิทธิภาพควบคู่กับการออกแผนปฏิบัติ เพื่อเตรียมรับวิกฤตเช่นนี้ในอนาคต

2)วิกฤตรัฐบาล-ความมั่นคงทางการเมือง

หลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 สิ้นสุดลง รัฐบาลจะเผชิญกับแรงเสียดทานทางการเมืองอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า “การบริหารจัดการวิกฤต” (crisis management) ของรัฐบาลประสบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในด้านต่างๆ อย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่เชื่องช้า

การออกมาตรการที่ไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาด การควบคุมบุคคลที่ติดเชื้อ การควบคุมการเข้าออกประเทศของบุคคล

การขาดแผนที่จะรองรับต่อการออกมาตรการของรัฐบาล

และความขาดแคลนหน้ากากและเจลแอลกอฮอล์ที่เป็นอุปกรณ์พื้นฐานให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน

สภาวะเช่นนี้ทำให้ยิ่งนานวันคำถามถึงความขาดแคลนต่างๆ ที่เกิดขึ้น กลายเป็นข้อพิสูจน์ถึงปัญหาประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลอย่างชัดเจน

และยังรวมถึงปัญหาความไม่โปร่งใสที่เกิดในกระบวนการบริหารภาครัฐ เช่น ความเกี่ยวข้องของฝ่ายการเมืองกับการกักตุนหน้ากาก จนทำให้แม้บุคลากรทางการแพทย์เองก็ขาดแคลนในสิ่งพื้นฐานเหล่านี้

ปัญหาเหล่านี้ทำให้สถานะของรัฐบาลอ่อนแอลงอย่างมาก และตามมาด้วยการถูกวิจารณ์อย่างหนักในเวทีสาธารณะ อันทำให้เกิดข้อสรุปประการหนึ่งว่า รัฐบาลมี “วิกฤตการบริหาร” ที่แม้จะมีอำนาจอย่างเต็มจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วก็ตาม จนปัญหาเหล่านี้ได้กลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ในตัวเอง

ดังนั้น คงประเมินได้ไม่ยากนักว่า หลังจากการระบาดจบลง รัฐบาลจะเผชิญกับการเมืองที่เข้มข้นทั้งในสภาและนอกสภา รวมถึงการดำเนินการของรัฐบาลในช่วงวิกฤตจะถูกนำมาเป็นประเด็นในการตรวจสอบมากขึ้นด้วย

หรือกล่าวโดยรวมก็คือ หลังจากวิกฤตโควิดจบลง รัฐบาลจะเผชิญกับ “วิกฤตการเมือง” อันอาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพ หรืออาจคาดคะเนได้ว่า รัฐบาลในอนาคตจะต้องเผชิญกับปัญหา “ความมั่นคงทางการเมือง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในอีกด้านสังคมรู้สึกว่าฝ่ายค้านและรัฐสภาก็อ่อนแอเช่นกัน

ผู้แทนในสภาไม่ปรากฏบทบาทเท่าที่ควร จนดูราวกับตัวแสดงเหล่านี้หายไปหลังการประกาศ พ.ร.ก.

ฉะนั้น หากฝ่ายค้านและรัฐสภาไม่สามารถยกระดับบทบาทได้ในยุคหลังโควิด วิกฤตศรัทธาก็จะเกิดแก่ฝ่ายค้านและรัฐสภาเช่นกัน

3)วิกฤตเศรษฐกิจ-ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ในระดับมหภาคมีความชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของเชื้อโควิด จนเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (global economic recession)

ดังจะเห็นได้ถึงการชะลอตัวของปัจจัยต่างๆ ในทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ สภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วโลก จนอาจกล่าวได้ว่าโลกหลังจากการระบาดครั้งนี้อาจนำไปสู่การจัดโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลกใหม่

ทั้งเศรษฐกิจโลกก่อนการระบาดก็อ่อนแอลงจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมาแล้ว

สภาวะเช่นนี้มีผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในอีกส่วนหนึ่งเศรษฐกิจไทยเองก็ประสบกับปัจจัยลบที่เป็นดัง “แรงกระแทก” ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในสามส่วน

กล่าวคือ แรงที่หนึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร 2557

แรงที่สองมาจากผลกระทบจากสงครามการค้า

แรงที่สามเป็น “แรงกระแทกใหญ่” อันเป็นผลจากการระบาดของเชื้อโควิด

ผลเช่นนี้ทำให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนในอนาคตว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ไม่แตกต่างจากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเช่นนี้ต้องยอมรับว่ามีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นได้ชัดว่าความรุนแรงของปัญหาเกิดจากการปิดตัวลงของภาคธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจในระดับกลางและระดับเล็ก (SME) ล้วนต้องแบกรับภาระอย่างหนัก จนอาจทำหลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคการผลิต หรือภาคบริการก็ตาม อันทำให้เกิดการตกงานครั้งใหญ่ในสังคมไทย

และภาคเกษตรเองก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอยู่แล้ว ผลเช่นนี้ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต้องติดลบ

ข้อถกเถียงเหลือเพียงประการเดียวคือ จะติดลบเท่าใด

สิ่งที่ต้องตระหนักในอนาคตก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่รวดเร็วอย่างที่หวัง เพราะไม่เพียงจะต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น หากยังจะต้องอาศัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลในอนาคตอีกด้วย

หรืออาจกล่าวในมิติความมั่นคงได้ว่า “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” จะเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลในยุคหลังโควิด และการพาเศรษฐกิจไทยให้กลับสู่ภาวะปกติให้ได้อย่างรวดเร็วจะเป็นประเด็นการเมืองที่สำคัญเช่นกัน

และพรรคการเมืองที่สามารถทำให้ความคาดหวังทางเศรษฐกิจของประชาชนเกิดเป็นจริงได้ จะเป็นผู้กุมชัยชนะทางการเมือง

4)วิกฤตสังคม-ความมั่นคงของมนุษย์

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยอย่างมากจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มคนจน หรืออาจกล่าวได้ว่าชีวิตทางสังคมของคนไทย โดยเฉพาะคนชั้นกลางและคนชั้นล่างน่าจะประสบปัญหาความยากลำบากมากขึ้น

การพาตัวเองกลับเข้าสู่การจ้างงานครั้งใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติของเศรษฐกิจไทยอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ซึ่งหากพิจารณาในอดีตจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 จะเห็นได้ว่าหนึ่งในผลกระทบที่สำคัญก็คือ ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ (human security) ดังนั้น ในวิกฤตเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์จะรุนแรงมากขึ้น

การเพิ่มขึ้นของการตกงานและการที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับปัญทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนนำไปสู่การเลิกการจ้างงาน และการปิดตัวลงของภาคธุรกิจเช่นนี้ ทำให้ประเด็นความมั่นคงของมนุษย์มีความสำคัญที่ภาครัฐจะต้องใส่ใจมากขึ้น

ผลที่เกิดจะทำให้เรื่องของการจัดสวัสดิการทางสังคมได้รับความสนใจในเชิงนโยบายมากขึ้นด้วย หรืออาจคาดการณ์ในอนาคตได้ว่า ข้อเรียกร้องเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” (welfare state) จะมีมากขึ้น

ผู้นำทางการเมืองจะต้องตระหนักเสมอว่า รัฐสมัยใหม่มีความรับผิดชอบในการแบกรับภาระของประชาชนในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤต

ฉะนั้น ผลจากวิกฤตโรคระบาดที่ขยายไปสู่การเป็นวิกฤตความมั่นคงของมนุษย์นั้น ภาครัฐจะต้องมีมาตรการความช่วยเหลือที่ชัดเจน

และหากปราศจากนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลแล้ว

ประเด็นนี้อาจกลายเป็น “วิกฤตการเมือง” จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล อีกทั้งการแก้ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ก็คือการสร้าง “ความมั่นคงทางสังคม” (societal security)

5)วิกฤตศรัทธากองทัพ-ความมั่นคงทางทหาร

วันนี้ผู้นำทหารคงจะต้องตระหนักว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธาจากสังคมนั้น กองทัพก็กำลังเผชิญกับวิกฤตนั้นไม่แตกต่างกัน

ความรู้สึกของประชาชนในหลายส่วนไม่ได้มองกองทัพด้วยสายตาที่เป็นบวกแต่อย่างใด

ประกอบกับผู้นำกองทัพในช่วงที่ผ่านมามีภาพลักษณ์เชิงลบมากขึ้น

แม้จะยังมีสื่อที่ใกล้ชิดกับผู้นำทหารและบรรดาปีกขวาจัดที่ยังคอยทำหน้าที่เป็น “กองเชียร์” อยู่บ้าง

แต่เสียงเชียร์เช่นนี้ไม่ได้มีพลังเช่นในช่วงของการรัฐประหาร

ผู้นำกองทัพอาจต้องยอมรับความจริงว่าภาพลักษณ์ของสถาบันกองทัพตกต่ำลงมาก และจะต้องไม่คิดแก้ปัญหาในแบบ “งาน PR”

ผลจากการกราดยิงที่โคราช ไม่อาจถือเป็นปัญหาส่วนบุคคล แต่กลับบ่งบอกถึงประเด็น “ลัทธิพาณิชย์นิยมในกองทัพ” (military commercialism) หรือการทำธุรกิจของนายทหารในกองทัพ ซึ่งอาจรวมถึงการใช้อำนาจทางทหารเข้าไปมีบทบาทในรัฐวิสาหกิจ

และประเด็นสำคัญอีกส่วนเป็นเรื่องของ “ธุรกิจอาวุธ” ที่เอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับผู้นำทหาร

ดังนั้น ไม่ว่าประเทศจะประสบกับวิกฤตด้านงบประมาณเพียงใด การปรับลดเงินที่ใช้ในการซื้ออาวุธจะไม่เกิดขึ้น ผู้นำทหารอาจจะทำปฏิบัติการจิตวิทยา เช่น การประกาศไม่รับเงินประจำตำแหน่งวุฒิสมาชิก การใส่ชุดป้องกันอย่างรัดกุมออกมาพ่นยาฆ่าเชื้อโรค หรือการเรียกร้องให้กำลังพลเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่

สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนรายการ “เรียลลิตี้โชว์” ที่จะไม่ทำให้โครงการซื้ออาวุธถูกนำมาทบทวน

ดังจะเห็นถึงความพยายามที่จะนำโครงการซื้ออาวุธเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรีในช่วงวิกฤตโควิด

ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้กำลังกลายเป็น “ปัญหาความมั่นคงของสถาบันทหาร” ด้วย

6)วิกฤตภัยแล้ง-ความมั่นคงด้านอาหาร

วิกฤตคู่ขนานกับการระบาดของเชื้อโรคในครั้งนี้คือ ความแห้งแล้งอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในชนบทของไทย

หากความแห้งแล้งรุนแรงและขยายตัวไปมากขึ้นแล้ว ชนบทอาจจะไม่ใช่พื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะรองรับการตกงานของคนเช่นในปี 2540 ได้แต่อย่างใด

วิกฤตโควิดที่กำลังพาคนตกงานจากเมืองกลับสู่ชนบท เพียงเพื่อพบว่าชนบทเองก็กำลังเผชิญกับวิกฤตความแห้งแล้งครั้งใหญ่ อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และอาจจะทำให้ภาคเกษตรมีปัญหา ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลิตผลทางการเกษตรของประเทศ

และอาจก่อให้เกิดปัญหา “ความมั่นคงด้านอาหาร” (food security) ได้

ความขาดแคลนนี้อาจกลายเป็น “มิคสัญญี” ได้ในอนาคต

7)วิกฤตไฟและฝุ่น-ความมั่นคงของอากาศ

วิกฤตอีกชุดที่เป็นประเด็นสำคัญคู่ขนาน ได้แก่ ความรุนแรงของไฟป่าและความรุนแรงของฝุ่นพิษที่กำลังเกิดขึ้นในภาคเหนือ

ปัญหานี้กำลังชี้ให้เห็นถึงภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ไม่ต่างจากกรณีภัยแล้ง และเป็นเรื่องที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเช่นกัน

ปัญหานี้ในส่วนของฝุ่นพิษกำลังกลายเป็นปัญหาถาวรที่สังคมต้องเผชิญ รวมทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย

และประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา “ความมั่นคงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ” (climate change and security) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและในไทย

จนกลายเป็น “ปัญหาประจำปี” ของไทยไปแล้ว

8)วิกฤตการบริหารจัดการ-ความมั่นคงของรัฐบาล

จากวิกฤตโควิดที่นำไปสู่วิกฤตอื่นๆ นั้น สุดท้ายแล้วเรื่องทั้งหมดสะท้อนถึงปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ “วิกฤตการบริหารจัดการ” ของรัฐบาล

จนอาจกล่าวได้ว่า การจัดการกับวิกฤตของรัฐบาลกำลังกลายเป็นวิกฤตในตัวเอง และอาจส่งผลต่อ “ความมั่นคงของรัฐบาล” (การอยู่รอด)

ประเด็นสำคัญคือ หากไทยก้าวข้ามวิกฤตการบริหารจัดการไม่ได้แล้ว

วิกฤตที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดอาจจะแก้ไขได้ยาก และการฟื้นตัวของประเทศในอนาคตก็จะใช้เวลามากขึ้น

วิกฤตนี้จึงเป็นดั่งการ “เดิมพัน” อนาคตไทย!