อัญเจียแขฺมร์ : ความตายในวิบูลย์ปัญญา

ฤดูร้อนนี้กระมังที่ดูเหมือนฉันถูกกระตุ้นให้เขียนถึงเรื่องราวของหนุ่มสาวแขฺมร์ ทั้งแบบที่-จมไปกับลักษณะพิเศษทางโครงสร้างทางร่างกายของชาวทะเลสาบใหญ่แห่งเมืองพระตะบอง โดยตั้งข้อสังเกตว่า พวกเขามีเรือนร่างที่เหมาะต่อการ “จบัง” แบบนักรบ ดังที่แปดร้อยปีก่อนเคยปรากฏอยู่ในภาพประติกรรมนูนต่ำของนักรบหมู่ยุคนครวัด

แลในปัจจุก็พอจะเห็นบ้างแล้วว่า หนุ่มสาวกลุ่มนี้ มีรูปร่างแข็งแรง เตี้ย ล่ำ ปากหนา ตาโปน และผิวเนื้อที่ดำมะเลื่อม ดูไม่เข้าพวกกับคติความนิยมต่อรูปลักษณ์มนุษย์ในหมู่สังคมมนุษย์ยุคใหม่

แต่กายภาพของชนเชียดบริเวณรอบทะเลสาบที่พิเศษด้วยทักษะการจบังนี้แหละ ที่ช่วยให้พวกเขามีพื้นฐานประยุทธ์ต่างๆ

ดังจะเห็นจากบรรดานักกบัจคุนทั้งหลายล้วนเป็นชาวพระตะบอง-เสียมเรียบ ที่โด่งดังอยู่ในอาชีพต่างๆ ทั้งนักมวย บกกะตอร์ จนพัฒนาไปถึงลำดับนักแสดงกายกรรม ที่กำลังได้รับการส่งเสริมในองค์กรและสถาบันต่างๆ อย่างฉายโชนเทียบชั้นอย่างเป็นลำดับ

นับเป็นยุคใหม่ของกลุ่มมนุษย์สายพันธุ์จบังรอบทะเลแม่โขงที่กลับมาสืบทอดจริตดั้งเดิมแห่งบรรพบุรุษโดยลูกหลานกลุ่มเล็กๆ ที่ได้ชื่อว่ามีพรสวรรค์และรักในศาสตร์ด้านนี้

ที่ไม่ทราบก็คือ ทำไมฉันจึงให้ความสนใจศาสตร์ด้านจบังแขฺมร์อย่างมาก จนนำมาเสนออย่างต่อเนื่อง-เจียนิจ

แรกทีเดียวสงสัยว่า จริตชื่นชมการประยุทธ์คะเนียนี้น่าจะมาจากภพภูมิใดกัน ที่นำไปสู่ความตื่นรู้อย่างไม่สิ้นสุด

โดยเฉพาะตอนฤดูร้อนปีนี้ ที่ภาพความคิดต่อคนหนุ่ม-สาวร่วมสมัยได้เข้ามามีอิทธิพลในความคิดของฉัน

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ฉันขอส่งสารอาลัยถึงใครบางคน

 

กล่าวคือชื่อ สก อาน นี้มิใช่ผู้ใกล้ชิด สมเด็จฮุน เซน คนแรกที่มีอันล่วงลับ ทว่า กลับมิติอารมณ์เย็นชา และบ้างก็ปริ่มเปรมพอใจในความรู้สึกของพลเมืองทั่วไป

ก็ความรู้สึกแบบนี้ มิใช่มีเป็นครั้งแรก แต่ทว่า เมื่อ 9 ปีก่อนอันตรงกับวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.2008 ได้มีการสูญเสียบุคคลสำคัญจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์โหม่งพื้น และคร่าบุคลากรของรัฐถึง 3 นายพร้อมกัน ซึ่ง 1 ในนั้นคือ พลตำรวจเอกฮก ลองดี-ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ต่อปฏิกิริยา ประชาชนสดชื่นกับความตายผู้ใกล้ชิด นายฮุน เซน นี้ ดูจะเป็นเรื่องที่จะแจ้งและน่าตกใจนัก จนแม้แต่คนไกลอย่างฉัน ก็ยังสัมผัสได้ถึงอาการความสุขของชาวประชาเวลานั้น

อนิจจา ฮก ลองดี ทำไมหนอความตายที่ชวนสยดสยองในซาก ฮ. ของเขา จึงกลายเป็นส่วนสร้างกระตุ้นต่อมสะใจของชาวเขมรเล่า?

มันทำให้ ฮุน เซน และครอบครัวพากันตกใจว่า เหตุใดพวกตนจึงถูกเกลียดถึงขั้นนี้

ด้วยเหตุนั้น พิธีศพของ ฮก ลองดี และนายทหารระดับผู้บัญชาการที่ควรจะเป็นไปอย่างเอิกเกริกจึงกลายเป็นพิธีกรรมขั้นเงียบในหมู่ชาวพรรคซีพีพีไม่กี่คนกับครอบครัว ฮก ลองดี โดย ดี วิเจีย และน้องสาว ซึ่งมีฐานะเป็นเขยคนโตและสะใภ้คนรองของ สมเด็จฮุน เซน

“ดอง” กันแน่นหนาขนาดนั้นในชั้นลูกๆ แต่ก็ยังหลวมในชั้นคู่บิดา

ด้วยเหตุนี้ พิธีศพ ฮก ลองดี จึงมีลักษณะอีหลักอีเหลื่อไม่เต็มยศช้างขุนนางศักดิ์ จนถึงกับต้องนำหุ่นตำรวจมาสวมชุดเต็มยศ ยืนโดดเดี่ยวรับแขกอยู่หน้าโลง

ช่างกระไร ที่ สมเด็จฮุน เซน ปล่อยให้กระบี่มือปราบจอมกุดหัวศัตรูซีพีพี ช่วยกันถึงขนาดที่ว่า แม้แต่เรื่องลับๆ บนเตียงของตนก็ช่วยกันมาแล้วไม่เว้น นับประสาอะไรกับการส่งกองกำลังไปล้อมบ้านข่มขู่ เจีย ซิม ให้ออกจากประเทศชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้สภาผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งแปลงซากนายกฯ

ทำถึงขนาดนั้น แต่ตอนที่เขาตาย ฮุน เซน กลับไม่กล่าวป่าวประกาศถึงความอาลัยในทันที

แถมยังมีให้เห็นอีกว่า ยามที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ทั้งสองคู่เกลอมีความสัมพันธ์ที่ปลกเปลี้ย เริ่มจาก สมเด็จฮุน เซน ที่เริ่มกลัวลูกบ้าของ ฮก ลองดี ส่วน ฮก ลองดี เองก็รับรู้ดีในความเด็ดขาดของนายหญิงบุน รานี กรณี พิสิต พิลิกา ซึ่งกลายเป็นจุดปริร้าวในความสัมพันธ์

แต่ภารกิจริบอำนาจคืนจาก ฮก ลองดี ไม่ใช่เรื่องง่าย ว่ากันว่า มีการประลองอำนาจกันไปมาหลายครั้ง แต่ในที่สุด จู่ๆ ฮก ลองดี (และเพื่อน) ก็กลับมาตก ฮ. ตายกะทันหัน

การตายใหญ่ของ ฮก ลองดี กลายเป็นโจทย์ว่าการดองญาติกับนายกฯ ไม่ใช่หลักประกันใดๆ ในชีวิตและการเมือง

ซึ่ง ฮก ลองดี นั้น ระยะหลังๆ ก็มักจะว่าง ไม่มีงานทำ ด้วยเหตุนี้ จึงใช้เวลาไปกับการไปเยืยนบ่อนกาสิโนชายแดนในเขตสัมปทานของตน

กล่าวกันว่า วันที่ ฮก ลองดี ตายนั้น เขาไม่ควรจะเดินทางเพราะเป็นช่วงฉลองวันประกาศอิสรภาพ แต่เขากลับพกเงินฟ่อนโตนับหมื่นดอลลาร์เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ลำมรณะ

และการตายหมู่ระดับผู้บังคับบัญชานครบาลและกองทัพของ ฮก ลองดี ก็ยังเป็นปริศนา ซับซ้อนในมรณฆาตที่ยังไม่มีรายงานการสอบสวนจนทุกวันนี้

แต่จากวันนั้นเป็นต้นมา ตำรวจนครบาลที่เคยยิ่งใหญ่ก็มีอันสิ้นสุดอำนาจ และในเวลาเดียวกันการปฏิรูปกรมตำรวจไปที่กองทัพโดยทายาท สมเด็จฮุน เซน ที่ชื่อ ฮุน มาเนต และมานิต กำกับดูแล

และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่การผนึกอำนาจของ ฮุน เซน ช่างผลิผลสมบูรณ์

 

แต่กระไรหนอ ที่ความตายไม่ว่าใคร ในศัตรู ญาติ บริวาร หรือแม้แต่อดีตสหายรัก ล้วนแต่ส่งให้การเมืองสมเด็จฮุน เซน บรรลุจุดสูงสุด

รวมทั้งญาติของเขาอีกคนหนึ่งซึ่งเพิ่งจะลาโลกไปหลัดๆ นั่นคือ นายสก อาน

ทั้ง สก อาน กับ ฮก ลองดี ทั้งสอง ล้วนแต่นำความสำเร็จมาสู่ ฮุน เซน ตั้งแต่ยุคเลือกตั้งครั้งแรก (1993) จนถึงยุคที่ 3 (2003-2008)

โดยเมื่อ ฮก ลองดี ฝ่ายบู๊ช่วยยึดอำนาจจากฟุนซินเปกมาได้ ก็มี สก อาน นี่แหละที่ช่วยรับมืองานกระทรวงกิจการก้าวหน้าด้านการ หลักๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่รับเอาไอเดียมาจากฟุนซินเปก และปฏิรูปใหม่จนกลายเป็นองค์กรอัปสราที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลแก่พรรคซีพีพี

สก อาน ก็ทำงานอย่างหนักจนแทบจะกล่าวได้ว่า ด้วยบุคลิกอ่อนน้อมสุภาพ ทำงานเก่งแบบนักการทูตที่สามารถพูดได้ดีทั้งอังกฤษ-ฝรั่งเศส และเป็นนักเรียนเก่าสหภาพโซเวียตและเกาหลีเหนือมีดีกรีวิชาทางรัฐศาสตร์

เป็นสายคอมมิวนิสต์ที่ไร้ด้วยบุคลิกแบบคอมมิวนิสต์

นอกจากจะดูแลหน่วยงานและโปรเจ็กต์สำคัญนับ 20 รายการแล้ว ผลงาน สก อาน ที่น่าจดจำ มีตั้งแต่การทำสำนวนฟ้องกรณีปราสาทเขาพระวิหารต่อศาลโลก การยื่นมรดกโลกต่อยูเนสโก และหัวหน้าคณะกรรมการจัดตั้งศาลเขมรแดงแห่งกัมพูชา ทุกภารกิจหลักๆ ล้วนประสบความสำเร็จ

โดยเฉพาะกรณีเรียกคืนวัตถุโบราณเขมรหลายชิ้นที่ถูกขโมยไปต่างประเทศ

 

แต่แล้วก็กลับไปสู่อีหรอบเดิมแบบ ฮุนเซน คือเมื่อเห็นว่าคู่ดองเริ่มมีอำนาจ โดยเฉพาะองค์กรพิเศษที่รัฐจัดตั้ง ฮุน เซน ก็หันไปเล่นเกมเก่า คือยึดกลับอำนาจคืน

สก อาน เป็นผู้มีการศึกษา ไม่กล้าหือเหมือนกับ ฮก ลองดี ที่ริตั้งหน่วยพิเศษท้าอำนาจ ฮุน เซน แต่กลับเจ็บป่วยด้วยโรคาพยาธิที่รุมเร้าและอาการซึมเศร้าจิตตกระยะสุดท้าย แม้จะมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักที่กำกับดูแล เหมือน ฮอ นัม ฮง เกียต ชน ที่รอปลดระวาง ไม่มีความสลักสำคัญ จนเขาต้องหายหน้าหายตาจาก ครม.

แต่ สก อาน ซึ่งอ่อนวัยกว่าทุกๆ คนที่กล่าวมา (ไล่เลี่ยกับ ฮุน เซน) เมื่อกลับมาลาโลกไปก่อนใครเสียอย่างนี้ แม้ ฮุน เซน จะส่งไปรักษาที่จีนแต่ก็ไม่อาจจะยื้อชีวิตเขาไว้ได้

จากไปตอนอายุ 66 ปี ทิ้งความอาลัยต่อฝ่ายหลังอย่างมาก โดยเฉพาะ สมเด็จฮุน เซน ซึ่งพอจะรำลึกถึงคุณูปการมากมายที่ นายสก อาน ทิ้งไว้ให้เขา

ด้วยเหตุนั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่เกลอเก่าและอุทิศแด่สองทศวรรษแห่งความสำเร็จที่เอกอุดม สก อาน ได้มอบให้แก่บ้านเมืองและตนเอง สมเด็จฮุน เซน จึงทูลเกล้าบรรดาศักดิ์ชั้นสมเด็จเพื่อเป็นแก่วงศ์ตระกูลด้วยตำแหน่งสุดท้าย

“สมเด็จวิบูลย์ปัญญา สก อาน”

อันเป็นที่มาของการอนุมัติงบฯ เงินหลวงเพื่อจัดพิธีศพกับตำแหน่งเป็นเงินถึง 3,000 ล้านเรียล (750,000 เหรียญสหรัฐ) จนถูกประชาชนค่อนขอดว่าขูดเงินภาษีประชาชนไปจัดงานศพขุนนางช้าง (อันเกินตัว)

ลำพังตอนยังมีชีวิตอยู นายสก อาน ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นเสนาบดีที่มีข่าวพัวพันคอร์รัปชั่นคนหนึ่ง

ไม่ต่างจาก ดี วิเจีย พลัน มรณกรรมสมัย ฮก ลองดี ก็ตามมาหลอนต่อ สก พุทธิวุธ บุตรชาย นายสก อาน และมีศักดิ์เป็นเขยเล็กสุดที่รักของ สมเด็จฮุน เซน ผู้ทราบดีว่า บิดาของตนไม่ยินดียินร้ายต่อบรรดาศักดิ์ที่ชวนให้อีหลักอีเหลื่อนั่น

ขณะนั้น ฮุน เซน นั้นถึงกับอ่อนล้า เมื่อตระหนักว่าความทะเยอทะยานทางการเมืองที่สร้างสมมากับ สก อาน นั้นช่างมีคุณค่ามหาศาลต่อธุรกิจการเมืองและความเกี่ยวดองทางครอบครัว

เมื่อตัดช่องน้อยไปก่อนเสียเช่นนี้ ถึงคราที่ ฮุน เซน ต้องส่งต่ออำนาจให้ ดี วิเจีย และ ฮก พุทธิวุธ มรดกกรรมที่เกลอเก่าของเขาทิ้งให้เป็นอนุสรณ์

ในที่สุด สมเด็จฮุน เซน ก็ไม่มีวันตาย