เพ็ญสุภา สุขคตะ : “หลวงพ่อกลักฝิ่น” เปลี่ยนดินให้เป็นดาว

เพ็ญสุภา สุขคตะ

มีด้วยหรือพระพุทธรูปอะไร กล้าใช้ชื่อว่า “กลักฝิ่น” ฟังดูช่างไม่เป็นสิริมงคลเอาเสียเลย อันนามอื่นหมื่นแสนก็แม้นมากที่ไพเราะเพราะพริ้งทำไมจึงไม่ตั้ง หลายคนอาจคิดเช่นนั้น

ชื่อ “พระกลักฝิ่น” หรือที่ชาวบ้านภาคกลางนิยมเรียก “หลวงพ่อกลักฝิ่น” (หากเป็นชาวล้านนาคงเรียก “พระเจ้ากลักฝิ่น”) นี้เป็นชื่อที่ตั้งใจตอกย้ำความทรงจำร่วมของสังคมอย่างเปิดเผย เพราะประวัติศาสตร์หน้านี้เกี่ยวข้องพัลวันพัลเกกันไปหมดระหว่างศาสนา เศรษฐกิจ

และการปกครองไทย-เทศสมัยต้นรัตนโกสินทร์

 

ประกาศห้ามสูบฝิ่น
แผ่นปลิวของหมอปลัดเล

หมอแดน บีช บรัดเลย์ หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “หมอปลัดเล” มิชชันนารีนักบุญรุ่นบุกเบิก ได้บันทึกไว้ว่า โรงพิมพ์ของเขาได้รับมอบหมายให้จัดพิมพ์เอกสารทางราชการงานแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จำนวนมากถึง 9,000 แผ่น

นั่นคือ “ใบประกาศห้ามสูบฝิ่น” ลงวันที่ 27 เมษายน 2382

ข้อความในใบประกาศมีเนื้อหายาวเหยียดประมาณ 2 หน้ากระดาษ A4 ดิฉันจึงขอดึงเฉพาะใจความสำคัญมาให้ทราบพอสังเขป

“…ทรงพระราชดำริเห็นว่าคนสูบฝิ่นกินฝิ่นเป็นเสี้ยนหนามพระพุทธศาสนาให้แผ่นดินเกิดจราจล ฝิ่นเป็นของชั่ว จึงห้ามมิให้ผู้ใดซื้อฝิ่น ขายฝิ่น ฝิ่นสุกฝิ่นดิบของผู้ใดมีให้เอามาส่งไว้ใน “พระคลังในซ้าย” ให้สิ้นเชิง กว่าจะผ่อนเอาออกไปขายเสียได้นอกประเทศ อย่าให้เอาฝิ่นไว้กับบ้านเรือนโรงร้านเรือแพลักลอบซื้อขายแก่กัน ถ้ามิฟังมีผู้จับได้ให้เอาฝิ่นตั้งปรับไหมเจ้าของฝิ่น 10 ต่อ ฝิ่นที่จับได้นั้นโปรดให้เอาไปขายเสียนอกประเทศ ได้ราคาเท่าใดก็ให้หักเงินพินัยลงให้เจ้าของฝิ่น ให้ข้าราชการตั้งกองชำระปรับไหม โดยพระทัยจะทรมานคนโลภที่ซ่อนฝิ่นไว้ซื้อขาย ให้เสียทรัพย์ค่าปรับไหมจะได้เข็ดหลาบ…”

ดังที่ทราบกันดีว่า รัชกาลที่ 3 ทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่า “เจ้าสัว” ตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ สมัยดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ฉะนั้น การจะปราบฝิ่นให้สิ้นซาก ย่อมลูบหน้าปะจมูกกระทบกระทั่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ “ชาวจีน” ผู้เป็นฐานอำนาจของพระองค์อย่างไม่มีข้อแม้

เพราะจุดเริ่มต้นของการสูบฝิ่นบนแผ่นดินสยามเกิดจากชาวจีน ไม่เพียงแต่ชนชั้นรากหญ้า ทว่ากลุ่มพ่อค้านายทุนนั่นแหละตัวดีเป็นผู้นำเข้า

ใบประกาศฉบับนี้จึงมีนัยสะท้อนถึงการ “ผ่อนปรน” ที่ไม่อยากเอาเรื่องเอาราวกับ “เจ้าสัว” ทั้งหลาย

“…แต่ยังทรงพระอาลัยเจ้าภาษีเจ้าสัวลูกค้าวานิชที่ได้พึ่งพระบารมีอาศัยแผ่นดินค้าขายหากินมีความสุขมา แม้จะมีฝิ่นอยู่ก่อนแล้ว ครั้นจะเอาฝิ่นมาบอกกล่าวก็กลัวจะได้ความผิดและอายอัปยศ จะสู้ปกปิดซุ่มซ่อนฝิ่นไว้โดยใจประมาทก็จะหาพ้นไม่ คงจะชำระสืบสวนเอาได้ก็จะต้องพระราชอาญาได้ความพินาศฉิบหายยับเยินสูญสิ้นชื่อเสียงไปเสียเปล่า จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจะให้โอกาสแก่ผู้ซึ่งมีฝิ่นอยู่นั้น ให้เอาฝิ่นมาลุแก่โทษ จะยกโทษหลวงโทษปรับไหมพระราชทานให้”

เห็นได้ว่า การประกาศทำสงครามกับฝิ่นคราวนี้ มิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการเล่นงานจองจำผู้ครอบครองที่เป็นชาวจีนในกลุ่มชนชั้นสูงแต่ประการใด

ทรงมีพระราชประสงค์เพียงแค่ขอให้นำฝิ่นดิบฝิ่นสุกมามอบให้ทางบ้านเมือง

ส่วนกลุ่มมาเฟียกเฬวรากที่เป็นผู้เสพหรือผู้ซื้อขายนั้น แน่นอนว่าต้องรับโทษรุนแรงอีกสถานหนึ่ง

 

ในใบประกาศนั้นมีการตั้ง “กองชำระฝิ่น” ขึ้นมาดำเนินการเฉพาะกิจ กำหนดให้กระจายกันทำงานตามหัวเมืองต่างๆ โดยมอบหมายให้ข้าราชการระดับสูงเป็นแม่กองดำเนินการโดยตรง มีทั้งหมด 4 สาย

สายแรก ให้หลวงรักษ์รณเรศ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา คุมกองชำระฝิ่นที่กรุงเทพฯ

สายที่สอง ให้เจ้าพระยาพลเทพกับพระมหาเทพออกไปตั้งกองสืบสาวชำระฝิ่น ณ หัวเมืองตะวันตก (เพชรบุรี สมุทรสงคราม สาครบุรี นครไชยศรี)

สายที่สาม ให้พระยามหาอำมาตย์ พระยาวิสูตรโกษา หมื่นชัยพร จมื่นอินทมาศ ออกไปดูแลหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก) สายสุดท้าย ให้เจ้าพระยายมราช และพระยาศรีพิพัฒน์ ลงไปชำระฝิ่นแถบหัวเมืองตอนใต้ (สงขลา นครศรีธรรมราช ถลาง พังงา ตะกั่วทุ่งตะกั่วป่า)

มีข้อน่าสังเกตว่า ไม่มีการมอบหมายให้ตั้งกองชำระฝิ่นในรัฐประเทศราชล้านนาทางตอนเหนือกับล้านช้าง (อีสาน) ในครั้งนั้นแต่อย่างใด

เป็นไปได้ว่ารัชกาลที่ 3 อาจทรงมีพระราชดำริว่า มหันตภัยจากการลักลอบค้าฝิ่นนั้น ส่วนใหญ่แล้วน่าจะมากับการติดต่อค้าขายทางทะเลไม่ใช่เส้นทางทางบก หรืออาจมองว่าภาคเหนือกับภาคอีสานยังมีประชากรชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากค่อนข้างเบาบางก็เป็นได้

ผลจากการกวาดล้างฝิ่นครั้งใหญ่ในปี 2382 นี้ จากการศึกษาของอาจารย์เจริญ ตันมหาพราน นักเขียนสารคดีด้านจีนศึกษา ได้บันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง “อั้งยี่เมืองสยาม” ว่า

สามสายแรกคือกรุงเทพมหานครและหัวเมืองชายทะเลตะวันตก-ตะวันออก สามารถจับฝิ่นดิบได้ทั้งหมดมากกว่า 3,700 ก้อน และฝิ่นสุกอีก 2 หาบ

ส่วนหัวเมืองปักษ์ใต้ เฉพาะที่นครศรีธรรมราชจับฝิ่นดิบได้ 1,000 ก้อน ฝิ่นสุก 10 ชั่ง สงขลาฝิ่นดิบ 146 ก้อน ฝิ่นสุก 7 ชั่ง 15 ตำลึง

แม้ในใบประกาศห้ามสูบฝิ่น จะมีน้ำเสียงถ้อยทีถ้อยอาศัยกับกลุ่ม “เจ้าสัว” ที่ครอบครองฝิ่นมาแต่ดั้งเดิม โดยจะเอาโทษหากนำฝิ่นมาคืนหลวง แต่สำหรับกลุ่มที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “อันธพาล” พวก “อั้งยี่ซ่องโจร” ทั้งหลาย ข้อมูลจากอาจารย์เจริญ รวบรวมมาได้ระบุว่า

อันธพาล “ตั้วเฮีย” (ภาษาจีนแปลว่า “พี่ใหญ่” ) ผู้ทำหน้าที่ค้าฝิ่น เฉพาะในเขตฉะเชิงเทรานั้น ต้องสังเวยร่างในสงครามฝิ่นมากถึง 3,000 ชีวิต ชนิดที่ว่าศพลอยในแม่น้ำปางปะกงติดต่อกันหลายวันอย่างไม่ขาดสาย จนชาวบ้านไม่สามารถเอาน้ำไปใช้บริโภคได้เลย

ถามว่าอั้งยี่ค้าฝิ่นเหล่านี้หมดไปจากผืนแผ่นดินไทยจนสิ้นซากในปี 2382 มากน้อยแค่ไหนหลังจากถูกปราบครั้งใหญ่ คำตอบคือ ไม่ เพราะยังมีบันทึกหลักฐานการจับขบวนการอั้งยี่ช่วงหลังจากนั้นอย่างต่อเนื่องอีกหลายระลอก

ปี 2385 กลุ่ม “ตั้วเฮีย” กว่า 1,000 คนที่สาครบุรีถูกจับ, ปี 2387 ตั้วเฮียที่บางปะกงต่อสู้รบยิงกันกับ “นายทหารปืนปากน้ำ” จนตายเป็นเบือ, ปี 2388 ตั้วเฮียเมืองเพชร เมืองปราณ เมืองชุมพร ทำตัวเป็นโจรสลัดออกปล้นประชาชน, ปี 2390 ตั้วเฮียเมืองสาครบุรี สมุทรสงคราม อัมพวา บางนกแขวก ตาย 100 คนเพราะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ 300 คนต้องมอบตัว และปี 2391 ตั้วเฮียแถบเมืองชลบุรี ฉะเชิงเทรา ถูกชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัครปราบฝิ่นรุมประชาทัณฑ์หลายร้อยคน

หลังจากนั้นก็ไม่มีการบันทึกเรื่อง “อั้งยี่-ตั้วเฮีย” ในเอกสารทางประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 3 อีกเลย เนื่องจากช่วงปลายแผ่นดินติดศึกสงครามกับทางพม่าและญวน นอกจากนี้ยังมีโรคระบาดร้ายแรงชื่อ “ไข้ป่วง” ในปี 2392

 

กลักฝิ่น เปลี่ยนดินให้เป็นดาว?

“ฝิ่นดิบ-ฝิ่นสุก” ที่ถูกกวาดล้างได้จากหัวเมืองทั้ง 4 สาย รัชกาลที่ 3 มีรับสั่งให้นำมาทำพิธีเผาต่อหน้าอาณาประชาราษฎร์ ณ บริเวณหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ (เป็นพระที่นั่งผังยาวเหยียดที่อยู่ประชิดริมรั้วพระบรมมหาราชวัง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) หรือรู้จักกันดีว่าลานสนามชัยอย่างเอิกเกริก

ส่วน “กลักฝิ่น” อุปกรณ์ทำหน้าที่เหมือนไปป์หรือกล้องยาสูบนั้น มีหลากรูปแบบหลายขนาด มีทั้งนำเข้าจากจีนฉลุอักษรและลวดลายอย่างสวยงาม และมีทั้งที่ผลิตในไทยแบบง่ายๆ โดยรวมจะเป็นบ้องค่อนข้างยาว เจาะรูระบายควันตอนกลาง ทำด้วยโลหะชนิดต่างๆ มีทั้งทองเหลือง ดีบุก นาก เงิน ฯลฯ

รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “อย่าทิ้ง เพราะเป็นเสี้ยนหนามแก่ผู้พบเห็น” ให้นำมาหลอมใหม่เป็นองค์พระปฏิมาแทน

พระพุทธรูปที่เกิดจากการนำกลักฝิ่นโลหะต่างๆ นี้มีขนาดเขื่อง หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย พระพักตร์ดูอ่อนเยาว์ หรือที่ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์ว่า “พระพักตร์อย่างหุ่น” หรือ “พิมพ์นิยมของรัชกาลที่ 3” คือแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย พระวรกายเพรียวบาง

จุดเด่นอยู่ที่นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ด้านขวาของพระพุทธรูปที่คว่ำลงบนพระชงฆ์ค่อนข้างเรียวยาว เจาะช่องทะลุโปร่งทั้ง 4 นิ้ว ไม่ทำชิดเป็นแผงแบบอดีต และไม่กระดกนิ้วพระหัตถ์อ่อนหวานแบบศิลปะสุโขทัยและล้านนา

พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ ศาลาการเปรียญ วัดสุทัศนเทพวราราม เดิมเรียกกันว่า “พระกลักฝิ่น” หรือชาวบ้านเรียก “หลวงพ่อกลักฝิ่น”

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธเสรฏฐมุนี” อันมีความหมายว่า “พระพุทธรูปอันประเสริฐ ดีเลิศ”

ณ วัดราชนัดดาราม สร้างโดยรัชกาลที่ 3 เช่นเดียวกัน ก็มีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง พระพักตร์ละม้ายคล้ายคลึงกันกับพระเจ้ากลักฝิ่น รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า “พระเสฏฐตมมุนี”

ตามรากศัพท์แล้วคำว่า “เสรฏฐ” ควรเขียนว่า “เสฏฐ” ตามอย่างภาษาบาลีมากกว่า ไม่จำเป็นต้องใส่ “ร” ให้สับสน เพราะจะไปปนกับหลักไวยากรณ์ของภาษาสันสกฤตที่เขียนว่า “เศรษฐ” ซึ่งมีความหมายเดียวกันว่า “เป็นเลิศ ยอดเยี่ยม ประเสริฐยิ่ง”

เห็นได้ว่าชื่อของ “พระพุทธเสรฏฐมุนี” กับ “พระเสฏฐตมมุนี” นั้นมีความใกล้เคียงกันมาก อาจเป็นไปได้ว่ารัชกาลที่ 4 ทรงได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อ “พระกลักฝิ่นวัดสุทัศน์” มาจาก “พระพุทธรูปที่ศาลาการเปรียญของราชนัดดา”

น่าสนใจว่า วัสดุที่นำมาใช้หล่อพระพุทธรูปองค์หลังนี้ ก็ได้มาจากแร่ทองแดงที่ขุดได้เป็นจำนวนมากจากอำเภอจันทึก นครราชสีมา เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงทราบข่าวการพบแหล่งแร่ดังกล่าว ก่อนจะนำไปประกอบสิ่งอื่นใด โปรดให้นำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อน 1 องค์

 

มีเหตุการณ์น่าสลดใจเกิดขึ้นขณะชักลากพระนำไปสู่ศาลาการเปรียญวัดราชนัดดาราม ล้อเลื่อน (ภาษาภาคกลางโบราณเรียก “ตะเฆ่”) เกิดเชือกขาด จึงแล่นถลันด้วยความเร็วไปทับคน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย หนึ่งในนั้นมีเจ้าพระยายมราชในวัย 70 เศษด้วย

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การตั้งชื่อ “พระเสฏฐตมมุนี” ก็ดี และ “พระพุทธเสรฏฐมุนี” ก็ดี ถือเป็นการ “ตัดไม้ข่มนาม” หรือสร้างขวัญกำลังใจใหม่ให้คลายความหวาดกลัว

กล่าวคือ นำนามมงคลมาใช้เรียกแทนสิ่งที่เลวร้าย ประมาณว่าล้างอาถรรพณ์ให้อดีตอันไม่พึงประสงค์ผ่านพ้นไป ตามความเชื่อของคนโบราณ เนื่องจากพระพุทธรูปมีไว้ให้คนกราบไหว้โดยสนิทใจ หากสาธุชนบางคนไปติดยึดกับประวัติความเป็นมาของการสร้าง ว่าทำจากวัสดุกลักฝิ่นบ้างละ หรือขณะชักลากมีคนตายบ้างละ ก็อาจทำให้รู้สึกหวั่นไหวคลอนแคลนต่อศรัทธา

ตัวอย่างของความเป็นนักนวัตกรรมผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ของรัชกาลที่ 3 ปรากฏในงานศิลปกรรมจำนวนมาก ที่เห็นชัดที่สุดคือการไม่ทรงรังเกียจเศษชามกระเบื้องแตกหักที่ได้มาจากการเดินทางค้าขายโดยเรือสำเภาจีน พระองค์ก็ยังนำมาประดิดประดอยใหม่ในรูปแบบ “โมเสก” ชิ้นเล็กๆ แต่งเติมเสริมต่อให้เป็นรูปดอกไม้ นก เขามอ ประดับบนหน้าบันวิหารมาแล้ว

ดังนั้น “หลวงพ่อกลักฝิ่น” องค์นี้ จึงถือว่าเป็นทั้งต้นแบบการ Recycle วัสดุ (ไม่ใช่แค่เหลือใช้) แต่ป้องกันการไม่ปล่อยให้ใครก็ตามหวนกลับไปใช้ใหม่ ที่มีมาแล้วตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ทั้งยังเป็นกุศโลบายแห่งการ “แปร” หรือ “แปลง” สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ตัวฉกาจต่อสังคม

ให้กลายมาสู่ “สิ่งสักการะอย่างสูงส่งในพระพุทธศาสนา” อย่างแยบยลอีกด้วย