กรองกระแส / จังหวะ การเมือง ภาพสะท้อน การเมืองใหม่ การไม่ยอมจำนน

กรองกระแส

 

จังหวะ การเมือง

ภาพสะท้อน การเมืองใหม่

การไม่ยอมจำนน

 

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

น่าจับตาอย่างเป็นพิเศษ

อาจมองได้ว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังแน่วแน่อยู่ที่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. อาจมองได้ว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยังแนบแน่นอยู่กับความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของประชาชน

อาจมองได้ว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ยอมหยุดแม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว

กระนั้น ที่ต้องยอมรับก็คือ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ล้วนเป็นไปด้วยความยากลำบาก

แต่ทั้งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ไม่ยอมจำนน

 

สถานการณ์ไวรัส

ก่อภาวะยอมจำนน

 

การแพร่ระบาดของไวรัสเมื่อนำไปสู่การประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินพร้อมกับมาตรการ “เข้ม” อันมาจากรัฐบาลและจาก ศบค.

ก่อให้เกิดความยากลำบากในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ไม่เพียงยากลำบากเพราะสถานการณ์ไวรัส ไม่เพียงยากลำบากเพราะการประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน หากยังมีความพยายามขยายผลเพื่อจำกัดกรอบการเคลื่อนไหว

ภายใต้แนวทาง “สุขภาพเหนือเสรีภาพ” ของรัฐบาล

ผลก็คือ บทบาทของรัฐสภาในฐานะอันเป็นตัวแทนแห่ง “อำนาจนิติบัญญัติ” ถูกลดทอนลงไปทั้งจากมาตรการ “เข้ม” และการไม่สำนึกตระหนักอย่างเพียงพอของ ส.ส.และ ส.ว.ส่วนใหญ่

กระนั้น ก็ยังมีความพยายามจากพรรคฝ่ายค้านไม่ว่าพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ดำรงอยู่

กระนั้น บทบาทของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บทบาทของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ บทบาทของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงดำเนินไปเหมือนกับเป็นตัวอย่าง

ที่สำคัญ อย่างที่สุดก็คือ การเคลื่อนไหวในท่ามกลางประชาชน

 

เดือดร้อนเศรษฐกิจ

บทบาทนักการเมือง

 

มาตรการปิดเมือง ปิดอาชีพ อันเริ่มโดย กทม.เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ตามมาด้วยการประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ส่งผลสะเทือนเป็นอย่างสูงต่อประชาชน

เป็นผลสะเทือนทางด้านเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่

ความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจไม่ว่าที่สะสมมานับแต่หลังรัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 หรือแม้แต่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

ได้ปรากฏอย่างเด่นชัดในลักษณะซ้ำเติมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส

เบื้องหน้าสถานการณ์เช่นนี้ประชาชนต้องการขวัญกำลังใจ ต้องการการช่วยเหลือทั้งในด้านวัตถุและในด้านจิตใจเป็นอย่างสูง

ตรงนี้แหละที่นักการเมืองจะสามารถแสดงบทบาทและความหมายของตนได้

ไม่ใช่ด้วยอำนาจทั้งในทางการเมืองและในทางงบประมาณแบบรัฐบาล หากแต่ด้วยจิตใจที่พร้อมจะยืนหยัดอยู่เคียงข้างกับประชาชนอย่างแนบแน่น แม้จะยากลำบากแต่ก็ต้องพลิกแพลงหาวิธีการ

ที่สำคัญการอยู่กับประชาชนเท่ากับอยู่กับข้อมูลและความเป็นจริง

 

ข้อมูล ความเป็นจริง

รากฐาน การเมืองใหม่

 

ทําไมทุกครั้งที่ภาพของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปรากฏก็มักจะเป็นภาพที่อยู่ในท่ามกลางชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามชุมชนแออัด

เพราะว่านี่คือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ มีความเดือดร้อนมากที่สุด

ทำไมนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อและคณะจึงต้องตระเวนออกไปแจกอาหาร เครื่องใช้ให้กับประชาชน รอบแล้วรอบเล่าถึง 15 รอบ

นั่นเพราะว่าการอยู่ในท่ามกลางประชาชนทำให้ได้รับเสียงสะท้อนที่เป็นจริง

เช่นเดียวกับเมื่อคณะก้าวหน้าและนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จัดระดมทุนผ่านกิจกรรมเมย์เดย์ เมย์เดย์ ทำให้ได้รับรู้ว่ามีคนติดตามมากกว่า 10 ล้านคน และมีผู้เดือดร้อนจำนวนมหาศาล

จึงตระหนักและเข้าใจในความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคม

จะสามารถเข้าใจได้ก็มาจากการไม่ยอมจำนนในแบบของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในแบบของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในแบบของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

            นี่คือก้าวย่างของนักการเมืองรุ่นใหม่ในพื้นที่ของการเมืองใหม่