“คนจนเมือง” เริ่มอยู่ต่อไม่ได้

เรื่อง “ไม่ขอทน” ที่แตกต่าง

รัฐบาลประกาศยืดเวลาการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน จาก 30 เมษายน ขยายไป 31 พฤษภาคม 2563 พร้อมกับขยายเวลาเคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีสี่ออกไปด้วย

นับเป็นคำสั่งที่น่าสนใจยิ่ง

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวครั้งที่ผ่านมา แม้จะมีเสียงคัดค้านอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก เพราะความตื่นตระหนกต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอมรับความจำเป็นมากกว่า

แต่หลังจากรับมือกับความตื่นตัวมา 1 เดือนกว่า ความรู้สึกเช่นนั้นในใจประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว

ไม่เพียงแต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น ด้วยจำนวนผู้ป่วยใหม่ในแต่ละวันลดลง การเสียชีวิตคุมได้ มีผู้หายป่วยมากขึ้น เหลือในโรงพยาบาลน้อยลง จนไม่ต้องกังวลเรื่องระบบสาธารณสุขจะรองรับไม่ไหวอีกเท่านั้น

แต่ที่สำคัญคือ การจัดการโดยใช้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่าจะทำให้เกิดการบริหารสถานการณ์ที่ดีขึ้น

อีกทั้งกลับเกิดการใช้อำนาจแบบล้นเกิน ไร้ดุลพินิจ สะท้อนให้เห็นสำนึกอำนาจนิยมได้รับการปลูกฝังไว้ลึกซึ่งในข้าราชการ

เกิดการบริหารจัดการแบบ “มิติเดียว” คือ “สุขภาพ” มาก่อนทุกอย่าง ละเลยกิจกรรมที่เอื้อต่อชีวิตในมิติอื่น หนำซ้ำยังเป็น “สุขภาพเฉพาะในมิติของโควิด” ละเลยความเจ็บป่วยในโรคอื่น

ดังกับว่าชีวิตมนุษย์เหลือแค่การต้าน การต่อสู้กับโควิด-19

ความไม่พอใจจึงเกิดขึ้นโดยทั่วไป

ด้วยเหตุนี้เองการประกาศขยายการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนจึงต่างออกไปจากการประกาศครั้งแรก

เสียงต่อต้านมีมาก และด้วยท่าทีที่รุนแรงขึ้น

และเพราะมีเพียงเหตุผลเดียวคือ “ไม่ยอมการ์ดตกในการป้องกัน” อันหมายถึงการประเมินว่าการใช้ชีวิตของประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่พร้อมที่จะดูแลตัวเอง

ภาพความไม่พร้อมที่ชัด ดูเหมือนจะเป็นการออกมารับของแจกอย่างไม่ระมัดระวังระยะห่างทางสังคม ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการจำเป็น

คนจนเมืองเป็นจำเลยใหญ่ว่าทำให้ไว้ใจไม่ได้ว่าจะหยุดการระบาดของโรคร้ายนี้ได้

แต่นั่นเป็นมุมมองของผู้มีอำนาจ

สําหรับความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ผลสำรวจอย่างเป็นทางการเรื่อง “Behavioral Insight ของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์ COVID-19” จัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขซึ่งส่วนหนึ่งมีการสำรวจคนเมืองต่อสถานการณ์โควิด-19

ความรู้ความเข้าใจต่อการป้องกันโควิด-19 ของ “คนจนเมือง” ร้อยละ 91 หยุดกิจกรรมสังสรรค์, ร้อยละ 93 ไม่สัมผัสผู้ป่วยที่เป็นหวัด, ร้อยละ 63 ไม่เข้าไปในพื้นที่แออัด ซึ่งร้อยละ 35 เข้าไปครั้งเดียว, ร้อยละ 80 ล้างมือก่อนกินข้าวทุกครั้ง, ร้อยละ 85 ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง, ร้อยละ 65 ใช้มือจับใบหน้าแค่บางครั้ง ขณะร้อยละ 11 ไม่จับเลย

พฤติกรรมของ “คนจนเมือง” ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหามากที่สุดนี้ ว่าไปไม่ต่างจากกลุ่มอื่นเท่าไร และถือว่ามีความรู้ในการป้องกันและสำนึกในความตระหนักถึงการต้องระมัดระวัง

อันน่าจะเป็นระดับที่ถือได้ว่าพร้อมจะปกป้องตนเองและผู้อื่น โดยไม่ต้องใช้อำนาจอะไรมาบังคับให้เป็นไปแล้ว

และด้วยเหตุนี้ “คนจนเมือง” เริ่มเรียนรู้ว่าชีวิตที่จะอยู่ต่อไปไม่ได้ ไม่ใช่เรื่อง “ความไม่มีความรู้และสำนึกในการต่อสู้กับโรคระบาด” แล้ว แต่เป็นปัญหาปากท้องและความกดดันจากหนี้สินต่างๆ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ร้อน

เรื่องราวการฆ่าตัวตายที่สถิติเพราะทนชีวิตที่ทำมาหากินไม่ได้ไม่ไหว เริ่มเป็นตัวเลขที่ไม่ต่างกันที่ต้องตายเพราะโควิด

ความทุกข์จากรื่องอื่นๆ ที่ท่วมท้นขึ้น และไม่ได้รับความเข้าใจจากผู้มีอำนาจ

จะท้าทายการใช้อำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ