เทศมองไทย : ความในใจ ของแพทย์-พยาบาลไทย

ความสำเร็จในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขและทางการแพทย์เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย ถูกจับตามองจากทั่วโลก หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดจนอยู่ในระดับที่แพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลที่มีอยู่ไม่ตกอยู่ในสภาพ “โอเวอร์โหลด” เหมือนที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ

แต่สงครามกับเชื้อโรคที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นครั้งนี้ยังคงไม่สิ้นสุด ศึกนี้ยังมีอีกหลายระลอกนัก

ชัยชนะในการรับมือกับการแพร่ระบาด จะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าวัคซีนเพื่อการป้องกันโรคสามารถพัฒนาขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ หรือไม่ก็มนุษยชาติโชคดีที่มีตัวยาบางอย่างบางชนิดสามารถนำมารับมือกับโรคนี้ได้โดยตรง

ระยะเวลาที่จะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวยังคงอยู่อีกยาวไกลไม่น้อย

การควบคุมการแพร่ระบาดในยามนี้จึงทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ช่วยให้บรรดาแพทย์และพยาบาลที่ทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับโรคในตัวผู้ป่วยรวมทั้งช่วยให้บรรดาอาสาสมัครสาธารณสุขทั้งหลายได้มีเวลาพักผ่อน วางมือจากการติดตามแกะรอยผู้ติดเชื้อได้ชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดี

 

รายงานข่าวที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของรอยเตอร์สเมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า บรรดาแพทย์และพยาบาลซึ่งอยู่ในด่านหน้าของสงครามครั้งนี้ ตกอยู่ในสภาพหนักหนาสาหัสอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา

สาหัสชนิดแม้แต่นอนหลับ ยังติดตามไปอยู่ด้วยในความฝัน

รอยเตอร์สยกตัวอย่าง กาญจนา คามูน พยาบาลประจำหออภิบาลผู้ป่วยหนัก หรือไอซียู ในกรุงเทพฯ ที่ขลุกอยู่กับผู้ป่วยอาการวิกฤตจากโควิด-19 ตลอดทั้งวัน ถึงกับเก็บเอาไปฝันในตอนกลางคืนว่ายังคงเผชิญอยู่กับหน้าที่ที่ดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุดจนสะดุ้งตื่นด้วยความกระวนกระวาย และหวั่นกลัวตอนกลางคืน

“บางทีสะดุ้งตื่นขึ้นมา คอเจ็บไปหมด แล้วก็เป็นกังวล สงสัยอยู่นั่นแหละว่า ตอนทำงานทำอะไรผิดไปบ้างหรือไม่” กาญจนาบอกกับรอยเตอร์สอย่างนั้น ก่อนย้ำว่า “เท่าที่ทำได้ก็คือทำให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้” เท่านั้นเอง

สภาพอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจอย่างนี้คือสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นในยามที่จำนวนผู้ป่วยใหม่ลดน้อยถอยลง ในขณะที่ผู้ป่วยเดิมก็อาการดีขึ้น กว่า 80 เปอร์เซ็นต์สามารถเดินทางกลับบ้านได้แล้วโดยสวัสดิภาพ

 

ตั้งแต่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในใจกลางกรุงเทพฯ ต้องรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 มาแล้วเกือบ 200 ราย สิ่งที่ทำให้บุคลากรทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถอ้างได้อย่างภาคภูมิใจก็คือ ในจำนวนเกือบทั้งหมดนั้น พวกเขาไม่ได้สูญเสียผู้ป่วยไปแม้แต่รายเดียว

ทัศนีย์ อ่อนทอง พยาบาลประจำหอไอซียูอีกคนบอกเหตุผลง่ายๆ ว่า เป็นเพราะเธอไม่อยากให้ใครตาย อยากให้ทุกๆ คนอาการดีขึ้น

ระหว่างที่ดูแลรักษาอาการของผู้ป่วย สิ่งที่ทางโรงพยาบาลต้องระวังอย่างหนักพร้อมกันไปด้วยก็คือ ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในหมู่บุคลากร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่นิดเดียว

ผู้ป่วยที่มาถึงเป็นครั้งแรก จะได้เห็นหมอก็ผ่านทางหน้าจอเท่านั้น การสอบถามอาการและให้คำปรึกษาจากระยะไกล ภายในหอไอซียูเอง กันด้วยกระจกสองชั้น มีแต่คนที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นจึงจะเข้าไปภายในได้ ด้านใน ผู้ป่วยแต่ละรายจะถูกแยกออกจากกัน ห้องใครห้องมัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิกของโรงพยาบาลบอกว่า ในแต่ละคราวจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ประจำอยู่ภายในนั้น 5-6 คน แต่ละครั้งทุกคนต้องสวมชุดป้องกันเชื้อมิดชิดหลากหลายทั้งหมดซึ่งใช้เวลาไม่น้อย

“นี่คือสิ่งที่ทำให้เรากังวลว่า ถ้าหากเรามีเคสหนักๆ เป็นจำนวนมากๆ แล้วเราใช้ข้าวของเหล่านี้ไปหมดแล้ว โอกาสติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้น”

 

แต่จนแล้วจนรอด แพทย์และพยาบาลไทยยังไม่ประสบชะตากรรมลำเค็ญแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับหมอในจีนหรือในบางส่วนของยุโรป และสหรัฐอเมริกา

จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในระยะหลังลดลงมาเหลือเพียงหลักหน่วยแล้วด้วยซ้ำไป ในวันที่ 27 เมษายน มีผู้ป่วยเพิ่มเพียง 7 ราย เป็นครั้งแรกที่ลดลงมาเหลือเพียงหลักหน่วยตั้งแต่ 14 มีนาคมเป็นต้นมา

รอยเตอร์สบอกว่า ไทยเป็นชาติแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกประเทศจีน แต่ถึงวันที่ 27 เมษายน มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพียง 2,931 ราย เรียงลำดับตามจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว อยู่ที่อันดับ 58 ของโลก

ที่สำคัญคือ มีผู้เสียชีวิตเพียง 52 ราย ในขณะที่มีผู้ป่วยหายดีแล้ว 2,609 ราย

ทัศนีย์บอกว่า เธอเคยเจอผู้ป่วยที่มาถึงโรงพยาบาลในสภาพหมดสติแล้ว เป็นผู้ป่วยที่ไม่เพียงแต่อายุมากแล้วเท่านั้น ยังมีโรคประจำตัวอยู่ด้วย โอกาสรอดชีวิตมีน้อยมาก

แต่ก็สามารถรอดมาได้ แล้วยังฟื้นตัวดีขึ้นอีกด้วย

สิ่งนี้นี่แหละคือกำลังใจที่ทำให้เธอและเพื่อนๆ ในวอร์ดไอซียูสามารถต่อสู้ได้ต่อไป