เจาะลึกมาตรการ “คลายล็อก” ห้าง-ร้านอาหาร-ร้านตัดผมเฮ ผับ บาร์ “เหล้า-เบียร์” ยังอีกยาว

ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา อาจจะไม่เป็นไปตามที่หลายๆ คนคาดหวังนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านค้าต่างๆ จากเดิมที่ต่างคาดการณ์กันว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติ “คลายล็อก” ให้กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งหนึ่ง

จากก่อนหน้านี้ที่ พล.ต.ต.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศปิด 26 สถานที่ชั่วคราว อาทิ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย เพื่อลดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน และขยายเวลาไปจนสิ้นเดือนเมษายน

ตามต่อด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) ประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในการสกัดกั้นไวรัสโควิด-19 มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม

จากนั้นได้ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกบ้านตั้งแต่ 22.00-04.00 น. ตั้งแต่ 2-30 เมษายน และล่าสุดได้ต่อมาตรการไปอีก 1 เดือน หรือสิ้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

 

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาว่า การผ่อนปรนมาตรการและการปลดล็อกกิจกรรมต่างๆ ขณะนี้มีคณะกรรมการศึกษาทำรายละเอียดว่ากิจการใดจะควรผ่อนปรนได้บ้าง ในระยะต่อไป ขอให้รอฟังการแถลงข่าวโดยคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ และกระทรวงมหาดไทย

“รายละเอียดต่างๆ ต้องรอฟังการแถลงข่าวอีกครั้งในสัปดาห์นี้ (27 เมษายน-1 พฤษภาคม) ว่าจะมีผลอะไรออกมาบ้าง แต่หลักการพิจารณาของคณะกรรมการที่ผมมอบหมายไป ขณะนี้พิจารณาเรื่องแนวนโยบาย ส่วนแนวปฏิบัติต้องฟังจากท้องที่คือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด แต่ต้องระวังการแพร่ระบาด ไม่เช่นนั้นทุกสิ่งที่ปฏิบัติมาจะเสียเปล่าโดยสิ้นเชิง”

ขณะนี้แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจจะดูคลี่คลายลง ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพียงหลักหน่วยต่อวัน และยังมีโอกาสที่จะทำ New Low ได้อีก

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบของโควิด-19 จะยังคงอยู่ไปอีกนาน ไม่ว่าจะในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบสาธารณสุข

การรับมือกับผลกระทบในระยะยาวจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ย้ำมาเป็นระยะๆ ว่า จะต้องมีการผ่อนปรนมาตรการให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ โดยจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ส่วนวิธีการดำเนินการจะพิจารณาจากประเภทของกิจการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นลำดับแรก

และสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันคือ เร่งรัดการตรวจเชื้อให้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และมีการใช้เทคโนโลยีติดตามเพื่อตรวจสอบกิจกรรมควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อควบคุม ทุกรอบ 14 วัน กรณีควบคุมได้ดีขึ้นสามารถผ่อนคลายมาตรการเพิ่มขึ้น และขยายพื้นที่ ส่วนกรณีไม่ดีขึ้นให้ระงับมาตรการผ่อนคลายในทันที

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ย้ำว่า ขณะนี้นโยบายรัฐบาลต้องการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ในทุกพื้นที่ จึงยกเลิกระบบโซนแล้ว โดยจะเน้นเปิดตามกลุ่มกิจกรรม เริ่มจากการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็ก หาบเร่แผงลอย ร้านอาหารสตรีตฟู้ดต่างๆ รวมถึงตลาดนัดสามารถกลับมาทำธุรกิจได้ก่อน แต่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ส่วนกำหนดการว่าจะสามารถกลับมาเปิดในวันที่ 4 พฤษภาคม ตามที่เราเสนอไปหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะเร็วกว่านั้นก็เป็นได้”

ขณะที่นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า หอการค้าไทยได้หารือกับสมาชิกผู้ประกอบการค้าปลีก เห็นว่าควรผ่อนคลายให้ธุรกิจค้าปลีกเปิดให้บริการได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปโภคบริโภค อุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นโดยรวม และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้

ขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะ “คลายล็อก” ผ่อนผันกฎเหล็กเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการหายใจได้บ้าง โดยจะยึดตามการจัดระดับความเสี่ยงของสถานประกอบการ 4 กลุ่ม ตามที่คณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนใน ศบค.เสนอไป

เบื้องต้นจะมีการผ่อนปรนตามกลุ่มความเสี่ยง โดยเฟสแรกจะเริ่มจากกลุ่มที่ได้รับข้อยกเว้น หาบเร่ แผงลอย ตามด้วยกลุ่มความเสี่ยงต่ำ เช่น ร้านขายหนังสือ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายของทั่วไป ร้านขายวัสดุก่อสร้าง

ถัดมาจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง ตลาดสด ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าโมเดิร์นเทรด ร้านทำผมตัดผม คลินิกความงาม คลินิกแพทย์ คลินิกทำฟัน

ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต โรงเรียนกวดวิชา โรงหนัง โรงละคร ศูนย์แสดงสินค้า สนามกีฬา สนามมวย ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาจจะต้องรอไปอีกยาวๆ

 

และในที่สุด ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. ก็ตั้งโต๊ะแถลงหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร (29 เมษายน 2563) ว่า คณะกรรมการเห็นชอบในหลักการให้ผ่อนปรน 8 สถานที่ แต่ต้องทำตามมาตรการที่กำหนด และเป็นการเปิดแบบมีเงื่อนไข

ส่วนจะเปิดวันใดนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเริ่มได้วันไหน ก็จะเริ่มวันเดียวกัน แต่ยังคงมาตรการปิดสถานที่อื่นๆ ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม

โดย 8 สถานที่ซึ่งจะได้รับการผ่อนปรน ประกอบด้วย

1. ร้านอาหาร นั่งกินที่ร้านได้ แต่ต้องจัดที่นั่งห่างกัน 1.5 เมตร และห้ามมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดตามเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

2. ตลาด และตลาดนัด ให้ขายสินค้าได้ทุกประเภท

3. สถานที่ออกกำลังกาย เป็นประเภทที่มีระยะห่างกัน รวมถึงศูนย์กีฬาและศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร จะเปิดบริการ ให้เข้าไปออกกำลังกายได้เฉพาะกีฬาที่ไม่ใกล้ชิดกัน เช่น เดิน วิ่ง สนามแบดมินตัน เทนนิส เทเบิลเทนนิส

4. สวนสาธารณะ ให้เข้าใช้ออกกำลังกาย พักผ่อนได้ แต่ห้ามจับกลุ่มสังสรรค์

5. ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย อนุญาตเฉพาะตัด สระ ไดร์เท่านั้น และต้องหยุดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกๆ 2 ชั่วโมง ให้จองคิวเข้ารับบริการ ไม่ให้นั่งรอในร้าน ช่างใส่หน้ากากและเฟซชิลด์ด้วย

6. ร้านตัดขนสัตว์ และคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ นำสัตว์เข้าร้านได้ 1 คนต่อ 1 ตัวเท่านั้น และหยุดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกๆ 2 ชั่วโมง

7. โรงพยาบาล คลินิก และสถานพยาบาล

8. สนามกอล์ฟ และสนามฝึกซ้อม

ที่สำคัญ ทุกสถานที่ต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด วัดอุณหภูมิ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลก่อนเข้า และจัดระยะห่างระหว่างบุคคล 1.5-2 เมตร หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการนี้ก็จะสั่งปิดทันที

ส่วนเรื่องการยืดเวลาห้ามขายสุรานั้น จะรอสัญญาณจากรัฐบาลว่ามีนโยบายอย่างไร ถ้ารัฐบาลมีนโยบายขยายยืดเวลาออกไป กทม.ก็จะดำเนินการตาม

 

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น “กทม.โมเดล” น่าจะเพื่อลดความกดดันแรงงานที่ขาดรายได้จากการปิดร้านได้ระดับหนึ่ง และเป็นโมเดลที่ทุกจังหวัดนำไปปรับใช้ตามมา

จากนี้ไป ทุกอาชีพ ทุกคน จะต้องมีการปรับตัว

มีระเบียบวินัยที่เคร่งครัด เพื่อป้องกันเขาและป้องกันเรา

ทุกอย่างจะต้องค่อยเป็นค่อยไป

และทุกคนจะต้องปรับตัวเข้าสู่ New Normal