ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤษภาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยจะลดระดับลงจากหลักร้อยลงมาเหลือหลักต่ำสิบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่ปัญหาสำคัญที่ทวีความรุนแรงสวนทางและรัฐบาลต้องเร่งเยียวยาแก้ไขก่อนทุกอย่างจะสายเกินไปกว่านี้คือ
ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาลที่พยายามสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด
ไม่ว่าการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งปิดสถานประกอบการต่างๆ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ตลาดนัด ฯลฯ
ตามด้วยการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่ช่วงเวลา 4 ทุ่มถึงตี 4 ของอีกวัน
มาตรการป้องกันโรคสวนทางกับมาตรการช่วยเหลือทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรายละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน ที่หลายคนไม่ได้รับแบบทั่วถึง จนต้องออกมาเรียกร้องทวงสิทธิ์กันโกลาหล ถึงวันนี้ก็ยังไม่จบ
รวมถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เมื่ออังคารที่ผ่านมา สังคมมองว่ามาตรการของรัฐบาลมีความล่าช้า ไม่ฉับไวต่อสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังทุกข์ยากสาหัส
หลายคนกังวลปัญหาเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิดแบบเต็มๆ อาจเป็นปัจจัยลุกลามคร่าชีวิตประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะจากเหตุการณ์การฆ่าตัวตายเป็นข่าวรายวันกรณีผู้เจอพิษเศรษฐกิจรุมเร้าไร้ทางออก ต้องเลือกจบชีวิตตัวเองลงอย่างน่าเศร้า
ทั้งกรณีพ่อวัย 40 ปีกับลูกสาววัย 5 ขวบที่ตัดสินใจกระโดดแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะตกงานจากวิกฤตโควิด ไร้เงินทองรายได้ประทังชีวิต
กรณีแม่ลูกสองชาว จ.มหาสารคาม ตกงานและลงทะเบียนขอเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาล แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ สุดท้ายผูกคอเสียชีวิตคาบ้านพัก ทิ้งลูกน้อย 2 คนไว้ให้ยายดูแล
รวมถึงเรื่องราวของหญิงวัย 59 ปี บุกทวงถามเงินเยียวยา 5,000 บาทจากกระทรวงการคลัง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ให้ความสนใจ จึงตัดสินใจซดยาเบื่อหนูหวังฆ่าตัวตายหน้ากระทรวง แต่โชคดีได้รับความช่วยเหลือส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที
ล่าสุดกรณี “น้องปลายฝน” รปภ.สาววัย 20 ปี วาดภาพนายกรัฐมนตรีทั้งน้ำตา ก่อนโพสต์เฟซบุ๊กตัดพ้อไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ทำให้ไร้เงินซื้อนมเลี้ยงลูก สุดท้ายตัดสินใจผูกคอตายจบชีวิต
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดสะท้อนถึงปัญหาใหญ่ไม่แพ้สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือ
เนื่องจากตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน
คณะนักวิจัย “โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” แถลงดับเครื่องชน
เปิดสถิติผลรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ฆ่าตัวตายจากพิษโควิด-19
ปรากฏข้อมูลน่าสนใจนับแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2563 พบการฆ่าตัวตายทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 ราย อีก 10 รายไม่เสียชีวิต
หากเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากการป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยตรง กับผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคระบาดในช่วงเวลาเดียวกัน คือระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน
พบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดและผู้ที่ฆ่าตัวตายมีจำนวนตัวเลขเท่ากันคือ 38 ราย
นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาในรายละเอียดของคนที่ฆ่าตัวตาย พบป็นเพศชาย 27 ราย เพศหญิง 11 ราย
แยกอาชีพเป็น ลูกจ้างและผู้ประกอบการอิสระ 35 ราย เช่น พ่อค้าแม่ค้า, คนขับรถ, เด็กเสิร์ฟ, ช่างเชื่อม เป็นผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจรายย่อยอีก 3 ราย
ข้อเท็จจริงส่วนนี้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงจากนโยบายและมาตรการของรัฐคือกลุ่มลูกจ้างและแรงงานอิสระ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนจนเมืองที่ต้องตกงานแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากภาครัฐอย่างทันท่วงที และผู้ประกอบการรายย่อยเป็นอีกส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน
จากข้อมูลที่รวบรวมและนำเสนอเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายจากโควิด-19 คณะนักวิจัยมีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าว่ารัฐบาลควรมีมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีและครอบคลุมชาวบ้านที่เดือดร้อนทุกกลุ่ม
รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการให้เงินเยียวยาในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ให้กว้างขวางและรวดเร็ว เพื่อสอดรับกับการเรียกร้องให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ บนฐานคิดช่วยเหลือให้ถ้วนหน้า
ไม่ใช่สงเคราะห์เพียงบางคน
ในพื้นที่ไม่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องเปิดพื้นที่แบบจัดการ เช่น ตลาด ร้านค้ารายย่อย เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ทำมาหากินเลี้ยงชีวิต
รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนโดยไม่จำเป็น
ไม่ว่าการสร้างความยุ่งยากในการแจกจ่ายอาหารของประชาชนและการจับกุมคนไร้บ้าน
คณะนักวิจัยทิ้งท้ายด้วยว่า การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฏกรรมที่รัฐบาลสามารถป้องกันได้หากมีมาตรการจัดการปัญหาที่มีประสิทธิภาพ
การมุ่งเน้นมาตรการควบคุมโรคเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะวิกฤตโควิด-19 แต่ถ้าคนไทยต้องจบชีวิตเพราะพิษเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
ก็ไม่อาจนับว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้อย่างแท้จริง
แต่อีกมุมในฝั่งของแพทย์มีความเห็นต่างกับผลสำรวจของคณะนักวิจัยดังกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ออกมาแสดงความคิดเห็นและโต้กลับผลวิจัยชิ้นนี้ว่า
กรมสุขภาพจิตนำบทความวิจัยนี้มาประเมินอีกครั้ง โดยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญการวิจัยด้านสุขภาพจิต และพบข้อสังเกตจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวิธีวิจัยและความถูกต้องของเนื้อหา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชน
จึงขอชี้แจงข้อสังเกตว่า งานวิจัยนี้เป็นเพียงบทวิเคราะห์สื่อและนำเสนอปัจจัยสาเหตุจากมุมมองของสื่อมวลชน ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวแทนหรือใช้เป็นข้อเท็จจริงสะท้อนปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมได้
การนำเสนอและวิเคราะห์เลือกแสดงข้อมูลเพียงเดือนเมษายนเท่านั้น
ขาดการเปรียบเทียบข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประชากรในเดือนก่อนหน้านี้ และการนำข้อมูลเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากการติดโควิด ก่อให้เกิดการตีความและความเข้าใจคลาดเคลื่อน
การอธิบายผลการวิจัยขาดการทบทวนงานวิจัยสุขภาพจิตที่มีก่อนหน้านี้ รวมถึงไม่อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีด้านสุขภาพจิต อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก
“การกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการฆ่าตัวตายกับปัจจัยใดเพียงปัจจัยเดียวนั้น ไม่สามารถทำได้
เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จปี 2561-2562 พบปัญหาฆ่าตัวตายมีความสลับซับซ้อนและเกิดจากกลุ่มปัจจัยที่ซ้อนทับกัน โดยปัญหาที่เป็นปัจจัยร่วมพบได้บ่อยสุดคือปัญหาความสัมพันธ์ รองลงมาเป็นการใช้สุรา โรคทางกาย โรคจิตเวช และปัญหาเศรษฐกิจ”
แต่กรมสุขภาพจิตคาดการณ์ว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายในประเทศไทยอาจสูงมากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปี ตามกลไกทางจิตวิทยาสังคมที่อยู่ในภาวะวิกฤต
โดยปัจจัยด้านเศรษฐกิจจะมีบทบาทมากขึ้นและอัตราส่วนที่สูงขึ้น
แต่ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยว กลุ่มปัญหาความสัมพันธ์ เช่น การทะเลาะกับคนใกล้ชิด ความน้อยใจ ความหึงหวง มักเป็นปัจจัยที่พบร่วมด้วยมากที่สุด
กรมสุขภาพจิตยังคงติดตามปัญหาฆ่าตัวตายในสังคมไทยอย่างใกล้ชิด และทำงานเชิงรุกประสานกับภาคประชาสังคมในการจัดการปัญหาทุกมิติ
ที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในสังคมไทย
เช่นเดียวกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ออกมาตอบโต้คณะนักวิจัยเช่นกันว่า
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการรวบรวมข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชน ไม่ได้มาจากสถิติของหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูล จึงไม่สามารถใช้เป็นข้อเท็จจริงสะท้อนปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมได้
เพราะโดยปกติแล้วงานวิจัยด้านสุขภาพจิตต้องใช้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเก็บข้อมูลปัจจัยด้านสุขภาพจิต
สุดท้ายแม้มุมมองและความเห็นจากนักวิจัยแบบดับเครื่องชนที่เปิดสถิติ “ฆ่าตัวตาย” ช่วงโควิดอาละวาด กับความเห็นของแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจสวนทางกัน
แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และความลำบากของชาวบ้านที่กำลังประสบกันอยู่ทั่วหน้าในตอนนี้
อาจเป็นเครื่องพิสูจน์และสะท้อนให้เห็น
สุดท้ายแล้ว “ใครล้มเหลว” จากการแก้ปัญหาโควิด-19