คำ ผกา : อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไม่ต้องอยู่

คำ ผกา

สัปดาห์ที่แล้วเขียนเรื่อง วิกฤตวัดไทย

ไม่ใช่วิกฤตเรื่องคำสอน ศาสนา หรือความประพฤติพระสงฆ์

แต่เป็นวิกฤตแห่งการขาด “สถาปนิก” ในการออกแบบวัดทั้งตัวอาคารและภูมิทัศน์ของวัด

ทำให้วัดและคนไทยเองเองสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก “พื้นที่” ของวัดที่มีศักยภาพเป็นสวนสาธารณะ เป็นห้องสมุดและเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือแม้แต่เป็นที่หย่อนใจ เป็นที่ขัดเกลาความละเมียดละไมในจิตใจคน

มองในแง่การบริหารทรัพยากร มันเป็นเรื่องน่าเสียดายเอามากๆ

 

แล้วสัปดาห์นี้ก็มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่ง ที่อาจไม่เป็นที่สนใจนัก นั่นคือ สำนักข่าวแชแนลนิวส์เอเชีย (เรื่องแบบนี้ทำไมสื่อไทยไม่สนใจเนอะ) นำเสนอข่าวความเปลี่ยนแปลงของบางกระเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นโอเอซิส หรือพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ที่ชาวบ้านเริ่มขายที่ดิน

อีกทั้งที่ดินเริ่มเป็นที่ต้องการของ “เศรษฐี” ในกรุงเทพฯ ที่ “รักธรรมชาติ” เพื่อไปสร้างบ้านหลังที่สองด้วยปรารถนาอยากมีชีวิตเขียวๆ

เหตุหนึ่งที่บางกระเจ้าต้องเปลี่ยนแปลงไปในหนทางนี้ก็เนื่องจากการถูกกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ตั้งแต่ปี 1977 มีการควบคุมอาคารสูง ห้ามสร้างโรงแรม รีสอร์ต

กฎเกณฑ์ต่างๆ ของการเป็นพื้นที่อนุรักษ์กลับทำให้พื้นที่บางกระเจ้าเหมือนเป็นพื้นที่ที่ถูกสาป เพราะไม่สามารถนำไปพัฒนาทำอะไรได้เลย

ชาวบ้านพึ่งพิงรายได้จากการทำการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว

ในระยะหลังเมื่อมีน้ำเค็มหนุนสูงมากขึ้น การเกษตรได้รับผลกระทบ ชาวบ้านไม่มีรายได้จากทางอื่น

สิ่งที่ตามมาคือการขายที่ดิน

 

จริงๆ แล้ว ความเป็นชนบทของบางกระเจ้าและสีเขียวของเรือกสวน ไม่ใช่ “ของแปลก” สักนิดสำหรับประเทศไทย

เราไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรมที่ “ชนบท” กลายเป็นของหายาก

แต่บางกระเจ้าอาจมีจุดขายที่เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ นั่งรถเมล์แป๊บๆ ลงเรืออีกแป๊บ ก็ทำให้ “คนเมือง” ผู้โหยหาชนบท ได้ปั่นจักรยาน ดูวัด ดูการทำธูปหอม ได้ไปตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

ฉันไม่รู้ว่า บางกระเจ้าจะเปลี่ยนไปอย่างไร?

คนที่รักธรรมชาติ และมีความสุขกับการได้ไปปั่นจักรยานที่บางกระเจ้าจะลุกขึ้นมาปกปักรักษาบางกระเจ้าด้วยวิธีไหน

หรือไม่ควรจะคาดหวังอะไรเพราะนักท่องเที่ยวก็คือนักท่องเที่ยว อาจจะบ่นนิดหน่อยบางกระเจ้าเปลี่ยนไปแล้ว

รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย

จากนั้นเราก็หาที่เที่ยวใหม่ๆ บุกเบิกที่ใหม่มาทดแทน ย้ายหลุมย้ายรูไปเรื่อยๆ สบายใจ (นี่เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน)

แต่เคสของบางกระเจ้าทำให้ฉันอยากพูดถึงความใกล้เกลือกินด่างที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาเมืองของเรา

 

ยกตัวอย่างกรุงเทพฯ เมืองที่เคยเป็นเวนิสตะวันออก และทุกวันนี้ กรุงเทพฯ ก็ยังเป็นเมืองที่มีคลองอันเชื่อมโยงกับอีกหลายจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ

ถ้าหากมีการจัดการที่ดี เราสามารถมี “คลองกระเจ้า” ได้ตั้งแต่เซ็นทรัลชิดลมด้วยซ้ำไป

สิ่งที่ฉันไม่เข้าใจคือ ทำไมเราจึงเชื่อว่า “เมือง” กับ “สีเขียว” “ธรรมชาติ” และบรรยากาศแบบ “เรือกสวน” มันต้องแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง

คลองทุกเส้นในกรุงเทพฯ หากได้รับการออกแบบ วางแผนอย่างดี มันควรจะถูกนำมาเชื่อมต่อกันทุกสาย

ควรจะถูก “ชำระ” วางระบบระบายน้ำ โกยเอาขยะตกค้างออก ขุดลอก สร้างระบบไหลเวียนของน้ำให้ค่อยๆ สะอาดขึ้น

ทำทางเดินและทางจักรยานริมคลองทุกสายในกรุงเทพฯ แล้วเชื่อมทางจักรยานเหล่านั้นไปให้ถึงปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ราชบุรี

สร้างพื้นที่สีเขียวริมคลอง ออกแบบ “สวน” ทางยาวเลียบคลองที่มีอยู่แต่เดิม

ตรงไหนที่ไม่เชื่อมกันก็ขุดให้เชื่อมกัน

เนรมิต “เรือกสวน” ของเมืองลุ่มแม่น้ำในอดีตให้กลับมามีชีวิตท่ามกลางความทันสมัยและตึกสูงอีกครั้ง

นอกจากทางเดินและทางจักรยานเลียบริมคลองทั้งหมด ก็วางระบบการจราจรทางน้ำ นั่งออกแบบกันว่าการเดินทางเรือด้วยคลองต่างๆ เหล่านี้ จะไปไหนได้บ้าง

จะผ่อนภาระจากการจราจรบนท้องถนน และจะเพิ่มความรื่นรมย์ของการเดินทางเรือในเมืองลุ่มน้ำภาคกลาง ห้า-หกเมืองนี้ได้อย่างไร

 

มันอาจฟังดูเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามนุษย์เราสามารถสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์และดาวอังคารได้ ฉันเชื่อว่า ไอ้สิ่งที่ฉันคิดว่าควรทำกับคลองในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมด น่าจะง่ายกว่าการไปดาวอังคารหลายเท่า

สิ่งที่คนไทยอาจจะมองข้ามคือ เราไปแยกเมืองกับ “ป่า” ออกจากกัน

และเราแยกเมืองกับ “ธรรมชาติ” ออกจากกัน

เราอยู่กับวาทกรรม “ป่าคอนกรีต” ที่คู่ขนานไปกับ “ธรรมชาติของชนบท”

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น

ทำไมเราต้องทึกทักว่าชนบทต้องไม่มีความทันสมัยหรือเครื่องอำนวยความสะดวก

ทำไมเราจึงไปทึกทักเอาว่า เมืองกับป่าอยู่ด้วยกันไม่ได้

เมืองใหญ่ๆ ในโลกนี้หลายเมืองมีป่าอยู่กลางเมืองเลยด้วยซ้ำไป เช่น เบอร์ลิน หรือเมืองอย่างเกียวโต ก็มีภูเขาและ “ป่า” อยู่ใกล้ชั่วลัดนิ้วมือเดียว แถมยังมีสวนพฤกษศาสตร์อยู่ใจกลางเมืองเป็นพื้นที่นับร้อยไร่

เมืองใหญ่ไม่จำเป็นต้องเป็นป่าคอนกรีต

เราไม่จำเป็นต้องให้กรุงเทพฯ มีแต่ตึกสูง ความร้อน ความแห้งแล้ง ความทันสมัย แล้วพยายามไปแช่แข็งบางกระเจ้า ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งไว้เป็น “ชนบท” สำหรับเราจะได้ไปเที่ยวได้ใกล้ๆ กรุงเทพฯ ที่กอปรไปด้วยตึกสูง รถรา ความอึกทึก ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเงินนี่แหละสามารถมี “บางกระเจ้า” ของตัวเองบนถนนสาทร หรือแม้แต่ในเยาวราช

ขอเพียงแต่เรายอมให้ “นักออกแบบเมือง” ได้ทำงาน ได้ออกแบบ

เช่นเดียวกัน การเป็น “ชนบท” ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับความขาดแคลน “สาธารณูปโภค” ที่ดี

ชนบทอาจหมายถึงเมืองที่ไกลจากศูนย์การค้า การลงทุน เป็นพื้นที่ทางการเกษตร หรืออยู่ใกล้ป่า ใกล้ภูเขา ใกล้ทะเล

แต่ไม่ได้แปลว่า “ความไกล” ต้องเท่ากับการขาดแคลนสาธารณูปโภค น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง อินเตอร์เน็ตไม่มี หรือขาดแคลนซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีทั้งหลาย

ชนบทสามารถมีถนนที่ดีมากๆ มีไฟฟ้า มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

และถึงที่สุดแล้วยิ่งเป็นชนบทที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางมากเท่าไหร่ยิ่งต้องการการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากขึ้นเท่านั้นเพื่อชดเชยกับความห่างไกล

และเพื่อทำให้ชีวิตที่ห่างไกลนั้นมีความ “สะดวกสบาย” ยิ่งอยู่ไกลยิ่งต้องการ “ตัวช่วย” ที่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มากเสียยิ่งกว่าคนในเมือง

 

แต่เวลาเสนอ “ภาพฝัน” อย่างนี้ออกไป คำตอบที่เราจะได้รับเสมอคือ

“เป็นไปไม่ได้”

พร้อมเหตุผล เช่น จะจัดการกับเอกชนที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะหรือแม้กระทั่งหากมีการเวนคืนจะต้องทำอย่างไร

รวมถึงข้ออ้างประเภท แต่ละพื้นที่มี “เจ้าภาพ” ในการจัดการหลายหน่วยงานทับซ้อนกัน ทั้งทางหลวง ทางหลวงชนบท รพช. ชลประทาน การไฟฟ้า ฯลฯ การจะทำอะไรสักอย่างที่ไปเปลี่ยนแปลงของเดิมๆ ที่มีอยู่จึงยุ่งยากจนแทบเป็นไปไม่ได้

แต่ฉันก็อยากเถียงอยู่ดีว่า ในบ้านนี้เมืองนี้มีเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ตั้งหลายเรื่อง ยังทำให้มันเป็นไปได้ขึ้นมาเลย

ในประเทศนี้มีที่อัปลักษณ์ การตัดถนน การสร้างตึก การตัด และปลูกต้นไม้ การถมคลอง การปล่อยให้มีสายเคเบิลร้อยสาย พันสาย หมื่นสาย พัลวันกันอยู่ตามเสาไฟฟ้า ผนังตึกในที่ต่างๆ อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

และสำหรับฉัน สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” เสียยิ่งกว่าการนำป่ามาไว้ในเมือง

การบุกเบิกคลองให้เป็นสวนสาธารณะพร้อมเส้นทางสัญจรของประชาชนเสียอีก – ก็ยังอุตส่าห์ทำกันได้

ดังนั้น ไอ้ที่พูดว่า เป็นไปไม่ได้ น่าจะเกิดจากสองเหตุผลเท่านั้นคือ ขี้เกียจกับไร้ความสามารถ และอาจแถมด้วยไร้จินตนาการ ไร้รสนิยม

 

อาทิตย์ที่ผ่านมา มีโอกาสไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่เป็นสวนมะม่วงอยู่ริมคลองภาษีเจริญ

การเดินทางด้วยรถเท่าที่ตาเห็นคือ ถนนอันอัปลักษณ์และออกแบบมาโดยอำนวยความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนน้อยมาก

ตึกรามอันน่าเกลียดและผุดขึ้นมาตรงนี้ตรงนั้นอย่างขาดการวางแผน (จะโทษใคร ฉันก็โทษการผังเมืองนั่นแหละ)

แดดที่ร้อนจัด เพราะไม่มีใครคิดว่าจะออกแบบการปลูกต้นไม้หรือออกแบบสวนให้อยู่กับถนนได้อย่างไร

เมื่อในระดับเมือง ระดับประเทศของเราไม่มีใครแคร์เรื่อง “ความงาม” ของ “เมือง” คนไทยก็มีชีวิตและเติบโตมาคู่กับความไร้รสนิยม อัปลักษณ์ ขาดการปลูกฝังขัดเกลาให้อ่อนไหวต่อความ “ขี้ริ้ว” และความ “สกปรก”

จึงไม่มีใครเดือดร้อนกับความอัปลักษณ์ในชีวิตประจำวันอันประจานผลงานของนักผังเมืองของไทยเท่าไรนัก

รวมถึงการขับรถผ่านพุทธมณฑลที่มีคนขายอาหารเลี้ยงปลา มีพยายามเดินฝ่าแดดร้อนมาซื้ออาหารปลานั้น แล้วพยายามไปหาความสุขด้วยการนั่งให้อาหารปลาในบ่อน้ำที่อยู่กลางแดดเปรี้ยง

มันชัดเจนมากว่าคนไม่อยากเดินห้างอย่างที่ชอบก่นประณามกัน มีคนจำนวนมากดิ้นรนอยากไปใช้เวลาในวันหยุดกับต้นไม้ กับน้ำกับสวน แต่เราไม่มีสิ่งนี้บริการประชาชน

พุทธมณฑลด้านหน้าที่ฉันเห็นนั้นร้อนแล้งราวกับทะเลทราย และต้นไม้ก็แคระแกร็นอย่างน่าเวทนา

 

เมื่อหลุดเข้าไปในบ้านสวน ก็เห็นคลองอันร่มรื่น และอีกนั่นแหละ ที่ฉันเห็นว่า นี่คือทรัพยากรที่ล้ำค่าที่สุด ในฐานะเส้นทางการจราจรทางเลือก เชื่อมตำบล อำเภอ จังหวัด และสามารถพัฒนาให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นได้โดยไม่ยากเลย

ทว่า สิ่งที่ได้รู้คือ หน่วยงานราชการอะไรสักแห่ง จะสร้างถนนเลียบคลอง เพื่อให้รถทุกประเภทวิ่งผ่านได้

พระเจ้า! คลองเหล่านี้มีทางเดินริมคลองอย่างเป็นธรรมชาติ สิ่งที่ควรสร้างได้เลยโดยไม่ยุ่งยากสักนิด คือทำทางจักรยาน ทางเท้า ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น ทำม้านั่ง-แค่ทำสวนสาธารณะให้ยาวเลียบคลองตลอดไปจนกว่าจะตกทะเล

แค่นี้เมืองจะสวยขึ้นอีกล้านเท่า

มหาชนชาวสยามจะมีที่หย่อนใจไม่ต้องแห่ไปบางกระเจ้าราวกับเป็นชนบทอันเดียวที่คนกรุงรู้จัก

ก็คงได้แต่บ่น

และท่องว่าบ้านเมืองไม่ใช่ของเรา-ช่างแม่ง