ของแสลงกองทัพ

ดูไวรัสโควิด-19

จะเป็นของแสลงสำหรับกองทัพไทยไปเสียแล้ว

ถึงตัวจะกระจิ๋วหลิว แต่ถล่มกองทัพจนการ์ดตก

เสียขุนทัพนายกองและจุดยืนอย่างหมดฟอร์ม

อาทิ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก นอกจากต้องป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว

ยังถูกตั้งกรรมการสอบ กรณีขัดมติคณะรัฐมนตรี ฐานปล่อยให้มีการจัดแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ “ลุมพินีแชมเปี้ยนเกียรติเพชร”

ยิ่งกว่านั้น ยังเข้าไปร่วมอยู่ในสนามมวยลุมพินี ที่เป็นซูเปอร์สเปรด แหล่งเผยแพร่ใหญ่ของโรคระบาดนี้

จนเป็นเงื่อนไขสำคัญหนึ่งที่ทำให้ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กองทัพตกเป็นจำเลยสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้

ต่อมาก็เกิดเหตุวุ่นวายที่สนามบินสุวรรณภูมิ

คนไทยที่เดินทางเข้าประเทศไม่ยอมกักตัว ถือเป็นการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กระทรวงกลาโหมซึ่งจัดกำลังพลเข้าไปสนับสนุนการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ถูกวิจารณ์ขรม

ว่าตัดสินใจเกินอำนาจ ปล่อยให้คนไทยกลับบ้าน ก่อนที่จะไปตามมากักตัวอย่างทุลักทุเล

จากเหตุดังกล่าว มีการเรียกตัว พล.ต.โกศล ชูใจ และกำลังพลที่เกี่ยวข้องกลับทันที

และสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบ

เพื่อลดแรงกดดันของสังคม

แล้วก็มาถึงคิวกองทัพเรือ

เมื่อเอกสารนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในวันที่ 31 มีนาคม 2563 หลุดออกมาสู่สาธารณะ

เป็นเอกสารที่ขออนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำ มูลค่ามากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,200 ล้านบาท)

เสียงด่ากระหึ่ม เพราะในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังวิกฤตเพราะปัญหาไวรัสโควิด-19 คนตกงาน อดอยาก

แต่กลับมาเสนอขอซื้ออาวุธ

แม้กองทัพเรือจะแจงว่าเป็นเรื่องเก่าและต่อเนื่อง

แต่เพื่อลดแรงกดดัน ยอมถอนเรื่องออกมาจาก ครม.อย่างสะบักสะบอม

จากเหตุดังกล่าว ทำให้กองทัพต้องเรียกศรัทธาคืน

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาแถลงอย่างองอาจ

กลาโหมจะพิจารณาการตัดโอนงบประมาณ 2563 ในส่วนของโครงการและการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ลง

เพื่อนำมาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

คําแถลงยังไม่หายก้องในหูของชาวบ้าน

จู่ๆ ก็มีเอกสารแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ปรากฏออกมา

เรื่อง ซื้อยานเกราะล้อยาง พร้อมระบบอาวุธ และการบริการทางเทคนิค จำนวน 50 คัน ด้วยวิธี FMS

งบประมาณ 4,515,000,000,000 บาท คาดว่าจะประกาศจัดซื้อในเดือนเมษายน 2563

เอกสารดังกล่าว อ้าง พล.ท.ศรชัย กาญจนสูตร เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก เป็นผู้ลงนาม

จริงเท็จหรืออย่างไร ไม่มีการยืนยัน

แต่ในโลกโซเชียลมีเดียถล่มเรื่องนี้กันอย่างหนักหน่วง

เพราะถือเป็นการขยี้หัวใจชาวบ้าน

ด้านหนึ่งเราเห็นภาพคนเข้าคิวรับของบริจาค

เห็นข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะตกงาน ออกมาเป็นรายวัน

กองทัพก็ยังเดินหน้าซื้ออาวุธไม่หยุด ทั้งที่แถลงเท่-เท่ว่าจะชะลอแล้ว

งานนี้คงชี้แจงกันเหนื่อย

และแพ้เจ้าไวรัสตัวน้อยๆ อีกตามเคย