คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ชรานุสติ 7 รอบ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : ถอนราก หยั่งเมล็ดพันธุ์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สมัยผมแต่งงานโดยจัดพิธีแบบอินเดียที่จังหวัดนครปฐม อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กรุณาไปในงานจนค่ำมืดแล้วต้องกลับก่อนเพราะพิธียาวนาน

หลายวันถัดมาผมกับภรรยาตามไปถึงบ้านอาจารย์เพื่อขอน้ำสังข์และขอพรแต่งงาน

ตอนแรกแกนั่งเก้าอี้ พวกเรานั่งพื้น แต่อาจารย์บอก “อย่างงี้ไม่เอา ต้องเท่ากัน” แล้วก็ลงมานั่งที่พื้นด้วย

รดน้ำสังข์เสร็จอาจารย์ก็ให้เกร็ดความรู้ว่า เดี๋ยวนี้คนเขาเจิมแล้วค่อยรดน้ำ นัยว่าเอาสะดวก แต่ที่จริงควรต้องรดน้ำแล้วค่อยเจิม เพราะโบราณว่าอาบน้ำแล้วจึงประแป้ง

ผมเห็นด้วยทุกประการ เพราะเวลาพราหมณ์บูชาเทพเจ้าก็สรงน้ำแล้วจึงค่อยจุณเจิมเทวรูป หรือในพิธีไหว้ครูต้องพรมน้ำมนต์แล้วจึงค่อยเจิมหน้าโขน

อาจารย์ยังเล่าต่อไปว่า คนไทยคนแรกที่รดน้ำสังข์แต่งงานคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ท่านว่าสมัยก่อนชาวบ้านแต่งงานก็นิมนต์พระมา “ซัด” น้ำมนต์กันทั้งนั้น (ในวรรณคดีเก่าๆ อย่างขุนช้างขุนแผนก็ใช้ “ซัด” ไม่ได้ใช้คำว่าประพรม) ไม่ได้ใช้สังข์อย่างพราหมณ์

ส่วนเจ้านายมักไม่นิยมจัดพิธีแต่งงานเพราะมีเจ้าจอมหม่อมห้ามมาก กรมหลวงราชบุรีฯ ท่านเรียนวิชากฎหมายมาแต่เมืองนอก แล้วมีพระประสงค์จะมีชายาองค์เดียว จึงจัดงานเสกสมรส แต่เจ้าท่านเวลาจะรดน้ำมนต์ก็ใช้สังข์รดไม่เหมือนอย่างชาวบ้าน

ธรรมเนียมนี้เลยแพร่ออกมาแล้วจึงใช้สังข์กันโดยทั่วไป

 

ทีแรกผมนึกว่า ไทยเรารับเอาธรรมเนียมใช้สังข์ในพิธีแต่งงานโดยตรงมาจากอินเดียเสียอีก แต่มานึกๆ ดู วิธีใช้สังข์ของเรากับแขกในพิธีแต่งงานก็ต่างกัน ของแขกนั้นเอาสังข์วางบนมือบ่าวสาวแล้วรดน้ำจากภาชนะอื่นลงในสังข์นั้น

ส่วนใช้สังข์รดน้ำโดยตรงในอินเดียก็เห็นแต่ใช้สรงถวายเทพ ไม่ค่อยเอามารดคนกัน แต่เดิมในไทยเราสังข์ถือเป็น “เครื่องสูง” ซึ่งมีเจ้านาย (สมมุติเทพ) กับพราหมณ์เท่านั้นที่ใช้ได้ แง่นี้จึงผมจึงยอมรับคำอธิบายของอาจารย์

เล่ามาข้างต้นเพื่อจะบอกว่า อาจารย์สุลักษณ์นั้นรู้เรื่องราวเก่าๆ ดีมาก

แล้วยังชอบถ่ายทอดให้คนชั้นหลังฟังด้วย

ที่สำคัญแม้จะเป็นใครก็ตาม จะรู้จักนานไม่นานแต่อาจารย์มักมีเมตตาและให้ความสำคัญแก่คนเล็กคนน้อยอย่างเสมอหน้ากัน

ผมไม่ได้เป็นศิษย์เอกหรือใกล้ชิดอะไร ได้พบอาจารย์ตัวเป็นๆ ครั้งแรกช่วงสมัยเรียนปริญญาตรี สมัยนั้นอาจารย์ถูกห้ามจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนไม่ให้เข้ามาปาฐกถา อาจารย์ต้องออกไปพูดที่มอเที่ยงคืนภายนอกแล้วด่าจัดหนักผู้บริหารจากข้างนอกนั่น

ยังประทับใจมาจนบัดนี้

 

ครั้งที่ได้คุยกับอาจารย์จริงๆ คือ งานรำลึกอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ที่ศูนย์วัฒนธรรมอินเดีย ปี 2555 ผมเสวนาร่วมกับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ คุณครูของผม

อาจารย์สุลักษณ์ประทับใจการเสวนาครั้งนั้นมาก จำได้ว่าอาจารย์ลุกจากที่นั่งแล้วยื่นมืออกมารับผมลงจากเวที แล้วยังเขียนถึงงานครั้งนั้นในหนังสือทำนองว่า ภารตวิทยาถ่ายทอดจากอาจารย์กรุณามายังรุ่นของอาจารย์ประมวล แล้วจากรุ่นอาจารย์ประมวลมาสู่รุ่นผม ภารตวิทยาย่อมจะไม่สูญหายไป

อาจารย์บอกผมว่า ที่จริงภารตวิทยาในสยามเริ่มมาแต่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แล้วมายังรุ่นพระยาอนุมานราชธนฯ คุณพระสารประเสริฐ ตกทอดลงมาเรื่อยๆ แต่หาคนไปสืบค้นเพื่อแสดงให้เห็นสายธารนี้ชัดๆ ยังไม่ได้ ผมรับคำว่าจะค้นคว้าแต่ก็ยังไม่ได้ทำงานที่ว่านี้เลย

ปีนี้อาจารย์สุลักษณ์มีอายุครบเจ็ดรอบนักษัตรหรือแปดสิบสี่ปีแล้ว ยังแจ่มใสสดชื่น ปีที่แล้วผมเขียนถึงวันเกิดอาจารย์สุลักษณ์ โดยเห็นว่าอาจารย์รับบทบาท “ปุโรหิต” คนสุดท้ายของสังคมไทย

มาปีนี้ศิษย์หาทั้งหลายจัดงานฉลองให้ โดยมีชื่อที่น่าสนใจว่า เจ็ดรอบสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ “ถอนราก หยั่งเมล็ดพันธุ์”

 

“ถอนราก หยั่งเมล็ดพันธุ์” นี่เป็นธีมของงานเลยครับ ผู้จัดงานจัดให้มีวงเสวนาศิษย์รุ่นเยาว์ ที่ประเภทยังเรียนหนังสืออยู่ ไปจนศิษย์รุ่นใหญ่ ตบท้ายด้วยวงดนตรีพม่า ลำตัดและดนตรีฝรั่ง

เป็นงานฉลองวันเกิดแปลกประหลาดสนุกสนานราวกับสิ่งต่างๆ ในภพภูมิทั้งหลายมารวมกันเลยครับ

ในงานมีคนทุกรุ่นทุกวัย ทุกเฉดสีทางการเมือง แล้วไม่ใช่ตัวเล็กๆ แต่ระดับแกนนำทั้งนั้น มีนักบวชมากมายหลายศาสนา มีทั้งภิกษุ-ภิกษุณีไทยเทศ ฝรั่งแขกจีนญวนพม่า นักวิชาการ ศิลปิน บ้างก็นุ่งผ้าม่วง บ้างก็เสื้อยืดกางเกงยีนส์ ฯลฯ

แม้แต่หลวงพี่ไพศาล วิสาโล ยังออกจากป่าดอยแสนไกลที่ท่านพำนักมาเพื่อร่วมงานวันนั้น

ดังที่นักวิชาการหลายท่านพูด ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครที่สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ได้เท่ากับอาจารย์สุลักษณ์อีกแล้ว

สิ่งที่ผมฉงนสงสัย คือ เหตุใดผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้จึงมารวมตัวกันในงานของอาจารย์สุลักษณ์ได้ อาจารย์สุลักษณ์ทำอย่างไรหรือ

 

หลายคำตอบจากศิษย์ที่ปรากฏในงานเสวนาวันนั้น คือ อาจารย์สุลักษณ์มีความเป็น “มนุษย์” สูง อาจารย์โอบรับและให้ความสำคัญกับทุกคน ไม่ว่าคนนั้นจะเห็นต่าง เห็นด้วย หรือด่าแกก็ตาม

อีกทั้งอาจารย์ไม่หยุดเรียนรู้และพยายามทำความรู้จักกับคนรุ่นใหม่เสมอ ให้โอกาส ให้ความสำคัญ นี่คือแง่มุมความเป็นเด็กที่ยังคงอยู่ในตัวอาจารย์อย่างน่าสนใจ

คือไม่ปล่อยให้ความแก่ครอบงำความสนใจใคร่รู้ ผมสังเกตว่าอาจารย์ยิ่งแก่ ยิ่งมีอารมณ์ขันและทำตัวสบายๆ มากขึ้น แม้จะคิดอะไรไม่ตรงกับคนรุ่นใหม่เสียมากแต่ไม่เคยทำตัวสูงส่งกว่าเขาเหล่านั้น

ดังนั้น จะสีไหนฝ่ายใดก็ล้วนเป็นเพื่อนกับอาจารย์สุลักษณ์ได้หมด ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดหรือสิ่งที่อาจารย์ทำหรือไม่ก็ตาม

ที่สำคัญงานวันนั้นช่างเป็นงานฉลองวันเกิดที่แปลกประหลาดอีกอย่าง เพราะเวทีเสวนาโดยเฉพาะรุ่นเล็กซึ่งมี คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผู้เสวนาซึ่งล้วนแต่ยังวัยรุ่น ต่างพากันถูกถามทั้งแง่บวกและแง่ลบของอาจารย์สุลักษณ์ต่อหน้าอาจารย์ นอกจากงานทั่วๆ ไปที่มักจะมีแต่สรรเสริญเยินยอกันต่อหน้า

อันนี้อาจถือเป็นคุณธรรมสำคัญก็ว่าได้ อาจารย์สุลักษณ์ยืนยันมาตลอดว่าในเมื่อด่าเขาได้ ก็ต้องให้เขาด่าได้ด้วย สังคมที่ดีคือสังคมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ทั้งยืนยันว่า การด่ากันนี่แหละอาจกลายเป็น “ปรโตโฆษะ” หรือ “เสียงจากภายนอก” หากเรารับฟังด้วย “โยนิโสมนสิการ” หรือฟังด้วยความ “แยบคาย” ย่อมได้ประโยชน์

อาจารย์เชื่อมาตลอดว่า ไม่ว่าสถาบันไหนๆ ก็ควรต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งนั้น แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า เพราะการวิจารณ์ย่อมทำให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข เป็นผลดีในระยะยาวที่จะทำให้อยู่รอดต่อไปได้

แต่หลายช่วงหลายตอนในการเสวนา มีประเด็นว่า หากอาจารย์ไม่อยู่หรือตายไปแล้ว อาจารย์ได้ทิ้งอะไรไว้ และเราจะทำอะไรยังไงกันต่อ

บางคราววิทยากรถึงกับมีเสียงสะอึกสะอื้นเลยนะครับ เมื่อระลึกว่าหากอาจารย์ไม่อยู่แล้วจะเงียบเหงาแค่ไหน นี่ทำให้ผู้ดำเนินรายการต้องแซวว่า ทุกคนพากันแช่งอาจารย์ทั้งนั้น

แต่อาจารย์ก็หัวเราะชอบใจ

 

ผมว่านี่เป็นการจัดงานวันเกิดที่เป็น ” ชรานุสติ” คือตักเตือนถึงความแก่ว่าเป็นสิ่งไม่ควรประมาท และตอกย้ำความแก่ของเจ้าของงานซึ่งปกติไม่มีใครชอบให้กลับเด่นชัด เมื่อความแก่ปรากฏชัดแล้ว มรณานุสติก็ตามมา

สังคมเรารังเกียจความแก่ ทั้งๆ ที่กำลังก้าวสู่สังคมคนแก่ ดังมีคนใหญ่คนโตถูกเรียกป๋าถึงกับทำร้ายร่างกายคนอื่น เรามีนวัตกรรมมากมายเพื่อชะลอความแก่ แต่ไม่ยักคิดว่าภาวะที่มีคนแก่เพิ่มขึ้นสังคมจะทำอย่างไรต่อ

นอกจากความพยายามเรียกร้องให้ช่วยบริจาคกันเป็นรายๆ ไปตามโลกออนไลน์

ชรานุสติ จึงเป็นเครื่องเตือนให้อาจารย์สุลักษณ์เตรียม “ถอนราก” ใครมาไกลแล้วมักไม่ค่อยถอนรากนะครับ อยากจะมีชื่อเสียงเช่นนั้นตลอดไป อยากทำงานของตัวตลอดไป เมื่อถอนรากแล้วก็ควรให้เมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ ได้หยั่งลงในผืนดิน

ต้นไม้เก่าจะถูกถอนรากออก เพื่อที่จะมีที่ว่างสำหรับเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งก็เชื่อมโยงกับต้นที่จะถูกถอนรากออกไปนั่นเอง

งานระลึกวันเกิดคนแก่ควรเป็นเช่นนี้ ชวนให้เห็นชรานุสติ มรณานุสติ แล้วพูดถึงการตระเตรียมเมื่อจะต้องจากไป เพราะเราไม่ค่อยคิดว่ากันเท่าไหร่ว่าเมื่อผู้ใหญ่จากไปเราจะเตรียมตัวกันอย่างไร

มิใช่พากันไปพินอบพิเทากราบกราน คนแก่ก็คิดว่าตนมีอำนาจมากจะทำอะไรก็ได้ ดังสังคมไทยปัจจุบันนี้ ที่คนแก่ยังพยายามกำหนดอนาคตคนหนุ่มสาวไม่เลิก

เป็นสังคมอุดมคนชราบ้าอำนาจ