60 ปีสหภาพยุโรป ท่ามกลางเมฆหมอก “เบร็กซิท”

AFP PHOTO / OLI SCARFF
AFP PHOTO / Andreas SOLARO

บรรดาผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรปรวมตัวกันที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ ประกาศถึง “อนาคตที่มีร่วมกัน” เพื่อฉลองครบรอบ 60 ปี การลงนาม “สนธิสัญญาโรม” จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การรวมตัวกันเป็น “สหภาพยุโรป” อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

ผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ชาติจะฉลอง “วันเกิด” ท่ามกลางวิกฤต “เบร็กซิท” ที่ถือเป็นเมฆหมอกปกคลุม “อียู” นับตั้งแต่ชาวอังกฤษลงประชามติตัดสินใจแยกตัวออกจากอียูเมื่อปีก่อน

แน่นอนว่า “เทเรซา เมย์” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมกระบวนการให้อังกฤษออกจาก “อียู” ตามมาตรา 50 ของ “สนธิสัญญาลิสบอน” จะไม่ได้เข้าร่วมงานที่จัดขึ้นในอาคารเก่าแก่ในยุคศตวรรษที่ 16 ซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่ลงนาม “สนธิสัญญาโรม” ในวันที่ 25 มีนาคม 1975 เพื่อสร้างยุโรปขึ้นอีกครั้งจากเถ้าถ่านของ “สงครามโลกครั้งที่ 2”

นอกจาก “เบร็กซิท” ที่เป็นความท้าทายหลักที่อียูต้องเผชิญหลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 แล้ว ยังคงมีปัญหาอีกมากมายที่รุมเร้าอยู่ไม่ว่าจะเป็นวิกฤต “ผู้อพยพ” “ก่อการร้าย” “ประชานิยม”

รวมไปถึงปัญหา “หนี้ยูโรโซน” ที่ยังคงคาราคาซังอยู่

กลุ่มผู้นำอียูจะได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่นครรัฐวาติกัน ในวันที่ 24 มกราคม ก่อนที่จะรวมตัวกันที่ “ปาลาซโซ เดอ คอนเซอร์วาทอรี” เพื่อประกาศว่า “ยุโรปอันเป็นอนาคตร่วมกัน” ในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และประกาศแผนระยะเวลา 10 ปี

AFP PHOTO / Wojtek RADWANSKI

ผ่านไป 60 ปี “อียู” ยังคงมีสัญญาณของความตึงเครียดระหว่างกัน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญใน “คำประกาศ” ที่ระบุไว้ว่าประเทศสมาชิกอียู สามารถมีความร่วมมือด้วย “ย่างก้าวและความเอาจริงเอาจังที่แตกต่างกัน” ได้

โดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป ระบุไว้ในจดหมายเชิญว่า งานฉลองในครั้งนี้จะเป็น “โอกาสที่จะเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ร่วมกัน และประเมินผลของการรวมตัวในระยะเวลา 60 ปี”

ทัสก์เตือนถึงภูมิศาสตร์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรที่เอาแน่เอานอนไม่ได้อย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ หรือการดำเนินนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศอย่างแข็งกร้าวของ “รัสเซีย”

ยิ่งกว่านั้นการเลือกตั้งในฝรั่งเศส ซึ่งผู้นำพรรคขวาจัดอย่าง มารีน เลอเปน ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการเลือกตั้งในเยอรมนี ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเวลานี้ “สหภาพยุโรป” กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

“ไม่ใช่ความลับอีกต่อไปที่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่เรากำลังเผชิญในเวลานี้ จำเป็นต้องมีการตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ เพื่อสหภาพมีความเป็นหนึ่งและลึกซึ้งมากกว่านี้” ทัสก์ อดีตนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ระบุ

AFP PHOTO / Andreas SOLARO

ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน มีเพียง 6 ชาติอย่าง เบลเยียม ฝรั่งเศส อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนีตะวันตก ที่รวมตัวกันเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป” ก่อน “สหภาพยุโรป” ในปัจจุบันสมาชิกจะเพิ่มขึ้นเป็น 28 ชาติ จำนวนประชากรรวม 508 ล้านคน กลายเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม รอยร้าวเกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาเมื่ออียูขยายตัวไปยังประเทศอดีตสหภาพโซเวียต เกิดปัญหาการบริหารจัดการระบบสกุลเงินเดียว รวมไปถึงการเติบโตขึ้นของพรรคการเมืองประชานิยมที่กลายเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อเป้าหมายสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอย่างโปแลนด์ บ้านเกิดของ “โดนัลด์ ทัสก์” เอง

รัฐบาลขวาจัดของโปแลนด์ แสดงความไม่พอใจที่ผู้นำชาติสหภาพยุโรปไม่สนใจเสียงคัดค้านของโปแลนด์ และเปิดทางให้ “ทัสก์” ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสหภาพยุโรปต่อไปจนถึงปี 2019

ขณะที่ “โปแลนด์” เองก็ได้ประกาศเอาไว้ว่า โปแลนด์จะไม่ยอมรับ “ยุโรป” ที่มีอัตราการก้าวเดินที่แตกต่างกัน นโยบายซึ่งจะส่งผลให้ประเทศบางประเทศ “ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง” ขณะที่ชาติยักษ์ใหญ่อย่าง “ฝรั่งเศส” และ “เยอรมนี” นำอยู่เบื้องหน้า

AFP PHOTO / CHRIS J RATCLIFFE

ด้าน “เยอรมนี” และ “ฝรั่งเศส” เองก็ต้องการที่จะให้มีความร่วมมือกันมากขึ้นในด้าน “กลาโหม” และ “เศรษฐกิจ” เพื่อก้าวพ้นจากความบอบช้ำจาก “เบร็กซิท” ที่ทำให้ “อังกฤษ” กลายเป็นชาติแรกในประวัติศาสตร์ที่ถอนตัวออกจาก “อียู”

ชาร์ลส์ เดอ มาร์ซิลลี ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิชูมัน หน่วยงานคลังสมองของประเทศเบลเยียมระบุว่า ในความเป็นจริงผู้ที่กลัว “ยุโรปที่มีย่างก้าวที่แตกต่างกัน” นั้นกำลังกลัวที่จะถูกลดความสำคัญ

“มันเป็นการยากที่จะสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาโดยไม่มีการแยกออก และความก้าวหน้าที่ไม่มีมลทิน” มาร์ซิลลีระบุ

ด้านโฆษกนายกรัฐมนตรีอังกฤษระบุว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ส่งคำอวยพรให้กับเพื่อนร่วมงานในสหภาพยุโรปทุกๆ คน และว่า “สมาชิกอียู 27 ชาติกำลังเดินไปในทางหนึ่ง ขณะที่ชาวอังกฤษลงมติเลือกที่จะเดินไปในอีกทางหนึ่ง” เท่านั้นเอง!