สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/ขิง อาหารและยาชั้นดี ใช้ได้ทุกยุคสมัย

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ขิง อาหารและยาชั้นดี

ใช้ได้ทุกยุคสมัย

ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีข้อมูลมากมายที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ และเหมือนเป็นความหวัง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นข้อมูลที่ต้องตรวจสอบ หลายข้อมูลไม่ถูกต้องไม่ควรแชร์ต่อ

มีข้อมูลหนึ่งกล่าวว่า ถ้าต้องการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ดื่มขิงต้มอุ่นๆ เป็นประจำทั้งวันและทุกวัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ ที่ดีที่สุดยังต้องใช้มาตรการใส่แมสก์ อยู่ห่าง กินร้อน ช้อนเราเอง ฯลฯ

แต่ขิงเป็นอาหารและยาสมุนไพรชั้นดีเยี่ยม มีการใช้มาอย่างยาวนานมานับพันปี

มีงานศึกษาวิจัยมากมาย ขิงมาจากไหน ทำไมจึงใช้ดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว

 

ขิงจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องเทศชนิดหนึ่งและใช้เป็นยาพื้นบ้านมายาวนานมาก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale ซึ่งมีความหมายว่า “พืชที่ใช้เป็นยา”

ขิงมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่เกาะต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอกสารบางรายการบอกว่าถิ่นกำเนิดอยู่ที่จีนตอนใต้แล้วแพร่กระจายไปตามหมู่เกาะที่มีการค้าเครื่องเทศ

กล่าวกันว่าเมื่อ 5,000 ปีก่อนมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า “Austronesian peoples” ที่อยู่อาศัยถ้าเทียบกับปัจจุบันก็จะอยู่ในบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และติมอร์ตะวันออก เป็นคนกลุ่มแรกที่นำเอาขิงจากป่ามาปลูกเพื่อการบริโภค ต่อมาการติดต่อเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนต่างๆ มีการนำเหง้าขิงติดตัวไปด้วย เพื่อใช้ประกอบอาหารและยาสามัญประจำตัว ทำให้ขิงมีการกระจายไปทั่วในกลุ่มประเทศของอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific)

หลักฐานการใช้ขิงมีมาตั้งแต่สมัยกรีกและโรมันโบราณ ขิงจัดว่าเป็นเครื่องเทศชนิดแรกที่มีการส่งออกจากทวีปเอเชียไปยังยุโรป ประมาณว่าในช่วงศตวรรษที่ 1 มีการค้าขายขิงจากอินเดียไปยังตะวันออกกลางและประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน จึงมีการปลูกเพื่อการค้าจำนวนมากร่วมไปกับพริกไทย กานพลูและเครื่องเทศอื่นๆ

รายงานในปี ค.ศ.2016 มีผลผลิตของขิงออกวางจำหน่ายในตลาดโลกถึง 3.3 ล้านตัน โดยมีอินเดียเป็นผู้นำในการผลิต 34% รองลงมาเป็นไนจีเรีย จีนและอินโดนีเซีย

การใช้ประโยชน์จากขิงมีมากมายทั้งรูปแบบอาหารประเภทต่างๆ เช่น ผักสด ลูกอม ดอง เครื่องดื่มในรูปแบบต่างๆ

 

ขิงได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่หลายท่านคงไม่รู้ว่า ปัจจุบันมีหลักฐานบ่งชี้ว่าขิงในธรรมชาติไม่เหลืออยู่แล้ว เหลือแต่เฉพาะขิงที่มีการปลูกเป็นการค้าหรือเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น

ในภูมิปัญญาดั้งเดิมทั้งทางอายุรเวทและยาแผนจีนโบราณ ใช้ขิงเป็นยาแก้หวัด ลดไข้ แก้เจ็บคอ ลดอาการปวด แก้ไขข้ออักเสบ หลอดลมอักเสบ ใช้เป็นยาขับลมในท้อง กระตุ้นให้อยากอาหาร แก้อาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร แก้วิงเวียนและอาเจียนเนื่องมาจากการแพ้ท้อง

ในประเทศไทยก็มีการใช้ขิงทั้งเป็นอาหารแล้วใช้เป็นยามาเนิ่นนานเช่นกัน ใช้เหง้าขิงกินกับเกลือหรือต้มดื่มแก้ไอ กินแก้หวัด ขับลม แก้อาเจียน แก้ไอ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ นำมาปิ้งกินแก้ท้องอืดได้ กินเป็นยาระบายก็มี กินสดหรือชงดื่มแก้ปวดท้อง กินแก้ท้องเสียก็ได้

และนำมาต้มอาบแก้ไข้ในเด็ก

 

ในเวลานี้ทั่วโลกมีงานศึกษาวิจัยการใช้ขิงมากมาย เช่น งานวิจัยทางคลินิกมากมายที่ยืนยันว่า ขิงช่วยลดอาการคลื่นไส้ โดยเฉพาะการคลื่นไส้และอาเจียนในสตรีที่เริ่มมีการตั้งครรภ์

และงานวิจัยของ Fouda และ Berika (2009) ตีพิมพ์ใน Basic Clin. Pharmacol. Toxicol. 104 (3) : 262-271 ทดลองกับสัตว์ทดลอง นำขิงมาสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ ฉีดในช่องท้องของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นไขข้ออักเสบ ในปริมาณมากกว่า 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 26 วัน พบว่าอาการบวมของข้อลดลง และพบว่าสารสกัดจากขิงในความเข้มข้น 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน จะให้ผลดีกว่าการใช้ยาอินโดเมททาซิน (indomethacin) ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน

ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ Srivastava และ Mustafa (1992) ที่ได้ทำการทดลองในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จำนวน 28 ราย โรคไขข้อเสื่อมจำนวน 18 ราย และผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อจำนวน 10 ราย โดยให้ผู้ป่วยกินขิงผงเป็นเวลา 3 เดือนถึง 2 ปีครึ่ง พบว่าผู้ป่วย 3 ใน 4 มีอาการดีขึ้น และผู้ป่วยเจ็บปวดของกล้ามเนื้ออาการปวดหายไป

และไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ

 

ประเทศไทยก็มีงานหลายชิ้น เช่น รศ.ดร.ภญ.นวลน้อย จูฑะพงษ์ และ รศ.ดร.สพญ.ศจีรา คุปพิทยานันท์ (2557) ได้ทำการวิจัยด้านเภสัชวิทยาสนับสนุนการใช้ขิงเป็นยาช่วยขยายหลอดลม แม้ว่างานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรักษาอาการเจ็บคอ ไอ หรือหลอดลมอักเสบมีน้อยมาก แต่พบงานวิจัย 1 ชิ้นจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นว่าขิงช่วยในการลดอาการภูมิแพ้

ในต่างประเทศมีงานวิจัย เช่น Podlogar และ Verspohi (2012) พบว่าขิงสามารถใช้เป็นยาลดอาการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ (ตีพิมพ์ใน Phytother Res. 26 (3) : 333-6) และงานวิจัยของ Hamid และคณะ (2006) ศึกษาในผู้ป่วย 92 ราย ได้รับขิง 150 มิลลิกรัม ทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 เดือน พบว่า 19.5% หายจากอาการหอบหืด 52% หายจากอาการแน่นหน้าอก และอาการหายใจลำบากหายดีทุกราย (ตีพิมพ์ใน Pakistan Journal of Nutrition 5 (4), 373-376)

งานศึกษาพบขิงช่วยบรรเทาหอบหืดแม้ไม่รักษาโรค ก็เป็นสมุนไพรที่ใกล้ตัวน่าใช้มาก

รายงานเบื้องต้นของ Emily DiMango ใน ClinicalTrials.gov. พบว่า การได้รับขิง 2 กรัมต่อวันเป็นเวลาติดต่อกัน 28 วัน สามารถลดอาการอักเสบที่เกิดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และลดอาการอักเสบในช่องท้องได้

ผู้วิจัยยังได้ตั้งสมมุติฐานว่าการได้รับขิง 2 กรัมต่อวันอาจจะช่วยลดอาการอักเสบของทางเดินหายใจได้ด้วย ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จะเสร็จสิ้นในปีหน้า คงต้องรอดูกันต่อไป

ความรู้ดั้งเดิมกว่าพันปีและงานวิจัยใหม่ๆ มากมาย แสดงให้เห็นว่า ขิงเป็นอาหารและยาที่ใช้ได้ดีเกี่ยวกับอาการหวัด ไอ เจ็บคอ ขับเหงื่อ ลดการอักเสบต่างๆ

แต่อย่าเพิ่งแชร์กันสนั่นว่าขิงแก้ไวรัสโควิด-19 ขิงคือสมุนไพรที่ดีควรมีไว้ประจำบ้าน เป็นอาหารและยาทุกยุคสมัย อันนี้แชร์เลย