คุยกับทูต อัลลัน แมคคินนอน ไทย-ออสเตรเลีย สัมพันธ์อันใกล้ชิดและราบรื่น (3)

ออสเตรเลียมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับประเทศไทย ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.1952 และมีความร่วมมือทวิภาคีที่ครอบคลุมทุกมิติ

ทั้งสองประเทศยังเป็นพันธมิตรสำคัญในด้านการค้าและการลงทุน การบังคับใช้กฎหมาย การทหาร การศึกษา และการท่องเที่ยว รวมทั้งการดำเนินงานร่วมกันในการประชุมระดับภูมิภาค

อาทิ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC)

นายอัลลัน แมคคินนอน (H.E. Mr Allan McKinnon PSM) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวถึงการร่วมมือของออสเตรเลียกับอาเซียนและโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อันเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา

“เมื่อสองปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ที่ซิดนีย์ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมด้วย และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีได้พบกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล ประธานกรรมการบริษัท STP&I ขณะนั้น ซึ่งเราก็เหมือนเป็นผู้จับคู่ที่ทำให้ทั้งสองได้พบกัน”

โดยก่อนการประชุมในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีพบกับทีมประเทศไทย และพบปะกับนักธุรกิจไทยในซิดนีย์ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา ซิดนีย์ ซึ่งเป็นโรงแรมที่พัก

กลุ่มนักธุรกิจไทยที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลออสเตรเลียเข้าร่วมการประชุม CEO Forum ประกอบด้วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมเนอร์ โฮเทลกรุ๊ป, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล, นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประธานกรรมการบริษัท STP&I จำกัด, กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย

ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานเพื่อแสวงหาโอกาสขยายการลงทุนให้เติบโตขึ้น โดยนักธุรกิจได้ขอให้นายกรัฐมนตรีแจ้งกับผู้นำออสเตรเลียให้อำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนต่างๆ อาทิ พลังงาน และการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการออกวีซ่า

“การร่วมมือระหว่างออสเตรเลียกับอาเซียนก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ออสเตรเลียเป็นคู่เจรจาของอาเซียนเป็นประเทศแรก และเราหวังว่าจะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

“บริษัทสัญชาติออสเตรเลียยังได้เข้าร่วม EEC อย่างแข็งขันกว่า 20 บริษัท โดยมากเป็นบริษัทด้านยานยนต์และเหล็ก ดูเหมือนว่า EEC จะเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลไทย”

ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนรายงานว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี ค.ศ.2010-มีนาคม 2019) มีโครงการลงทุนจากออสเตรเลียยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 207 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 62,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป, อาหารสัตว์, อุปกรณ์การแพทย์, ผลิตภัณฑ์โลหะ, กิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ, กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

“ด้านพลังงาน นับเป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของออสเตรเลียในฐานะเป็นแหล่งพลังงานที่ปลอดภัยด้วยความสามารถที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว เรามีการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศไทยในภาคพลังงานเป็นอย่างดี โดยมีบริษัทออสเตรเลียหลายบริษัทในประเทศไทยที่คอยให้แนวทางในการแก้ปัญหาด้านพลังงาน”

“ตัวอย่างบริษัทจากออสเตรเลีย ชื่อบริษัทเพาเวอร์ เลดเจอร์ (Power Ledger) ทำงานร่วมกับบริษัทของประเทศไทยในการดำเนินการด้านพลังงานทดแทนรวมเข้ากับระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ของบริษัท ซึ่งบริษัทที่ได้เริ่มดำเนินการนี้แล้วคือ บริษัท บีซีพีจี (BCPG) จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) เพื่อส่งพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ไปยังโรงเรียน อพาร์ตเมนต์ ห้างสรรพสินค้า”

“บริษัทออสเตรเลียอีกบริษัทคือ Future Grid ที่ได้ปรับใช้ความสามารถด้านวิศวกรรมเพื่อเพิ่มขีดจำกัดด้านบริหารข้อมูลด้านพลังงาน และอีกไม่นานจะทำข้อตกลงร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค”

“ส่วนบริษัท ดีบี รีซัลท์ส (DB Results) ทำงานร่วมกับ BANPU หรือบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดและเป็นเจ้าของเหมืองขนาดใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย เพื่อพัฒนาการใช้แนวทางในการแก้ปัญหาด้านไอที (IT) เฉพาะเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

“สำหรับบริษัท Redflow ซึ่งผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย ในส่วนระบบเก็บพลังงานของบริษัทถูกนำมาใช้งานคือระบบไฟฟ้าแรงงานต่ำที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบนี้ใช้ในชุมชนที่อยู่ไกลในเขตบ้านป่าแดง”

“การแก้ปัญหาของบริษัทนี้ได้ทำให้ชาวบ้านมีพลังงานไฟฟ้าใช้ในการดำรงชีวิต เช่น แสงไฟ ตู้เย็น ปั๊มน้ำ ในราคาไม่สูง และช่วยในการหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องปั่นไฟที่ใช้ดีเซลที่สามารถทำลายชั้นบรรยากาศ และทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น”

ความร่วมมือที่สำคัญในด้านอื่น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่านทูตตอบว่า

“ผมยังไม่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกๆ สำหรับรัฐบาลไทย แม้ว่าประเทศไทยได้ดำเนินการบางอย่างในแง่ของการพึ่งพาก๊าซมากขึ้นและเผาถ่านหินน้อยลง เพื่อช่วยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่รัฐบาลออสเตรเลียกำลังจะบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และกำลังทำสิ่งที่ดีๆ อีกหลายเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้า โดยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน”

“ออสเตรเลียและไทยยังได้ช่วยกันในเรื่องการกำจัดขยะในทะเล (Marine debris) ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security) และช่วยกันต่อต้านการก่อการร้าย (counter terrorism) ในเขตอินโดแปซิฟิก”

“เมื่อปีที่แล้ว นางมาริส เพย์น (Senator Marise Payne) รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเครือรัฐออสเตรเลียได้ลงนามในข้อตกลงระหว่างออสเตรเลียและไทยว่าด้วยเรื่องความร่วมมือทางไซเบอร์และดิจิตอล (Cyber and Digital Cooperation) ข้อตกลงจะเป็นแนวทางสำหรับประเทศทั้งสองในการจัดการภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์และเพิ่มโอกาสในการทำการค้าออนไลน์”

“โดยประเทศออสเตรเลียจะทำงานร่วมกับประเทศไทยเพื่อที่จะประชาสัมพันธ์การใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเปิดกว้างไกลและปลอดภัยเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมใหม่และความเติบโตด้านเศรษฐกิจ”

ออสเตรเลียมีประวัติในการทำงานด้านความมั่นคงเคียงบ่าเคียงไหล่กับต่างประเทศมาอย่างยาวนาน

“เราร่วมมือกับกองทัพ หน่วยงานข่าวกรอง ในการป้องกันพรมแดน การต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ และปัญหาในด้านอื่นๆ”

“โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ร่วมกับออสเตรเลียในการทำข้อตกลงทวิภาคีเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้ายเมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2002”

“เราให้ความสำคัญกับปัญหาทุกประเภทตั้งแต่ในเรื่องความสามารถในการขับเคลื่อนจนถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งผมไม่อาจแสดงความคิดเห็นหรือเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้ แต่เป็นความร่วมมือที่ใกล้ชิดมาก เช่นเดียวกับที่เราให้ความร่วมมือไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในอินโดนีเซีย และประเทศไทยด้วยเช่นกัน และสำหรับประเทศไทยก็ได้เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในด้านนี้”

“ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปชมการฝึกของหน่วยทหารราบ กองทัพบก ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย”

สุดท้าย ท่านทูตอัลลัน แมคคินนอน ให้ความเห็นว่า

“เราพบว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่ง่ายต่อการปฏิบัติงานด้วย หน่วยงานของเราทุกหน่วยต้องการทำงานกับประเทศไทย พวกเขาได้รับความสนุกสนานและร่วมกันทำงานอย่างมีประสิทธิผล คนไทยให้การต้อนรับและยินดีที่จะทำงานกับเรา ทำให้การดำเนินงานทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นดีมาก”