อภิญญา ตะวันออก : เปิดตำนาน “รามเกียรติ์-เรียมเกร์”

อภิญญา ตะวันออก

“แล้วสักเป็นตีนกาลง ที่ตรงหน้าผากยักษี

เพชฌฆาตราชมัลตัวดี ก็พาอสุรีตระเวณไป

(บทละครในรัชกาลที่ 1, ตอนปล่อยสุกรสาร เล่ม 4, 2507)

 

หนังสือชุดนี้ สมัยยังรุ่นฉันเคยสะสมไว้เกือบครบเทียว โดยไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไม รู้แต่ดูโขนทีไรเป็นต้องปลื้มปริ่มน้ำตาไหล จนเมื่อไปอยู่เขมร รามเกียรติ์ชุดนี้ก็มีอันกระจัดกระจายเหลือไม่กี่เล่ม

ทว่าก่อนหน้านั้น ฉันยังสะสม ศรีรามากิรติมหากวียัม (sriramakirtimahakavyam) ประพันธ์โดยสัตยา วรัต ฉัตรี (Satya Vrat Shastri) ปราชญ์ภารตะ มีตำแหน่งในเป็นศาสตราจารย์สันสกฤตมหาวิทยาลัยเดลีและศรีจกัญจนาตในรัฐโอริสสา เมื่อรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น ท่านได้รจนามหากาพย์รามายณะฉบับสันสกฤตนี้ขึ้นในวาระเฉลิมฉลองอะไรสักอย่าง

อาจจะด้วยที่ท่านสัตยาฯ เขียนไว้ปกในว่า “…ขอให้เธอใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในการทำงานเพื่อผู้อื่นต่อไปนับร้อยปี” (20 กุมภาพันธ์ 2539) กระมัง ที่ไม่นานจากนั้น

ฉันก็หอบหิ้วคัมภีร์เล่มนี้รอนแรมไปประเทศเขมรทั้งฝ่ายอีสานและที่กรุงพนมเปญ

 

นอกจากรามเกียรติ์ฉบับท่านสัตยา วรัต ฉัตรีแล้ว ฉันยังหอบงานเขียนฉบับเสียมกุกของจิตร ภูมิศักดิ์ (ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอมฯ) ติดไปด้วย

ต่อได้รู้จักสันสกฤตศึกษาที่กำลังทำพจนานุกรมยุคเมืองพระนครนั้น ฉันก็ฝากหนังสือพวกนั้นแก่เขาเป็นเวลาเสียหลายปี ส่วนตัวเองนั้น ก็สิ่งอันไม่แก่นสารของชีวิตอย่างใด ราวกับว่า เป็นการนำตำรับมหากาพย์ฉบับนี้ไปสถิตไว้ที่นั่น ซึ่งก็พบว่า เป็นโอกาสอันดีที่ขณะนั้นเหล่านักภาษาศาสตร์เขมรกำลังฟื้นตัวและมีความสนใจในตำราของไทย

แต่ขณะปีนั้นเราก็กลับพบพาน “เรื่องเรียมเกร์ฉบับตาจก” (Histoire du Reamker) โดยตามี จก (Mi, Chak : 2440-2514) ปราชญ์พื้นบ้านชาวบันเตียสรัยจังหวัดเสียมเรียบ ซึ่งเมื่ออุปสมบทที่วัดเจดีย์ใต้ใกล้กับนครวัดตั้งแต่ อายุได้ 23 ปีนั้น เขาได้จดจำเรียมเกร์จากคัมภีร์ใบลานตลอด 9 ปีที่บวชเป็นพระ

นอกจากจะหมกมุ่นอ่านโศลกบทกลอนเรียมเกร์แล้ว ท่านมี จก ยังเต็มไปด้วยพรสวรรค์ในการจดจำ จนเมื่อลาสิกขาแล้ว ก็ยังเล่าเรื่องเรียมเกร์ต่อๆ มาจนสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ในการร่ายกลอนอันน่าตราตรึงต่างๆ ของเรียมเกร์ที่เขาจดจำได้ทั้งหมด

อนึ่ง ด้วยถ้อยวลีที่สมบูรณ์แบบและน้ำเสียงที่น่าประทับใจ อีกพรสวรรค์ของความเป็นมุขปาฐะ มี จก จึงเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในเสียมเรียบ เริ่มจากหมู่บ้านเล็กๆ ที่เขาเปิดการแสดงไปจนโรงละคร และน่าจะเป็นการละครโขนของชาวบ้านทั่วไป แต่ตรึงใจผู้ชมนัก เพราะแม้แต่คราวมีเหตุประท้วงใหญ่ ตามี จก ก็ยังร้องทำหน้าที่ร้องเรียมเกร์

นับเป็นความสามารถอย่างยิ่ง จนท้ายๆ ชีวิตของเขา ฟร็องซัวส์ บิโซต์ นักวิจัย EFEO (วิทยสถานฝรั่งเศสปลายบูรพประเทศ) หรือโรงเรียนฝรั่งปลายบูรพาทิศเวลานั้น บิโซต์เริ่มบันทึกเรื่องราวตาจกไว้จนกลายเป็นเรียมเกร์ฉบับร้อยแก้วโดยปราชญ์ชาวบ้านฉบับแรกเขมรและของโลกกระมังซึ่งตีพิมพ์ในปี 1973 และตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งที่กรุงเทพฯ 1980

ตอนนั้น เขมรไม่แตก (และตอนนี้ก็เช่นกัน) แม้จะฉบับถ่ายสำเนาเย็บเล่ม แต่ก็ถนอมรักษาไม่ต่างจากผลงานท่านสัตยาฯ ซึ่งพิมพ์สี่สีและครบครันถึง 3 ภาษา

ประหลาดกว่านั้น คือตอนที่ตัดสินใจกลับไทย ฉันก็ไปขอหนังสือคืนทั้งหมดจากเยียง วีระบุตร ฉะนี้ ทั้งเรียมเกร์ของตาจกและศรีรามากิรติมหากวียัมฉบับสัตยาฯ ต่างรอนแรมจากท่าเรือกำปงโสมจนถึงเกาะกง และขนถ่ายจนถึงที่กรุงเทพฯ

จินตนาการไม่ออกเลยว่า ลังเหล็กที่พังยับนั่น มาจากการต่อสู้กันระหว่างยักษ์กับลิงที่อยู่ในหนังสือทั้ง 2 เวอร์ชั่นหรือไม่?

 

กลับมาตาจกอีกรอบ นัยที บิโซต์เองก็ยอมรับว่า “ไม่มีความชัดเจนวรรณคดีมหาภารตะหรือสำเนาบทกวีรามายณะฉบับวัลมิกิ (Valmiki) ในกัมพูชาก่อนหน้านี้” และเพิ่มเติมว่า

“เรียมเกร์ (เขมร) น่าจะมาจากประเพณีเดียวกับรามเกียรติ์ในฉบับภาษาไทย บทกวีทั้งสอง (ประเทศ?) ต่างมีชื่อคล้ายกันคือรามเกียรติ (r?makati) มีฮีโร่เป็นพระวิษณุและพระโพธิสัตว์ ตามคำศัพท์ทางพุทธศาสนาดั้งเดิม ซึ่งเป็นเรื่องของชาวพุทธพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

จากมุมมองนี้ ทีเดียวนั้น น่าจะกล่าวว่า “เรียมเกร์” เขมรกับ “รามเกียรติ์” ของไทยนั้นมีอะไรที่ต่างกัน(?)

และข้อปุจฉาว่า การที่เรียมเกร์แขฺมร์กลายเป็นมุขปาฐะของชาวบ้านไปโดยการศึกษาจากคัมภีร์ใบลานในวัดนั้น หรือปรากฏการณ์นี้จะใกล้เคียงกับการตีความของบิโซต์ที่ว่า “เป็นเรื่องของฮีโร่…พระโพธิสัตว์?”

เพียงแต่รามเกียรติ์ฉบับไทยที่รสนาโดยพระมหากษัตริย์ หรือจักกวีหลวงก็ตาม ด้วยเหตุนั้น จึงเป็นสมบัติชาติที่ไม่อาจแตะต้องได้ รวมทั้งการพัฒนาข้อศึกษาอื่นๆ เว้นแต่กรณีที่ทำขึ้นใหม่ เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความงามทางฉันทลักษณ์เท่านั้น

ต่อการที่เรียมเกร์มีอรรถรสอิสระและพ้นจากอิทธิพลของวรรณะกษัตริย์ กลายเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาวบ้าน จนเกิดเป็นละครโขลเรียมเกร์ฉบับชาวกัมปูเจียนั้น

ยังเป็นการปลดแอกอิทธิพล “โขลเรียมเกร์” ที่ถือกำเนิดในรัชสมัยพระบาทองค์ด้วง เป็นที่เชื่อว่าทรงดำริ ฟื้นฟูเรียมเกร์เช่นเดียวกับพระไตรปิฎก ทว่าขาดนักกวีที่จะรจนาและแปลบทเป็นฉบับเขมร จึงทำได้เพียงตั้งคณะละครโขล/โขนภายในวัง ทว่าในรัชกาลต่อๆ มามิได้ถูกยกระดับนาฏศิลป์แขนงนี้แต่อย่างใด เมื่อเทียบกับละครในและระบำอัปสรา

แต่แม้จะไม่พบหลักฐานละครร้องในบทร้อยกรองในโขนเรียมเกร์เขมรก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าเป็นฉบับที่ได้รับอิทธิพลจากสยามในทางหนึ่ง

ซึ่งเฌง พน นักละครยุคบุกเบิกยุค “60 กล่าวถึงปริศนาข้อนี้ว่า

“สมัยก่อน ชาวเขมรยังงมงายว่าเรียมเกร์เป็นเทวนิยายเสนียดจัญไร มีแต่จบัง/สงคราม ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำสั่งให้เผาทิ้งเรียมเกร์ทั้งหมด มิให้ผู้ใดเก็บไว้ที่บ้าน ทั้งยังห้ามไม่ให้มีการเล่าเรื่องนี้อีกด้วย เว้นเสียแต่จะเกิดขึ้นตามเขตคามหมู่บ้านอื่น การกระทำดังกล่าวนี้ มีผลให้เรียมเกร์เขมรเกิดการสูญหายไปในที่สุด”

 

ฤๅ หรือนี่คือวิธีจำแนกวรรณคดีชั้นสูงของราชสำนักออกจากชาวบ้านนั่นเอง?

ทว่าก็เป็นที่น่าสนใจว่า การจำกัดดังกล่าวกลับก่อให้เกิดความสนใจของชาวบ้าน จนกลายเป็นความนิยมแพร่หลาย ดังที่เกิดขึ้นกับเรียมเกร์ฉบับตาจกนั่น?

ซึ่งนอกจากจะไม่ทราบว่า ในต้นฉบับเดิมที่จำมาจากคัมภีร์โบราณ มีฉันทลักษณ์แบบแผนที่ไพเราะงดงามเยี่ยงภาษาชั้นสูงหรืออย่างไรในกาพย์กลอนต่างๆ ในอรรถรสนี้มีแต่ตามี จก กับชาวเสียมเรียบสมัยนั้นที่ทราบ ด้วยผู้คัดลอกต่อมานั้นก็เป็นเพียงบทร้อยแก้วที่โดดเด่นเชิงโวหาร

เช่นเดียวกับบทคัดย่อเรียมเกร์ฉบับเฌง พน ผู้ตั้งใจทำขึ้นเพื่อเป็นแบบเรียนมัธยมปลายในปี พ.ศ.2542 และมีหลงเหลือเพียงภาคที่ 1-10 และภาคที่ 75-80 เท่านั้น

และเหตุผลที่มิอาจร้อยเรียงเป็นฉบับฉันทลักษณ์ได้ เนื่องขาดแคลนนักปราชญ์กวีเอก ความยากของภาษาที่ต่างยุคสมัย โดยแม้แต่ฉบับของเขาซึ่งมุ่งฟื้นฟูเพื่อการศึกษานั้น ก็เป็นเพียงบทคัดย่อสำหรับครูอาจารย์ที่นำไปใช้สอนในชั้นเรียนเท่านั้น-ตาเฌง พน กล่าว

ด้วยว่าจำนนต่อสภาพที่กัมพูชาไม่หลงเหลือนักปราชญ์กวีด้านนี้อีกแล้ว และเช่นเดียวกับปรากฏการณ์คนรุ่นหลังซึ่งไม่ผูกพันกับรามายณะในฉบับอักษรศิลป์ นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงไม่อาจชำระเรียมเกร์เขมรให้เป็นวรรณคดีชั้นสูงได้อีกครั้ง

เถอะ ขนาดขาดแคลนไปทุกสภาพเช่นนี้

แต่เรียมเกร์เขมรฉบับละครโขนสวายอันแดด กลับโดดเด่นจนยูเนสโกจดทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปาดหน้ารามเกียรติ์ฉบับไทยที่คล้ายจะวิจิตรกว่าและพัฒนาจากราชสำนักอย่างต่อเนื่อง ชนิดคนละชั้น ระหว่างโอท็อปกับแบรนด์เนมไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด!

และเป็นคำตอบว่า ภูมิปัญญาประชาชนไม่มีพรมแดนแห่งวรรณะ