สมชัย ศรีสุทธิยากร | บทบาทที่หายไปของรัฐสภา ในสถานการณ์วิกฤต โควิด-19

เสียงเรียกร้องไปยังวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรให้ ส.ว.และ ส.ส.บริจาคเงินเดือนเพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์โควิด-19 ด้วยเหตุผลว่าคนเหล่านี้รับเงินเดือนฟรีๆ ในช่วงนี้ น่าจะเป็นการสะท้อนความรู้สึกอะไรบางอย่างของประชาชนที่เห็นว่าองค์กรเหล่านี้ช่างไม่มีบทบาทใดๆ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว

หากจะพูดให้เกิดความเป็นธรรม ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างการปิดสมัยประชุมสามัญของรัฐสภามาตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 และมีกำหนดเปิดประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่หนึ่งของปีนี้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563

ซึ่งเมื่ออยู่ในระหว่างปิดสมัยประชุม การจะคาดหวังให้รัฐสภาทำหน้าที่อะไรก็เป็นเรื่องยาก

โดยปกติ ระหว่างการปิดสมัยประชุมสภา เราก็จะยังเห็นกลไกของรัฐสภาที่ยังขับเคลื่อนคือ คณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญชุดต่างๆ ที่ยังเดินหน้าประชุมกัน

แต่ในสถานการณ์ที่โรคติดต่อแพร่กระจายในที่มีคนหมู่มาก ประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย จึงให้สิทธิแก่ประธานคณะกรรมาธิการตัดสินใจว่าชุดใดจะยังคงทำงาน ชุดใดจะหยุดภารกิจไว้ก่อนให้เป็นตามความจำเป็นเร่งด่วนหรือการประเมินความเหมาะสมกันเอง

ยิ่งในสถานการณ์การประกาศภาวะฉุกเฉิน ห้ามออกจากพื้นที่ ไม่มีการขนส่งสาธารณะที่สะดวก สายการบินเกือบทุกสายหยุดทำการบิน สมาชิกรัฐสภาที่อยู่พื้นที่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร ก็คงยากยิ่งที่จะเดินทางมาทำภารกิจในส่วนกลางได้

กรรมาธิการสามัญชุดสุดท้ายที่ยังฝืนประชุมกัน คือ กมธ.ป.ป.ช. ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เป็นประธาน ก็ต้านทานกระแสดังกล่าวไม่ไหว มีการนัดประชุมกันครั้งสุดท้ายเมื่อ 1 เมษายน 2563 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม จึงไม่มีโอกาสใดที่จะทำงานในบทบาทดังกล่าวในช่วงนี้ได้อีก

หนำซ้ำยังถูกกรรมาธิการซีกฝั่งรัฐบาลให้ความเห็นในการบั่นทอนว่า ไม่ควรฝืนนัดประชุมตั้งแต่แรก

โทษใครไม่ได้ ต้องโทษโควิด-19

จากสถานการณ์ดังกล่าว เราจึงเห็นบทบาทของ ส.ส.และ ส.ว.ในช่วงนี้ เท่าที่ปรากฏตามสื่อคือ หากเป็น ส.ส.ที่พอมีแหล่งรายได้พิเศษ มีเงินถุงเงินถัง ก็จะใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส เดินสายแจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นการสร้างคะแนนนิยมว่า ส.ส.ไม่ทิ้งประชาชน ทั้งๆ ที่หน้าที่ดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ

ดีที่ยังไม่เห็นการใช้งบประมาณโครงการของรัฐแล้วเอามาอ้างเป็นผลงานของตน

ส่วนผู้เป็น ส.ว.ไม่ได้ติดพื้นที่ ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใกล้ชิดประชาชน ก็จะไม่เห็นข่าวว่าได้ทำอะไรนัก

จึงมีเสียงเรียกร้องว่าควรเอาเงินเดือนมาบริจาคให้ประชาชนดีไหม หรือไปไกลจนกระทั่งตั้งคำถามว่า ส.ว.มีไว้ทำไม

จริงๆ แล้วในสถานการณ์วิกฤตนี้ ประชาชนเองมุ่งหวังอยากเห็นสมาชิกรัฐสภาได้ทำหน้าที่ที่ควบคู่ไปกับการทำงานด้านบริหารของรัฐบาล

เพราะยิ่งวิกฤต ยิ่งฉุกเฉิน ยิ่งมีการใช้อำนาจพิเศษ ยิ่งจำเป็นต้องตรวจสอบถ่วงดุล มิเช่นนั้นอาจเข้าป่าเข้าพงจนกู่ไม่กลับ การตรวจสอบถ่วงดุลที่สามารถทำได้ในช่วงเวลานี้คือ

(Photo by VIVEK PRAKASH / AFP)

1. การให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารของรัฐบาลที่อาจมีข้อบกพร่อง ความไม่สมบูรณ์ ที่อาจมาจากความไม่ตั้งใจของฝ่ายบริหาร

ตัวอย่างเช่น กรณีการจัดการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศให้สามารถกลับประเทศไทยได้ เราจะเห็นปัญหาความล่าช้าในการตัดสินใจดำเนินการกรณีคนไทยที่อู่ฮั่น

เห็นความไม่พร้อมในการจัดการกับแรงงานไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงานประเทศเกาหลี

ความไม่พร้อมและขาดการประสานงานกรณีนักเรียนไทยที่เดินทางกลับจากอเมริกา

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ หากประชาชนจะส่งเสียงเอง คงไม่ดังและไม่ไปถึงหูของรัฐ

แต่หากผู้เป็นสมาชิกรัฐสภากล้าให้ความเห็นโดยไม่จำเป็นว่าเป็นซีกฝ่ายใด ก็จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้น

(Photo by Handout / ROYAL THAI GOVERNMENT / AFP)

2. การให้ความเห็นต่อการออกกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการในช่วงวิกฤตการณ์นี้

เช่น การนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลับมาใช้ โดยเอาอำนาจของรัฐมนตรีต่างๆ ไปรวมไว้ที่นายกรัฐมนตรี การออก พ.ร.ก.เงินกู้ ที่กำหนดวงเงินมากถึง 1 ล้านล้านบาท

ผู้เป็นสมาชิกรัฐสภาที่มีประสบการณ์ด้านกฎหมายหรือมีความเชี่ยวชาญทางการเงินการคลัง หากเห็นถึงผลกระทบที่อาจตามมา น่าจะมีส่วนออกมาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้มุมมองที่ดีกว่าประชาชนหรือสื่อมวลชนทั่วไป

(Photo by Aidan JONES / AFP)

3. การร่วมกับภาคประชาสังคมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐที่อาจมีช่องว่างและก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น กรณีการขาดแคลนหน้ากากอนามัย การขายหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือในราคาสูง การส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ซึ่งอนุญาตโดยฝ่ายราชการที่อาจมีการแสวงหาประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนบางกลุ่ม เป็นต้น

แม้การตรวจสอบอย่างเป็นทางการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่การร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการร่วมตรวจสอบการประพฤติที่อาจจะมิชอบดังกล่าวของผู้เป็นสมาชิกรัฐสภา ย่อมสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนว่า ในยามนี้ยังมีคนช่วยจับตาดูผลประโยชน์ของประชาชน

(Photo by Tuwaedaniya MERINGING / AFP)

4. การทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสะท้อนปัญหาของประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาหรือผลกระทบปัญหาวิกฤตโรคร้าย หรือจากการบริหารของรัฐ หรือจากการให้บริการของภาครัฐต่างๆ ยิ่งผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละพื้นที่ยิ่งจะทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการของรัฐ

ผู้แทนฯ ควรบอกได้ว่า หน้ากากอนามัยราคา 2.50 บาทนั้น หาซื้อได้จริงหรือไม่ในเขตตน

ควรบอกได้ว่า โรงพยาบาลและสถานีอนามัยต่างๆ ในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบนั้น มีเครื่องมือและอุปกรณ์ป้องกันตนเองได้เพียงพอกับความต้องการในการใช้งานหรือไม่

สามารถบอกได้ว่า มาตรการให้ปิดสถานประกอบการต่างๆ นำไปสู่ความเดือดร้อนของผู้มีรายได้จากการทำมาหากินรายวันอย่างไร

หรือแม้กระทั่งมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน 5,000 บาท ที่ให้แก่คนตกงานนั้น เป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ได้ตรงจุดแล้วหรือไม่

เงินได้ถูกกระจายลงไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับหรือไม่

อย่าเลือกที่จะเงียบเพราะเป็นผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

หรือไม่กล้าที่จะแสดงออกในฐานะฝ่ายค้าน เพราะเกรงโดนวาทกรรมว่า จะมาเล่นการเมืองอะไรในช่วงวิกฤตนี้

(Photo by Handout / Secretariat of Thai Parliament / AFP)

5. การใช้ความรู้ความสามารถเดิมที่ตนเองมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งหมายความว่าเป็นสมาชิกของสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ความเห็นต่อสาธารณะในกิจการที่ตนเองมีศักยภาพ ความถนัดและประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นกฎหมาย การแพทย์ วิศวกรรม การอุตสาหกรรม การเกษตร การพัฒนาสังคม คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร ฯลฯ

เพราะในยามที่สังคมต้องช่วยกันฝ่าวิกฤต สมาชิกวุฒิสภาในฐานะผู้มีคุณวุฒิความรู้ น่าจะช่วยกันเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเสนอตรงต่อรัฐบาลได้

หรือหากกล้าหาญก็ต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่รัฐบาลทำแล้วยังรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง โดยไม่ต้องเกรงใจว่าเขาเป็นคนตั้งพวกท่านมากับมือ

นอกเหนือจากบทบาทส่วนบุคคลของสมาชิกรัฐสภาแต่ละท่าน พรรคการเมืองก็ควรมีส่วนในการเสนอนโยบายหรือแนวทาง มุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลหรือต่อสาธารณะ หากนโยบายหรือแนวทางที่เสนอโดยพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล แล้วรัฐบาลนำไปปฏิบัติได้ผลดี ก็เป็นเครดิตของพรรคนั้น

ส่วนพรรคฝ่ายค้านต้องระมัดระวังในการสร้างข้อเสนอที่มีเหตุผล มีข้อมูลสนับสนุนเชิงประจักษ์ และหลีกเลี่ยงการสอดแทรกอารมณ์ความรู้สึก ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่ดี รัฐควรรับไปปฏิบัติ และหากรัฐฝืนที่จะไม่ดำเนินการ ก็เป็นเรื่องการได้เครดิตของฝ่ายค้านในภายภาคหน้า

ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ เรามุ่งหวังที่จะเห็นพลังของทุกฝ่ายเพื่อช่วยฝ่าให้พ้นวิกฤต

อย่าให้ประชาชนมองแล้วมองเล่าแล้วเห็นว่าท่านไม่มีประโยชน์อะไรเลยเสียล่ะ อันตราย!!!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่