จรัญ มะลูลีม : ทรัมป์กับมุสลิม (5) : การยืนกรานนโยบายเดิมของทรัมป์

จรัญ มะลูลีม
ผู้ประท้วงกว่า 500,000 คน แสดงพลังต้านทรัมป์ในกรุง วอชิงตัน ดี.ซี. / AFP PHOTO / Joshua LOTT

การยืนกรานนโยบายเดิมของทรัมป์

ทรัมป์ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงการเรียกร้องมิให้ชาวมุสลิมเข้าสหรัฐ แม้ว่าคู่แข่งของเขาจะตั้งคำถามในจุดยืนที่เป็นปัญหาของเขา โดย Jeb Bush เองก็แปลกใจว่าการห้ามนี้ทรัมป์หมายถึงชาวมุสลิมทุกประเทศอย่างอินเดียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐด้วยหรือไม่

ทรัมป์ซึ่งความนิยมพุ่งขึ้นหลังจากโวหารต่อต้านชาวมุสลิม ด้วยการเรียกร้องให้ห้ามชาวมุสลิมทั้งหมดมิให้เข้าสหรัฐกล่าวว่าเขาจะไม่เปลี่ยนการตัดสินใจของเขาโดยเขาถือว่าความมั่นคงของประเทศเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด

ผมต้องการความมั่นคงสำหรับประเทศนี้ เรามีปัญหาหนักกับอิสลามสุดโต่ง เรามีปัญหามากมาย ไม่ใช่ปัญหาที่นี่ มันเป็นปัญหาทั่วโลก ทรัมป์กล่าวปฏิเสธข้อเรียกร้องของ Jeb Bush ที่เรียกร้องให้เขาพิจารณาถึงแผนของเขาอีกครั้ง

เราจะไม่ห้ามมุสลิมจากอินเดีย อินโดนีเซีย อันเป็นประเทศที่เข้มแข็งของเรา ซึ่งเราต้องสร้างความสัมพันธ์ด้วย? แน่ละย่อมไม่เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือทำลายไอเอส Bush กล่าวในช่วงอภิปรายร่วมกับผู้สมัครทุกคนก่อนที่จะมีการแต่งตั้งตัวแทนผู้ลงสมัครของพรรคเป็นครั้งแรก

ทรัมป์กล่าวว่า เราต้องหยุดด้วยการเมืองที่ถูกต้อง เราต้องก้าวลงมาเพื่อสร้างประเทศที่มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นกับผู้คนที่วางแผนบินเข้าใส่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ผู้คนที่ยิงกราดในแคลิฟอร์เนียพร้อมไปกับปัญหาอื่นๆ

“เราต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้น ผมพูดในช่วงขณะหนึ่ง ผมไม่ได้พูดว่ามันจะเป็นแบบนี้ตลอดไป”

Jeb Bush ตอบโต้ด้วยการกล่าวว่า “โดนัลด์ ผมว่าคุณควรจะพิจารณาใหม่เพราะนโยบายนี้เป็นนโยบายที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างพันธมิตรซึ่งจำเป็นที่จะเอาไอเอสออกไป ชาวเคิร์ดเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งของเรา พวกเขาเป็นมุสลิม”

“คุณไม่ยอมแม้แต่จะให้พวกเขามายังประเทศของเรา”

ประเทศอาหรับอื่นๆ ก็มีบทบาทที่จะแสดงในเรื่องนี้ เราไม่อาจกระทำเรื่องนี้ฝ่ายเดียวได้ เราต้องทำเรื่องนี้อย่างมีเอกภาพกับโลกอาหรับ และส่งสัญญาณที่จะทำให้เป็นไปได้สำหรับพวกเราให้มีความจริงจังในการเอาไอเอสออกมาและฟื้นฟูประชาธิปไตยในซีเรีย บุชพูดท่ามกลางการปรบมืออย่างเกรียวกราว

วุฒิสภา Ted Cruz จากเท็กซัสกล่าวว่า ชาวสหรัฐรู้สึกเบื่อหน่าย หวาดกลัวและโกรธเคืองเมื่อมีประธานาธิบดีซึ่งปฏิเสธที่จะยอมรับการคุกคามที่สหรัฐเผชิญหน้าอยู่

Cruz กล่าวว่า หากผมได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ผมจะไม่ปล่อยให้มีผู้อพยพเข้ามาจากประเทศต่างๆ ที่ควบคุมโดยไอเอสหรืออัล-กออิดะฮ์ เมื่อมาถึงเรื่องของไอเอส เขากล่าวว่าเราจะทำลายไอเอสให้สิ้นซาก

ในเวลานั้นคู่แข่งที่มีคะแนนนำมาตลอดอย่าง ฮิลลารี คลินตัน ได้โต้อภิปรายผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “นี่เป็นประเทศของชาวอเมริกันมุสลิมเช่นเดียวกัน ประธานาธิบดีคนต่อไปควรจะรู้และปฏิบัติเช่นนั้น” เธอกล่าว

“ขอกล่าวให้ชัดว่าอิสลามไม่ใช่ศัตรูของเรา โวหารต่อต้านชาวมุสลิมมิใช่เพียงแต่ผิดเท่านั้น แต่จะเข้าไปเล่นอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย” คลินตันกล่าวในทวีตของเธอเมื่อครั้งที่ผู้แข่งขันเป็นประธานาธิบดีสหรัฐเจ็ดคนมีการโต้อภิปรายอย่างร้อนแรงต่อความคิดของทรัมป์ในการห้ามชาวมุสลิมเข้ามาในสหรัฐ

 

สําหรับนักวิเคราะห์บางคนอย่าง อิยาซ อะห์มัด (Ijaz Ahmad) มีความเห็นว่าสมัยของทรัมป์ เป็นสมัยของการเตรียมเข้าสู่ความเป็นฟาสซิสต์ ซึ่งได้รับการหนุนช่วยโดยคณะบุคคลที่ใกล้ชิดอย่าง Bannon และ Flynns แม้ว่า Flynns จะหลุดจากอำนาจไปในที่สุดหลังจากทรัมป์ครองอำนาจได้เพียงไม่นานนักก็ตาม

หัวข้อใหญ่ในสมัยของเขามีอยู่สองเรื่องหลักๆ

1. การสร้างวาทกรรมความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia)

2. ความเกลียดชังผู้อพยพที่มีสีผิวอื่นนอกจากคนผิวขาว (hatred of the non-white immigrant) การเดินทางหาเสียงก่อนเป็นประธานาธิบดีของเขาก็วนเวียนอยู่แต่เรื่องเหล่านี้ แต่กระแสของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ก็มีอยู่จำนวนมากเช่นกัน

ช่วงสัปดาห์ต้นๆ แห่งการเป็นประธานาธิบดีและเข้ามาอยู่ในทำเนียบขาว เขาปกครองโดยกติกาของความเป็นประธานาธิบดีและการใช้ทวิตเตอร์ ซึ่งมุ่งสู่การดูแคลนและการทำให้เกิดความหวาดกลัว เป็นที่กระจ่างชัดว่าแกนการบริหารของเขาจนถึงบัดนี้คือการเดินเข้าสู่ความเป็นขวาจัดและรวบอำนาจอย่างไร้เหตุผล

จนมีคำถามกันโดยทั่วไปว่า “นี่คือประจักษ์พยานแห่งการปรากฏตัวของรัฐที่กำลังเป็นฟาสซิสต์ในประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก ในใจกลางแห่งความเป็นอาณาจักรที่ยืนหยัดใช่หรือไม่

ดังที่นักวิชาการอย่าง Richard Falk และ Noam Chomsky ได้ตั้งคำถามเอาไว้ซึ่งเห็นได้อย่างค่อนข้างชัดเจน

 

อำนาจและความโน้มเอียง

ของนโยบายในฝ่ายบริหารของทรัมป์

กล่าวกันว่าคนสำคัญในคณะรัฐมนตรีของเขา โดยเฉพาะพวกนายพลทั้งหลายนั้นไม่รู้ว่าใครมีอันตรายมากกว่ากัน นับตั้งแต่เริ่มต้นหาเสียงเพื่อตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วที่ทรัมป์ได้แสดงกริยามารยาทที่คุ้นตาผู้คนโดยทั่วไปมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการงัดข้อกับสื่อ พฤติกรรมที่โกรธเกรี้ยวและตอบโต้ การเปลี่ยนจุดยืน เป็นนักการเมืองที่เปลี่ยนสีสันอยู่ตลอด เหยียดเพศ เหยียดผิว และเป็นมหาเศรษฐีที่มีอคติอย่างรุนแรงต่อความเชื่อ ความคิดว่าด้วยชาติพันธุ์ ศาสนาและการเมือง และไม่ยอมฟังหรือยอมรับความเห็นของใครที่ไม่เห็นด้วยกับตน

เขามีความสามารถที่จะปิดบังการทำงานร่วมกับคนอื่นและซ่อนเร้นวาระต่างๆ เอาไว้ ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ด้วยเหตุนี้ก่อนการได้เป็นประธานาธิบดีคนจำนวนมากมีความรู้สึกว่าเขาจะวางตัวอย่างไรเมื่ออยู่ในอำนาจ

ต่อมาคนจำนวนหนึ่งที่เคยอยู่เคียงข้างและถูกคาดหมายว่าจะมาเป็นคนสำคัญในคณะรัฐมนตรีของเขาต่างก็ถอยห่างออกไป

เนื่องจากหลังการเลือกตั้ง เขาได้แต่งตั้งมหาเศรษฐีและพวกนายพลขวาจัดมาอยู่ในคณะรัฐมนตรีของเขา

รวมทั้งนีโอนาซีอย่าง Steve Bannon อดีตผู้มีอิทธิพลและมีความเชี่ยวชาญของ Goldman Sachs ซึ่งเป็น CEO ของทรัมป์ในช่วงการหาเสียง

ที่ผ่านมา Bannon ดูเหมือนจะไม่ได้อยู่ในความสนใจของผู้คนมากนักและไม่มีใครคิดว่าเขาจะกลายมาเป็นคนอันตรายในอนาคต

จนกระทั่งทรัมป์แต่งตั้งเขาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ของทำเนียบขาว และยกเขาขึ้นมาเป็นคณะกรรมการสำคัญของสภาความมั่นคงแห่งชาติ