วิกฤติศตวรรษที่21 | สงครามการค้าสหรัฐ-จีนพื้นฐานเป็นการต่อสู้ประชากร

(FILES) In this file photo taken on November 9, 2017, China's President Xi Jinping (L) and US President Donald Trump attend a welcome ceremony at the Great Hall of the People in Beijing. - US President Donald Trump on December 29, 2018 touted "big progress" after a phone call with his Chinese counterpart on trade, after the tariff war between the world's two biggest economies helped rattle markets. (Photo by FRED DUFOUR / AFP)

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (จบ)

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนพื้นฐานเป็นการต่อสู้ประชากร

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ต่อสู้กันในหลายระดับและหลายรูปแบบ เป็นส่วนหนึ่งของสงครามพันทาง ในการชิงความเป็นใหญ่ในโลกยุคใหม่ของการแปรเป็นเชิงดิจิตอล สงครามนี้ พื้นฐานแล้วคือการต่อสู้ทางประชากร ซึ่งมีอยู่ 3 ด้านใหญ่ด้วยกัน ได้แก่

ก) คุณภาพ ปริมาณและโครงสร้างของประชากร

ข) การนำ

ค) อุดมการณ์ค่านิยม

การต่อสู้เหล่านี้เป็นการต่อสู้ทางทุนมนุษย์ ทุนสังคมวัฒนธรรมและทุนการเมืองของทั้งสองฝ่าย จะได้กล่าวเป็นลำดับไป

1.การต่อสู้ด้านคุณภาพและอื่นๆ ของประชากร ในการต่อสู้ด้านนี้เห็นกันทั่วไปว่า สหรัฐเหนือกว่าจีน เช่น มีการศึกษาที่ดี ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์และความคิดริเริ่ม ไม่เป็นแบบท่องจำ แรงงานมีผลิตภาพสูง อายุคาดหมายเฉลี่ยของสหรัฐก็สูงกว่าจีน

โดยในปี 2018 อายุคาดหมายเฉลี่ยของสหรัฐอยู่ที่ 78.7 ปี ขณะที่ของจีนอยู่ที่ 76.7 ปี

แต่ตัวเลขอายุคาดหมายเฉลี่ยของสหรัฐในระยะหลังมีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ โดยขึ้นสูงสุดในปี 2014 ที่ 78.9 หลังจากนั้นลดลงต่อเนื่อง เป็นเวลา 3 ปี เหลือเพียง 78.6 ในปี 2017

คุณภาพประชากรมีตัวชี้วัดหลายตัว ในที่นี้จะใช้ 2 ตัวได้แก่ การศึกษารวมถึงการวิจัยและพัฒนา และการแพทย์สาธารณสุข เทียบเคียงกันระหว่างสหรัฐกับจีน

ก) ในด้านการศึกษา ถือว่าสหรัฐเป็นเลิศ โดยเฉพาะในระดับสูง มีนักศึกษาต่างแดนไปศึกษาในสหรัฐจำนวนมาก

มหาวิทยาลัยที่ติดอันดับดีที่สุด 10 อันดับแรกของโลกส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐ ตามมาได้แก่อังกฤษ

ในปี 2019 พบว่า มีนักศึกษาจีนกว่า 350,000 คนที่ศึกษาและทำงานวิจัยในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในสหรัฐ ซึ่งมองได้ว่าเป็นทั้งด้านการอุดหนุนการศึกษา และการ “ขโมย” ความรู้ไปจากสหรัฐ

ในวาระของสงครามการค้า รัฐบาลทรัมป์มีแนวคิดที่จะกีดกัน ลดจำนวนนักศึกษาจีนในสหรัฐลง

มีนักวิจารณ์ชาวสหรัฐบางคนเห็นว่า เหตุผลที่แท้จริงของนโยบายนี้มาจากความคิดชาตินิยม ต้องการให้มหาวิทยาลัยชั้นยอดของสหรัฐรับใช้ชาวอเมริกัน ไม่ใช่คนต่างด้าวที่เป็นคู่แข่งขันอย่างเช่นจีน (ดูบทความของ Christopher Rim ชื่อ The Real Reason Trump Wants to Ban Chinese College Students ใน forbes.com 14/06/2019)

อย่างไรก็ตาม จีนได้มีการปฏิรูประบบการศึกษาขั้นสูงหรืออุดมศึกษาจริงจังในปี 1999 พบว่า ในช่วงเวลาเพียง 20 ปี จำนวนนักศึกษาที่จบการศึกษาในมหาวิทยาลัยมีจำนวนถึง 8 ล้านคนในปี 2017 ซึ่งเพิ่มเป็น 10 เท่าของตัวเลขในปี 1997 และมากกว่า 2 เท่าของนักศึกษาที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐ

นับได้ว่าจีนสามารถสร้างบุคลากรจำนวนเพียงพอใช้งานเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของตน มีจุดเด่นในด้านทักษะแข็งหรือทักษะทางเทคนิค

แต่ในด้านทักษะอ่อนคือทักษะในการสื่อสาร การวิเคราะห์และการจัดการไม่ดีนัก (ดูบทความของ Katherine Stapleton ชื่อ China now produces twice as many graduates a year as the US ใน weforum.org 13/04/2017)

ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยบางสำนัก ปี 2020 ระบุมหาวิทยาลัยซิงหัว/ซิงฮวาของจีนติดอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุดของเอเชีย แซงหน้ามหาวิทยาลัยโตเกียวและนานยางของสิงคโปร์ โดยอยู่ที่อันดับ 23

ตามด้วยมหาวิทยาลัยปักกิ่ง อันดับ 24

การวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งที่สืบเนื่องจากระบบการศึกษาและระดับการพัฒนาทางอุตสาหกรรม จีนในฐานะผู้ไล่กวด เริ่มต้นด้วยการเลียนแบบและพัฒนา ซึ่งประสบความสำเร็จสูง

แต่เมื่อถึงขีดหนึ่ง ก็ต้องคิดค้นสร้างความรู้ใหม่ด้วยตนเอง ซึ่งต้องใช้ความพยายามและการยกระดับการศึกษาและการวิจัยและพัฒนาสู่ขั้นใหม่

นี่เป็นงานยาก นอกจากยากในตัวของมันเองแล้ว ยังยากจากการกีดกันและการก่อสงครามการค้าของสหรัฐ กล่าวได้ว่าการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิต จีนไม่ได้เป็นรองสหรัฐ ในบางด้านมีความแข็งแรงกว่า แต่การวิจัยขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ยังสู้สหรัฐไม่ได้

ข) การแพทย์สาธารณสุข ของสหรัฐได้ชื่อว่าดีที่สุดของโลก สหรัฐเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อหัวสูงสุดในประเทศพัฒนาแล้ว มากกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ยในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ผลได้ทางปฏิบัติ เช่น อายุคาดหมายเฉลี่ย อัตราการตายของทารก โรคหอบหืด โรคเบาหวาน สหรัฐกลับสู้ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศไม่ได้

การแพทย์สาธารณสุขของสหรัฐมีจุดอ่อนพื้นฐาน ได้แก่ มันถูกแปรให้เป็นแบบธุรกิจเอกชนเพื่อหาประโยชน์กำไรมากเกิน เกิดผลกระทบด้านลบที่สำคัญได้แก่

(1) การขาดแผนการแพทย์สาธารณสุขแห่งชาติ แต่ละแห่งจัดการกันไปตามที่เห็นเหมาะและได้กำไร

(2) มีราคาแพงมาก เนื่องจากกระทำกันเป็นธุรกิจ

(3) ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์สาธารณสุขดังกล่าว

(4) มักตอบสนองต่อโรคระบาดหรือภัยพิบัติธรรมชาติไม่ทันท่วงทีหรือไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะว่าโรคระบาดภัยพิบัตินานๆ เกิดขึ้นที หากำไรงามไม่ได้ ต่างกับไข้หวัดใหญ่ที่กลับมาเหมือนเป็นฤดูกาลในสหรัฐ (เดือนตุลาคม-พฤษภาคม) ซึ่งก่อความเสียหายและกำไรในแต่ละปีจำนวนไม่น้อย แต่ถ้าเป็นการระบาดใหญ่อย่างเช่นโควิด-19 จำต้องอาศัยการแทรกแซงจากภาครัฐ เช่น การสนองเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมาก

(5) นโยบายของรัฐบาลทรัมป์ที่ไม่สนับสนุนในด้านนี้ มีการวิจารณ์ว่างบประมาณใหม่ที่รัฐเสนอต่อรัฐสภาในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ตัดงบประมาณด้านสุขภาพและประกันสังคมเป็นอันมาก (ดูรายงานข่าวของ Kate Davidson และเพื่อน ชื่อ Trump to propose $ 4.8 Trillion Budget with Big Safety-Net Cuts ใน wsj.com 09/02/2020)

การรับมือการระบาดของไข้โควิด-19 จนถึงขณะนี้ ชี้ว่าประสิทธิภาพระบบการแพทย์สาธารณสุขของสหรัฐในการต่อสู้โรคระบาดใหญ่สู้ของจีนไม่ได้ และมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศในเอเชียดูดีกว่าในการต่อสู้กับไข้โควิด เมื่อเทียบกับในยุโรปและสหรัฐ

ด้วยเหตุปัจจัยอย่างเช่นในเอเชียมีความคิดด้านรวมหมู่สูงกว่ายุโรปและสหรัฐที่มีความคิดแบบปัจเจกชนของตะวันตก และมีความระแวดระวังตัวรักษาความสะอาดและสุขภาพสูงกว่า

2.การต่อสู้ด้านการนำ จีนได้เปรียบสำคัญคือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีนในช่วง 70 ปีนับแต่การปลดปล่อย ในปี 1949 มีลักษณะต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการรณรงค์และการต่อสู้อย่างหนัก เช่น การก้าวกระโดดใหญ่ การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมของชนชั้นกรรมาชีพ และการทำสี่ทันสมัย เป็นต้น ความต่อเนื่องสามารถสรุปได้เป็น 3 ขั้นด้วยกัน ได้แก่

ก) ภายใต้การนำของประธานเหมาเป็นยุทธศาสตร์ทำให้จีนลุกยืนขึ้นบนเวทีโลก

ข) ในช่วงของเติ้งเสี่ยวผิง เป็นการทำให้จีนร่ำรวยเกิดความมั่งคั่ง

ค) ในยุคของสีจิ้นผิง จีนก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจ ทั้งไพบูลย์ เป็นอารยะและสวยงาม

(FILES) In this file photo taken on November 9, 2017, US President Donald Trump (L) shakes hand with China’s President Xi Jinping in Beijing. – Trump on November 1, 2018, said he’d just had “very good” talks with his Chinese counterpart Xi Jinping on the growing trade conflict between the two economic giants. “Just had a long and very good conversation with President Xi Jinping of China. We talked about many subjects, with a heavy emphasis on Trade,” Trump tweeted. (Photo by Fred DUFOUR / AFP)

กล่าวเป็นรูปธรรมขึ้นก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถสร้างหนทางการพัฒนาที่เข้ากับสภาพการณ์ที่เป็นจริงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ได้แก่

1) ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยึดหลักการพึ่งตนเองและการทำงานหนัก บรรลุผลใหญ่ได้แก่ การขจัดความยากจน การสร้างระบบประกันสังคมมูลฐาน รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพ การดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ที่อยู่อาศัยและการศึกษา

2) หนทางการพัฒนาโดยผ่านการปฏิสัมพันธ์กับโลก ได้แก่ “การเชิญเข้ามา” และ “การออกไปข้างนอก” ฐานะการค้าในโลกของจีนแข็งแรงมั่นคง

3) จีนแสดงพลังด้านบวกในการสร้างสันติภาพและการพัฒนาในโลก

4) หนทางการพัฒนาของจีนสอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นไปตามความต้องการของสถานการณ์ (ดูเอกสารชื่อ China and the World in the New Era ใน xinhuanet.com กันยายน 2019)

ตรงข้ามกับสหรัฐที่เกิดปัญหาวิกฤติการนำขึ้นตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ (ดำรงตำแหน่งปี 1977-1981) เนื่องจากภายนอกไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในมหาตะวันออกกลาง ซึ่งขณะนั้นเป็นแหล่งสนองน้ำมันดิบสำคัญของสหรัฐ

ขณะที่การผลิตน้ำมันแบบธรรมดาค่าใช้จ่ายในการผลิตต่ำได้ถึงขีดสูงสุด ภายในความเหลื่อมล้ำในสังคมขยายตัว เงินเฟ้อขยายตัว เกิดขบวนการสังคมเคลื่อนไหวในหลายประเด็น

คาร์เตอร์เรียกปรากฏการณ์นั้นว่า “วิกฤติความเชื่อมั่น” ในเดือนกรกฎาคม 1979 เขากล่าวปราศรัยต่อชาวอเมริกัน เพื่อชี้แจงประเด็นปัญหาและนโยบายเกี่ยวกับเรื่องวิกฤติน้ำมัน การบริโภคน้ำมันมากเกินไปของชาวอเมริกัน และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่ ในทัศนะของคาร์เตอร์วิกฤติความเชื่อมั่นเกิดจากชาวอเมริกันจำนวนมากเห็นว่า ระบบรัฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐหยุดนิ่งและหมดความสามารถในการตอบสนองและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน วงการเมืองเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ขาดประสิทธิภาพและเลี่ยงปัญหา

นอกจากนี้ ยังมีวิกฤติทางศีลธรรม และจิตใจของชาวอเมริกันซึ่งเป็นแก่นแกนที่ทำให้สหรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและอื่นๆ ได้ นำมาสู่ความปั่นป่วนภายในชาติและการสูญเสียความมุ่งหมายที่เป็นเอกภาพของชาติสหรัฐ (ดูเอกสารชื่อ Jimmy Carter speaks about a national “crisis in confifence” ใน history.com 15/07/1979)

คาร์เตอร์เห็นว่าการนำปัญหามาตีแผ่อย่างซื่อสัตย์ จะโน้มน้าวให้ผู้คนยอมรับการนำของเขาและร่วมกันสร้างนโยบายที่เป็นเอกภาพแห่งชาติขึ้น แต่ผลกลับเป็นตรงข้าม ทั้งชนชั้นนำและชาวอเมริกันต้องการกวาดปัญหาไว้ใต้พรม และดำเนินชีวิตอย่างเดิมที่ใช้พลังงานเต็มที่ต่อไป คาร์เตอร์ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เขาเป็นประธานาธิบดีสมัยเดียว และประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แห่งพรรครีพับลิกัน (ดำรงตำแหน่งระหว่าง 1981-1989) ขึ้นมาแทน

เป็นที่สังเกตว่า นับแต่นั้นมาผู้นำสหรัฐก็เลิกเน้นเรื่องจุดอ่อนภายในชาติ หรือการเสนอให้ชาวอเมริกันต้องปรับตัวมีความสำรวมในการบริโภคอีก แต่ดำเนินตามแนวทางนโยบายที่สร้างขึ้นโดยเรแกน ได้แก่

ก) ปัญหาทั้งหลาย ด้านหลักเกิดจากภายนอก เช่นที่สำคัญตอนนั้นได้แก่ สหภาพโซเวียตซึ่งเป็น “จักรวรรดิที่ชั่วร้าย” (ปราศรัยต่อกลุ่มคริสเตียนฝ่ายขวาปี 1983) ในสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูกที่สหภาพโซเวียตล่มสลายแล้ว ปัญหาเกิดจาก “แกนแห่งความชั่วร้าย” คืออิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือ (ประกาศปี 2002) ถึงสมัยทรัมป์เห็นว่าทั้งโลกพากันเอาเปรียบและเป็นอริกับสหรัฐ ได้แก่แกนจีน-รัสเซีย-อิหร่าน พันธมิตรในยุโรปและเอเชียตะวันออก กลุ่มมุสลิม ผู้อพยพลี้ภัย ที่ทำให้สหรัฐตกอับอย่างที่เป็นอยู่

ข) ถ้าหากว่าจะมีจุดอ่อนก็เนื่องจากว่า สหรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ตลาดอย่างเพียงพอ เรแกนโจมตีว่า โครงการสแตมป์อาหาร ค่าแรงขั้นต่ำ การบูรณะฟื้นฟูเมืองขึ้นใหม่ตามแผนการสร้างสังคมใหญ่ตั้งแต่สมัยเคนเนดี้ เป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด (ประกาศปี 1983) สร้างลัทธิบูชาตลาดขึ้น ถึงสมัยประธานาธิบดีคลินตัน ได้ประกาศยกเลิกกฎระเบียบจำนวนมาก ผลักดันให้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ขยายตัว ถึงสมัยโอบามาได้โอบอุ้มสถาบันการเงินและบรรษัทใหญ่ให้พ้นจากการล้ม เพราะว่า “ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม” นั่นคือรักษาตลาดไว้ไม่ให้พัง เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด สมัยทรัมป์มีการออกกฎหมายเยียวยาผลกระทบ ซึ่งเงินก้อนใหญ่ตกอยู่แก่บรรษัททั้งหลาย

ค) สหรัฐเป็นประเทศพิเศษที่ไม่ต้องผูกมัดและจำกัดด้วยข้อตกลงอะไร สร้างระบบป้องกันขีปนาวุธหรือสตาร์วอร์ ทำให้สงครามนิวเคลียร์เป็นไปได้ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ความคิดนี้ยิ่งเด่นชัด ไปสู่ปฏิบัติการโดยลำพัง หรือแทรกแซงกิจการภายในประเทศต่างๆ อย่างเปิดเผย เช่น คลินตันเข้าแทรกแซงในเซอร์เบีย บุชยกทัพเข้ายึดครองอิรัก โอบามาทิ้งระเบิดหลายประเทศ และทรัมป์อำนวยการสังหารนายพลแห่งกองทัพอิหร่านกลางวันแสกๆ

แต่การปฏิบัติดังกล่าวยิ่งเร่งวิกฤติความเชื่อมั่นให้รุนแรงขึ้นตามที่คาร์เตอร์กล่าวได้

3.การต่อสู้ด้านอุดมการณ์ค่านิยม-อดีตกับความฝัน สหรัฐเสนออุดมการณ์ยุคแสงสว่างทางปัญญาของตะวันตกในศตวรรษที่ 17 และ 18 และอดีตที่รุ่งเรืองของสหรัฐในหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้น ถ้าจะให้โลกมีความเป็นระเบียบ เจริญรุ่งเรืองและมีเสรีภาพก็ต้องยอมให้สหรัฐเหนือชาติใดและกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ทางด้านจีน เสนออุดมการณ์แห่งอนาคตว่า โลกาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่ไม่ย้อนกลับ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่อาจย้อนกลับสู่ยุคป่าเถื่อน อารยธรรมมนุษย์มีแต่พัฒนารุดหน้าไป ในนี้ที่สำคัญได้แก่ความฝันของชาติจีน และการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติขึ้น

จากการทำสงครามการค้าและการแข่งขันทั้งหมด เห็นแนวโน้มใหญ่คือโลกาภิวัตน์จะกลายเป็นแบบจีนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น แต่สหรัฐก็ยังมีแผนการที่ยอกย้อนในการหยุดยั้งความรุ่งโรจน์ของจีน และจีนเองที่ต้องแบกภาระในการเป็นผู้นำของโลกก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อไปได้ดีเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ไม่สิ้นสุดลงง่าย มีแนวโน้มขยายสู่สงครามไซเบอร์ดุเดือดขึ้น ซึ่งสามารถก่อผลกระทบรุนแรงไม่แพ้หรือยิ่งกว่าการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ควรมีความระมัดระวังและเตรียมพร้อมรับมือไว้